• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • กรมสรรพากรเผย มีการตั้งคณะบุคคลเลี่ยงภาษีเป็นแสนราย หมอกับดาราเพียบ

กรมสรรพากรเผย มีการตั้งคณะบุคคลเลี่ยงภาษีเป็นแสนราย หมอกับดาราเพียบ

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า นาย วินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรวางแนวทางในการบริหารงานการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2552 มุ่งเน้น การตรวจสอบอย่างเข้มข้นกับผู้เสียภาษี 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่มีพฤติกรรมโกงภาษี

2. กลุ่มที่มีการจัดตั้งเป็นคณะบุคคลโดยมิชอบ โดยมีเจตนาชัดเจนที่จะหลบเลี่ยงภาษี หรือแจ้งการเสียภาษีเป็นเท็จ และ

3.กลุ่มที่ขอคืนภาษีเท็จ

เพื่อช่วยให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น อย่างไรก็ตามจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ได้ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ขณะนี้ กรมสรรพากรได้ตรวจพบกลุ่มที่มีพฤติกรรมโกงภาษีแล้วในกลุ่มตัวแทนผู้ทำบัญชี โดยเป็นการสร้างรายจ่ายซึ่งเป็นเท็จ เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง และยังสามารถนำมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat ) มากเกินกว่าความเป็นจริง ทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ถึง 2 ทาง คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีแวต

ทั้งนี้กรมสรรพากร ได้เร่งรัดติดตามด้วยการจัดทำเป็นแผนที่ภาษี ให้สามารถขยายผลการตรวจสอบ ได้อย่างครอบคลุมและดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อไป ในเบื้องต้นพบว่า มีการร่วมกระทำความผิดในลักษณะนี้แล้วหลายร้อยราย

อีกส่วนหนึ่งที่กรมสรรพากรให้ความสำคัญเข้าไปตรวจสอบคือ การหลบเลี่ยงการเสียภาษีด้วยการจัดตั้งเป็นคณะบุคคล ซึ่งขณะนี้มีการจดทะเบียนขอจัดตั้งแล้วกว่า 100,000 คณะบุคคล โดยกรมสรรพากรจะเพิ่มความเข้มงวดในการจัดตั้งคณะบุคคลใหม่มากขึ้น โดยการจัดตั้งเป็นทีมงานเฉพาะ ขึ้นมาติดตามตรวจสอบและพิจารณาถึงเจตนาในการจัดตั้งเป็นหลัก เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเพิ่มขึ้น

ส่วนที่จัดตั้งไปแล้ว จะดำเนินการติดตามตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีคณะบุคคลเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่มีการแจ้งชำระภาษีให้กับกรม สรรพากรและส่วนที่เหลือยังไม่สามารถติดตามได้

ด้านแหล่งข่าวจากสรรพากรภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับนโยบายจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้เข้มงวดในการติดตามจัดเก็บภาษีกับกลุ่มที่มีพฤติกรรมโกงภาษี และการตั้งในรูปของคณะบุคคล เช่น

อาชีพนักแสดง นักร้อง ธุรกิจให้เช่าที่อยู่อาศัยหรือบ้านเช่า ธุรกิจที่ประกอบการโดยบุคคลธรรมดา ให้เช่าที่ดิน หรือกลุ่มที่มีรายได้สูง และอีกกลุ่มที่ต้องจับตา คือ สร้างรายได้เท็จเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้กรมสรรพากรต้องเสียโอกาสในการจัดเก็บภาษีในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมขอคืนภาษีเท็จเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอาชีพที่รับงานและมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ โดยกรณีนี้ทางกรมสรรพากร มีนโยบายให้เน้นดำเนินการทางคดี หรือฟ้องคดีอาญากับผู้ที่ขอคืนภาษีเท็จ ขณะที่เร็วๆนี้ อธิบดีกรมสรรพากรจะเชิญตัวแทนจากวิชาชีพหมอและนักแสดงมาทำความเข้าใจกรณีการ จัดตั้งคณะบุคคลเพื่อเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง และเพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จนมีผลกระทบในวงกว้าง

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่บริษัทและห้างร้าน ต้องยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในเดือนพฤษภาคมนี้ ทางสรรพากรได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ เข้มงวดในการตรวจสอบ เพราะผู้ประกอบการบางราย อาจฉวยจังหวะอ้างผลการดำเนินงานขาดทุน จากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีเพื่อเลี่ยงภาษี ในขณะที่ภาษีที่จะต้องจ่ายเป็นของปีที่แล้ว ซึ่งผลประกอบการยังดีอยู่

แหล่งข่าวยังได้กล่าวอีกว่า จากที่อธิบดีกรมสรรพากร ได้ประชุมร่วมสรรพากรภาคเมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2-3% จากรายได้ที่จัดเก็บได้จริงในปีก่อน

"กลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยง ในการจัดตั้งคณะบุคคลโดยมิชอบมากที่สุดคือ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยจะสามารถหลบเลี่ยงภาษีได้ ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยขณะนี้กรมสรรพากรได้มีการเร่งรัดติดตาม กลุ่มที่มีการยื่นขอคืนภาษีก่อนเป็นอันดับแรก เพราะส่วนนี้จะทำให้เกิดความเสียหาย ต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร

และคิดว่าจะไม่ให้มีการตั้งคณะบุคคลต่อไปแล้ว หรือให้ไม่เกินคนละ 3 คณะ แต่ต้องใช้เวลาแก้กฎหมาย ก็เลยต้องหันมาใช้การตรวจแทน" แหล่งข่าว กล่าว กรณีการเข้าไปดำเนินการตรวจสอบภาษีคณะบุคคลนั้น ทางกรมสรรพากรจะพิจารณาจากความผิดปกติ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1.กรณีที่เป็นบุคคลเดียวแต่มีการขอจัดตั้งคณะบุคคลจำนวนหลายๆคณะ

2.กรณีมีสิทธิ์ที่จะได้รับการขอคืนภาษี แต่ไม่ได้มาขอคืน และ

3.กรณีที่บริษัทห้างร้านต่างๆมีรายจ่ายให้กับคณะบุคคลมากผิดปกติ

ขณะที่รูปแบบการโกงภาษีด้วยการจัดตั้งเป็นคณะบุคคลในปัจจุบัน แตกต่างไปจากช่วงก่อนหน้านี้มากขึ้นคือ ปรับเปลี่ยนจากการดำเนินการแบบตรงๆ ที่บุคคลเดียวขอจัดตั้งเป็นคณะบุคคลกว่า100 คณะเพื่อหลบเลี่ยงภาษี โดยเปลี่ยนเป็นการตั้งคณะบุคคล เพื่อให้เกิดรายจ่ายเทียมในบริษัท ทำให้สามารถหักเป็นรายจ่ายได้หรือได้รับสิทธิ์ขอคืนภาษี

ในส่วนของแนวทางแก้ปัญหา"การตั้งคณะบุคคล"เพื่อเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมสรรพากร กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการศึกษาและพัฒนาประมวลรัษฎากรที่ล้าสมัยเกือบ 70 ปีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น

ซึ่งมีการเสนอให้แก้ไขในประเด็นวิธีการคำนวณภาษีของคณะบุคคลด้วย โดยเห็นว่า ไม่ควรให้คณะบุคคล หักค่าใช้จ่ายแบบเหมารวม เนื่องจากคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนปัจจุบัน เป็นการดำเนินการด้านธุรกิจ จึงไม่ควรให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมารวม เช่นเดียวกันกับการหักค่าใช้จ่ายของบุคคลธรรมดา และต้องเป็นการหักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือหักตามใบเสร็จที่มีเท่านั้น

สำหรับการกระทำความผิดที่เป็นการจงใจโกงภาษีนั้น ถือเป็นความผิดทั้งทางแพ่ง ที่ต้องชำระภาษีพร้อมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มและความผิดทางอาญา ตามมาตรา 137 แห่งประมวลรัษฎากรต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท

อนึ่ง คณะบุคคล หมายถึงบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้าชื่อกัน เพื่อกระทำกิจการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์จะแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำนั้น(สามี ภริยาจดทะเบียนเป็นคณะบุคคลไม่ได้ เนื่องจากถือเป็นบุคคลคนเดียวกัน)

โดยในการประกอบกิจการในฐานะคณะบุคคลนั้น จะต้องร่วมกันประกอบกิจการตามความเป็นจริง และร่วมกันรับผิดชอบในกิจการของคณะบุคคลนั้น และเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการ จะต้องเป็นของคณะบุคคล ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

เนื่องจากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย เป็นอัตราก้าวหน้าคือ เงินได้สุทธิตั้งแต่ 0-150,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 0% เงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001–500,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 10% เงินได้สุทธิตั้งแต่ 500,001–1,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 20% เงินได้สุทธิตั้งแต่ 1,000,001–4,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 30% และเงินได้สุทธิตั้งแต่ 4,000,001 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษีในอัตรา 37%

ดังนั้นวิธีการหนึ่งในการวางแผนภาษีที่นิยมกันคือ การแยกหน่วยภาษีเพื่อเป็นการกระจายเงินได้สุทธิในการคำนวณภาษี ทำให้เสียภาษีน้อยลง เช่นในกรณีมีเงินได้สุทธิ 5,000,000 บาท จะอยู่ในฐานภาษีสูงสุดที่ 37% แต่หากแยกหน่วยภาษีได้ 5 หน่วยและกระจายรายได้เท่ากัน เป็นหน่วยภาษีละ 1,000,000 บาท แต่ละหน่วย ก็จะอยู่ในฐานภาษีสูงสุดเพียง 20% เท่านั้น(น้อยกว่าเดิมถึง 10%)

นอกจากนี้ แต่ละหน่วยภาษีก็จะเริ่มต้นที่ 150,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียภาษีและเสียภาษีในฐาน 10% , 20% , 30% และ 37%ตามลำดับ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเริ่มเสียภาษีในฐานศูนย์ใหม่ คณะบุคคลยังหักค่าใช้จ่ายได้เหมือนบุคคลธรรมดา และมีสิทธิ์หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาทด้วย หรือเท่ากับเงินได้ 210,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี

ด้านดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนมกราคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 88,583 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 20,449 ล้านบาท ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 – มกราคม 2552) จัดเก็บได้ 363,729 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 70,472 ล้านบาท หรือ 16.2% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.9 %)

โดยมีสาเหตุหลัก มาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมันและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าเป้า นอกจากนี้ การขอคืนภาษีที่สูงกว่าประมาณการ 17,214 ล้านบาทหรือร้อยละ 26.9 ได้ส่งผลให้รายได้สุทธิของรัฐบาลต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อีกด้วย

กรมสรรพากรจัดเก็บได้รวม 302,251 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 17,813 ล้านบาท คิดเป็น 5.6% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3.7%) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 20,048 และ 3,246 ล้านบาท หรือ 11.7% และ 4.8% ตามลำดับ

โดยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้นิติบุคคล ยังเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ผอ.สศค.ยังให้ความเห็นว่า หากเศรษฐกิจไทย ไม่ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเบิกจ่ายเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และการจัดเก็บรายได้รัฐต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้มาก รัฐบาลก็มีความจำเป็น จะต้องดึงเม็ดเงินจากเงินคงคลังออกมาใช้ก่อน

โดยต้องตั้งเป็นเงินงบประมาณรายจ่าย เพื่อชำระคืนเงินคงคลังทั้งจำนวนในการจัดทำงบประมาณปีถัดไป แต่ในขณะนี้ สศค. ยังเชื่อมั่นว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 2552 นี้ ยังน่าจะเติบโตได้ในระดับ 0-2% ต่อปี

"จากสถานการณ์ในปัจจุบัน การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล น่าจะต่ำกว่าเป้าประมาณ 110,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลยังสามารถที่จะไปดึงเงินจากเงินคงคลังมาใช้ก่อนได้ แล้วค่อยตั้งคืนในปีงบประมาณ 2554 เพราะในปีงบประมาณ 2553 คงตั้งไม่ทันแล้ว" นายสมชัย กล่าว

โดยก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวถึง นโยบายจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปี 2552 จะจัดเก็บภาษีให้ตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด โดยจะไม่ใช้วิธีการที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ผู้เสียภาษี ต้องเสียภาษีมากกว่าปกติ ด้วยการดำเนินนโยบาย"ถูกต้องและเป็นธรรม" แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ภาษีในปีงบประมาณ 2552 จะต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้

แต่หากตรวจสอบพบว่า มีการกระทำในลักษณะที่เป็นการจงใจหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ทางกรมสรรพากรก็จะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด

ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี2552 นั้นกรมสรรพากรได้รับเป้าหมายให้จัดเก็บรายได้จำนวน 1,318,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% กรมสรรพสามิต 307,300 ล้านบาท กรมศุลกากร 99,600 ล้านบาท ส่วนราชการอื่น 81,600 ล้านบาท และรัฐพาณิชย์ 93,000 ล้านบาท

เมื่อหักลดการคืนภาษี และจัดสรรรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 314,500 ล้านบาท จะคงเหลือเป็นรายได้รัฐบาลสุทธิ 1,585,500 ล้านบาท บนสมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)อยู่ที่ระดับ 4.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ3.5% ต่อปีแต่จากภาวะเศรษฐกิจขณะนี้คาดว่าจีดีพีจะเติบโตได้เพียง 0-2% ต่อปี.

ความเห็น

กรมสรรพากร ได้ประชาสัมพันธ์ว่า มีการเลี่ยงภาษีด้วยวิธีการใช้คณะบุคคล การสร้างรายจ่ายเท็จและการขอคืนภาษีเท็จ มาเป็นระยะๆ ตามลำดับ ดังข่าวเก่าที่เกี่ยวข้องด้านล่าง

ผลการจัดเก็บรายได้ 4 เดือนแรกของรัฐบาล ในปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 – มกราคม 2552)ของกรมสรรพากร ที่ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 17,813 ล้านบาท คิดเป็น 5.6% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3.7% ได้สร้างความกดดันให้กรมสรรพากร ต้องพยายามหาแหล่งการจัดเก็บใหม่ๆ เพิ่มเติมจากแหล่งจัดเก็บเดิม คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีแนวโน้มลดน้อยถอยลง ตามสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซาลงจากวิกฤติทางการเงินของโลก ตามลำดับ

กรมสรรพากร ได้ส่งคณะผู้บริหารของกรม เข้าประชุมร่วมกับสรรพากรภาคและสรรพากรพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเน้นเป้าหมายการจัดเก็บใหม่เพิ่มเติมตามข่าวนี้โดยระบุว่า กลุ่มบุคคลที่มีรายได้สูง เช่น หมอและนักแสดง กิจการที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยใช้หลักฐานเท็จ เช่น กิจการส่งออก และกิจการที่สร้างรายจ่ายเท็จ เช่น กิจการรับเหมาก่อสร้าง คือเป้าหมายสำคัญในปี 2552 นี้

ระบบกฎหมายของไทย เป็นระบบกล่าวหา หมายความว่า  ไม่ว่าคุณทำผิดหรือไม่
คุณก็อาจถูกกล่าวหาได้เสมอ ระบบกฎหมายของไทย
ยังเป็นระบบที่ถือตามพยานหลักฐาน หมายความว่า  คุณทำผิดกฎหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ว่า
มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่า คุณเป็นผู้กระทำผิด หรือไม่
ถ้ามีและศาลเชื่อว่าหนักแน่นมั่นคงเพียงพอ ก็จะถือว่าคุณเป็นผู้กระทำผิด
ต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในกลุ่มบุคคลที่กรมสรรพากรระบุ น่าเชื่อว่ามีบุคคลที่สุจริตเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากที่แล้วมา ไม่มีปัญหาอะไร จึงอาจไม่มีการจัดทำหลักฐานหรือทำบัญชีอย่างถูกต้องครบถ้วน ข่าวนี้ จึงเป็นสัญญาณเตือนถึงบุคคลผู้สุจริตที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมาย ว่าควรเตรียมการเรื่องหลักฐานและบัญชี ให้พรักพร้อมเพื่อรับมือกับการตรวจสอบของสรรพากร

เรื่องเก่าที่เกี่ยวข้องกัน 

การหลีกเลี่ยงและฉ้อโกงภาษีอากรโดยใช้คณะบุคคล สรรพากรประกาศจะเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

กรมสรรพากรเตือน อย่ายื่นแบบในลักษณะทุจริต ด้วยการแจ้งรายได้และค่าใช้จ่ายอันเป็นเท็จ เพื่อขอคืนภาษีจากรัฐบาล