• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • สัญญาขายเครื่องโทรศัพท์มือถือไอโฟน 3 G ของทรูมูฟ ใช้บังคับได้ เพียงใด ?

สัญญาขายเครื่องโทรศัพท์มือถือไอโฟน 3 G ของทรูมูฟ ใช้บังคับได้ เพียงใด ?

ตามที่นสพ.กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า น.พ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า คณะกรรมการของ สบท. ได้ตรวจสอบโปรโมชั่นการขายเครื่องโทรศัพท์ ไอโฟน 3 จี ของ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด เห็นว่า อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคตามประกาศของ กทช. ข้อ 15 ประกาศเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 และกฎหมายโทรคมนาคมอื่นๆ

ทั้งนี้ สบท. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แล้ว และเตรียมทำหนังสือ เพื่อเสนอเป็นวาระเข้าที่ประชุม กทช. พิจารณากำหนดเป็นเรื่องไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป โดยสบท. มองว่า โปรโมชั่นไอโฟน 3 จี อาจเข้าข่ายการบังคับให้ผู้บริโภค ต้องใช้เครื่องโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ตามความในมาตรา 49 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

เนื่องจาก ทรูเคยยืนยันในที่ประชุมร่วมกับ สบท.ว่า เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว สามารถนำไปใช้กับเครือข่ายอื่นได้ และบริษัทมีการจำหน่าย เฉพาะตัวเครื่องไม่รวมบริการด้วย แต่ทรูได้จัดแพคเกจ กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครใช้บริการต้องเช่า/ซื้อเครื่องร่วมด้วย เท่านั้น จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่บังคับให้ผู้ใช้บริการ ต้องใช้เครื่องโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตหรือตามที่ผู้รับใบอนุญาตกำหนด หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยกหรือกีดกันผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำได้ โดยทรู มีการกำหนดให้เฉพาะลูกค้าทรูเท่านั้น ที่มีสิทธิในการซื้อเครื่อง พร้อมสมัครบริการแพ็กเกจเบสิก ทำให้ผู้ใช้บริการทั่วไปไม่สามารถใช้บริการได้

อีกทั้งในส่วนของอัตราค่าบริการ ยังกำหนดไว้แตกต่างกันตามขนาดหน่วยความจำของเครื่องโทรศัพท์ ทั้งที่เป็นแพ็กเกจบริการเดียวกัน เช่น แพคเกจซิลเวอร์ สำหรับเครื่องรุ่น 8 GB กำหนดไว้ 476 บาท แต่รุ่น 16 GB เป็น 521 บาท

น.พ. ประวิทย์ กล่าวเสริมว่า ตามประกาศข้อ 15 เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม ทรู สามารถทำสัญญาให้บริการกับผู้บริโภคเป็นระยะเวลา 12 หรือ 24 เดือน รวมถึงมีการคิดค่าบริการรวมกับค่าเครื่องโทรศัพท์ได้ แต่ถ้าผู้บริโภค ไม่พอใจในบริการที่ได้รับหรือมีความต้องการยกเลิกบริการ ต้องสามารถทำได้ แต่ในสัญญาของทรู ระบุ ให้ผู้บริโภค ต้องชำระค่าบริการต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา เสมือนค่าปรับ ถือว่าเข้าข่ายอาจขัดต่อระเบียบดังกล่าว

กรณีผู้ซื้อโทรศัพท์ไอโฟน 3 G และใช้บริการของทรูมูฟตามข่าวข้างต้น  มีปัญหาที่ควรพิจารณา 2 ข้อ คือ

ผู้ใช้บริการ สามารถเลิกสัญญา ก่อนครบกำหนด 12 เดือนหรือ 24 เดือน ตามแพคเกจที่เลือกไว้ ได้หรือไม่ ? และ

หากใช้สิทธิเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลา ผู้บริโภค ต้องชำระค่าบริการต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา หรือไม่ ?

เห็นว่า การเลิกสัญญา ต้องมีเหตุที่สามารถอ้างได้ตามสัญญาที่ได้ทำกันไว้ หรือตามกฎหมาย สำหรับสัญญาบริการโทรคมนาคม ตามประกาศของ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ ๓๒ ระบุว่า

" ผู้ใช้บริการ มีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ

ในกรณีที่มีเหตุดังต่อไปนี้ ผู้บริโภคอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ทันที

1.ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้
ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้บริโภค
เช่น ต่อไม่ติดคุณภาพบริการตกต่ำเกินกว่าที่แจ้งในสัญญา

2.ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา

3.ผู้ให้บริการตกเป็นบุคคลล้มละลาย เช่น เรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าอัตราที่กำหนด ตัดบริการนอกเหนือจากเงื่อนไขตามสัญญา

4.ผู้ให้บริการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาหรือเงื่อนไขในการให้บริการ
ซึ่งมีผลเป็นการลดสิทธิหรือประโยชน์อันพึงได้รับ ของผู้ใช้บริการลง
เว้นแต่เกิดจากเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ "

ดังนั้น กำหนดเวลา 12 เดือน หรือ 24 เดือน ตามแพคเกจที่ผู้ใช้บริการเลือก จึงไม่มีผลบังคับจริง เช่นเดียวกับสัญญาทั่วๆไป ถ้าผู้ใช้บริการ ไม่พอใจบริการดังกล่าว ก็อาจบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ ตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น

สำหรับข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ใช้บริการ  ชำระค่าบริการต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา นั้น ค่าบริการที่ชำระโดยไม่มีการใช้บริการจริง ถือเป็นค่าปรับหรือค่าเสียหายชนิดหนึ่ง ซึ่งศาลอาจวินิจฉัยว่า เป็นค่าปรับหรือค่าเสียหายที่สูงเกินไปกว่าความเสียหายจริงๆ ที่ทรูได้รับ ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจที่จะลดทอนลงได้ เท่ากับค่าเสียหายจริงและศาลเห็นสมควร ก็ได้

ทั้ง กทช.ก็อาจเห็นว่า ค่าปรับหรือค่าเสียหาย ดังกล่าว เป็นข้อสัญญาโทรคมนาคมที่ไม่เป็นธรรม ต่อผู้ใช้บริการ จึงอาจใช้อำนาจสั่งให้ทรูมูฟ ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ได้

ข้อตกลงนี้ จึงยากที่จะมีผลบังคับ เช่นเดียวกับข้อแรก

อนึ่ง ข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้บริการ กับทรูมูฟ ถ้ามี เข้าลักษณะเป็น คดีผู้บริโภคประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ใช้บริการ อาจใช้สิทธิฟ้องคดี ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ทำให้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลและผู้ให้บริการ มีภาระในการนำสืบพยานหลักฐาน พิสูจน์ต่อศาลว่า ผู้ให้บริการไม่ได้เป็นฝ่ายผิดพลาดหรือบกพร่อง และหากพิสูจน์ไม่ได้ ทรูมูฟ ในฐานะผู้ให้บริการ ก็อาจเป็นฝ่ายแพ้คดี

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 

1. สัญญาให้บริการโทรคมนาคม สิ่งที่ขาดหายในตลาดแข่งขัน (ตอนที่ 1 และ 2 ) โดย รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการ กทช.

2. ประกาศ กทช.เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549  (pdf file ขนาด 124 KB)

3. ข่าวกรุงเทพธุรกิจ เรื่อง สบท.หวั่นไอโฟนพ่วงบริการ ละเมิดสิทธิ์ผู้บริโภคโทรคม