วันนี้ผู้เขียนได้รับคำถามจากลูกความของผู้เขียนว่า พนักงานในบริษัทเอกชนไปเป็นลูกหนี้ ในมูลหนี้บัตรเครดิตของบริษัทแห่งหนึ่ง ต่อมาถูกบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตฟ้องและดำเนินคดีแพ่งกับพนักงานผู้นั้น จนศาลได้มีคำพิพากษาให้พนักงานผู้นั้นชดใช้หนี้ค่าบัตรเครดิตดังกล่าว ซึ่งพนักงานผู้นั้นเป็นพนักงานชั้นผู้น้อยได้รับเงินเดือนไม่เกินสองหมื่นบาทเช่นนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของศาลจะอายัดเงินเดือนของพนักงานดังกล่าวได้หรือไม่ นอกจากนี้จะสามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ที่บ้านของตนได้หรือไม่
ผู้เขียนได้ตรวจสอบจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ได้แก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) ซึ่งได้ปรับปรุงแก้ไขในส่วนของการบังคับคดีทั้งหมดแล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ปีที่ผ่านมา โดยกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ ในหมวดที่ 2 การบังคับคดีกรณีที่เป็นหนี้เงิน กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ชำระเงิน เจ้าพนักงาน บังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (พนักงาน) ที่จะเรียกให้บุคคลภายนอก (บริษัท) ชำระเงิน ได้ตามมาตรา 296 (2) ซึ่งหากพิจารณามาตรานี้เพียงมาตราเดียวก็น่าจะแปลว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถที่จะอายัดเงินเดือนของพนักงานผู้นั้นได้ แต่หากอ่านกฎหมายต่อไปในกฎหมายฉบับเดียวกันนั้น พบว่ามีข้อยกเว้นอยู่ในมาตรา 302 ซึ่งบัญญัติต่อมา ในส่วนที่ 2 ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตาม คำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี คือ(3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ที่นายจ้างได้จ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวนรวมกันไม่เกิน เดือนละสองหมื่นบาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร ดังนั้นคำตอบในเรื่องนี้คงตอบได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีคงไม่สามารถอายัดเงินเดือนของพนักงานดังกล่าวได้ ซึ่งผู้เขียนได้แนะนำให้พนักงานผู้นั้นทำการติดต่อกับบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อขอประนีประนอมปรับโครงสร้างหนี้และ นำเงินเดือนบางส่วนมาผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่อไป
ในเรื่องของข้อยกเว้นของทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ซึ่งนอกจากที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว ทรัพย์สินอย่างอื่นของพนักงาน เช่น เครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเครื่องใช้สอยส่วนตัว ประมาณรวมกันไม่เกินสองหมื่นบาท หรือ สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพเท่าที่จำเป็น ราคารวมกันไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือ สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แทนอวัยวะของลูกหนี้ ฯ ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านี้ เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาดชดใช้หนี้ได้ เช่นกัน (มาตรา 301)