• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พิพากษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ เป็นคดีตัวอย่าง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พิพากษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ เป็นคดีตัวอย่าง

นาย ดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ เปิดเผยว่า เมื่อปลายปี 2551 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางของประเทศไทย ได้มีการพิจารณาคดีให้บริษัทซอฟต์แวร์ชนะคดี

กรณีบริษัทที่จังหวัดอยุธยาได้ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยให้ผู้ละเมิดจ่ายชดเชยค่าเสียหาย 3.5 ล้านบาท รวมค่าเสียหายของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิด ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นคำพิพากษาในคดีแพ่ง ที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ครั้งแรกในประเทศไทย

เป็นคดี ทป.189/2551 บริษัท ออโต้เดส อิงค์ เป็นโจทย์ยื่นฟ้องบริษัท
ฮาร์เวสท์ โมลด์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคดีแพ่ง เมื่อปี 2551
จนศาลมีคำพิพากษาตัดสินเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาโดยศาลพิพากษาว่า จำเลยใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายในการดำเนินธุรกิจจริง และการกระทำของจำเลย เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และฝ่าฝืนกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย

"เดิมบริษัทผู้พัฒนา ไม่ค่อยกล้าฟ้องร้อง เพราะไม่เคยมีคำตัดสินที่เป็นคดีตัวอย่างมาก่อน และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพิจารณาคดี แต่คำพิพากษาในคดีนี้ แสดงให้เห็นว่า บริษัทผู้พัฒนาสามารถดำเนินการได้ ถือเป็นคดีตัวอย่างที่ช่วยให้บริษัทอื่นๆ ตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ จากเดิมที่บริษัท ผู้พัฒนาและผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ มักจะเจรจาตกลงได้ในศาลอาญา โดยผลของคำพิพากษาในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบในการดำเนินคดีกับธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่อไป"

นายดรุณกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีคดีละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนหลายคดี ที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล อย่างไรก็ตาม อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยปัจจุบันมี 78% หรืออยู่อันดับที่ 7 ในเอเชีย เป็นอัตราที่ลดลงจาก 80% เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ค่าเฉลี่ยอัตราการละเมิดลิทธิ์ในเอเชียมี 59% เท่านั้น โดยประเทศที่มีการละเมิดซอฟต์แวร์สูงสุดในเอเชีย-แปซิฟิก คือบังกลาเทศ 92% ศรีลังกา 90% และเวียดนาม 85% ส่วนประเภทซอฟต์แวร์ที่มีการละเมิดมากที่สุดคือ แอนตี้ไวรัสและโปรแกรมออฟฟิศ

สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เชื่อว่ากระทบต่อบริษัทผู้พัฒนาและผู้ใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลก เพราะหลายบริษัทมีการลดค่าใช้จ่าย ตัดงบประมาณ จึงมีแนวโน้มว่าอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อาจจะสูงขึ้น " ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยลบอย่างหนึ่งที่อาจทำให้การละเมิดซอฟต์แวร์ มีมากขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้นนี้ แต่หวังว่าในไทยมีการละเมิดที่ลดลง"

แนวทางการรณรงค์ของบีเอสเอในปีนี้ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหาร การจัดการการใช้ซอฟต์แวร์ผ่านรูปแบบการสัมมนาและเว็บไซต์ โดยปีนี้จะขยายออกสู่ภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น จากปีที่ผ่านมาเน้นเฉพาะในกทม.และหัวเมืองเป็นหลัก

ทั้งนี้ จากการศึกษาของไอดีซีระบุว่า หากไทยลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีได้ 10% จะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 2,100 ตำแหน่ง และเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

เรื่องเดิมที่เกี่ยวข้อง – อย่างไร จึงเรียกว่า กรรมการหรือผู้จัดการ มิได้รู้เห็นหรือยินยอมกับการกระทำความผิด ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ของนิติบุคคล ?