เครื่องหมายการค้าเสียง

 

หากจะกล่าวถึงคำ ๆ ว่า “เครื่องหมายการค้าเสียง” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าใหม่ประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534  แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดนิยามของเครื่องหมายการค้าโดยให้รวมถึงเสียงด้วย และต่อมากระทรวงพาณิชย์ได้ออกกฎกระทรวง  เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นเสียงในประเทศไทยแล้วนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นมา ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจยังไม่เข้าใจว่า “เครื่องหมายการค้าเสียง” คืออะไร

“เครื่องหมายการค้าเสียง” โดยสังเขปก็คือเครื่องหมายการค้าประเภทหนึ่งนั่นเอง แทนที่จะเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำ หรือ ข้อความ เช่น คำว่า ไอโฟน ซัมซุง โซนี่ แต่เครื่องหมายการค้าประเภทนี้เป็น “เสียง” ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าเครื่องหมายการค้าเสียงมันเป็นอย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านทั้งหลายคงเคยได้ยินเสียงเพลงของรถสามล้อเร่ขายขายไอศกรีมยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งตอนเด็กๆผู้เขียนได้ร้องเลียนเสียงว่า “อมแล้วดูด” ซึ่งเมื่อได้ยินเสียงนี้จะทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นไอศกรีมยี่ห้อนี้แน่นอน หรือ เสียงพ่อค้าขายบะหมี่เกี๊ยวเอาไม้มาเคาะเป็นจังหวะซ้ำๆ ทำให้ผู้ซื้อรู้ว่าเป็นเสียงของพ่อค้าขายบะหมี่เกี๊ยวตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ในประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นเครื่องหมายเสียง ได้เช่นกัน

“เครื่องหมายการค้าเสียง” เกิดขึ้นในทวีปยุโรปก่อนต่อมาได้แพร่ไปที่สหรัฐอเมริกา และแพร่หลายลงมาในทวีปเอเชียตามลำดับ ในกลุ่มอาเซียนประเทศที่สามารถจดเครื่องหมายเสียงได้นอกจากประเทศไทยแล้วเท่าที่ผู้เขียนทราบในปัจจุบันก็มี กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเสียงผ่านระบบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้เช่นกัน

ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเครื่องหมายการค้าเสียงในต่างประเทศที่มีชื่อเสียงและได้รับจดทะเบียนแล้วเช่น เครื่องหมายเสียง โนเกีย (Nokia theme) เครื่องหมายการค้าเสียง ยาฮู (Yahoo) เครื่องหมายเสียงแตรวงของ ทเวนตี้เซนจูรี่ฟอกซ์ (20th Century Fox Fanfare) เป็นต้น

ส่วนการจดทะเบียนเครื่องหมายเสียงในประเทศไทยนั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 มาตรา 7 (10) กล่าวโดยสังเขปคือ

1.   ต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะ คือมีลักษณะทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายเสียงนั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น และเสียงนั้นไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรงหรือไม่เป็นเสียงโดยธรรมชาติของสินค้านั้นหรือเสียงที่ไม่ได้เกิดจากการทำงานของสินค้านั้น

2.   ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย

3.   ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า (เสียง) ที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว

ส่วนวิธีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเสียงก็เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวประกาศเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 นี่เอง ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปศึกษาโดยละเอียดได้ตามกฎกระทรวงที่แนบมา