ผลกระทบและข้อวิจารณ์ต่อวาทกรรม “นิติรัฐ”

ในทศวรรษที่ 80 มีผู้เห็นกันว่าหลักนิติรัฐถูกแปรสภาพกลายเป็นวาทกรรมทางการเมือง วาทกรรม
"นิติรัฐ" ถูกนำไปใช้กล่าวอ้างเพื่อเป็น "อำนาจ" ในการปกครอง
จนเรียกได้ว่า หากมีรัฐใดประกาศตนว่าเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย
และต้องการสร้างความชอบธรรมในการปกครอง
ตลอดจนต้องการให้นานาอารยประเทศยอมรับนับถือแล้ว
ก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องประกาศตนเป็น "นิติรัฐ"

กล่าวให้ถึงที่สุด
หลักนิติรัฐ
นอกจากจะเป็นหลักที่เกิดขึ้นมา เพื่อจำกัดการใช้อำนาจของรัฐ ที่ไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนแล้ว อีกมุมหนึ่ง หลักนิติรัฐได้พัฒนา จนกลายเป็นฐานของความชอบธรรมในการปกครองประเทศอีกด้วย
"กฎหมาย" จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นของการปกครองในรัฐสมัยใหม่
ทั้งในฐานะตัวแทนของความชอบธรรม และทั้งในฐานะของเครื่องมือการปกครอง

ในยุคปัจจุบัน แม้หลักนิติรัฐ จะได้การยอมรับนับถืออย่างแพร่หลาย
อย่างน้อยที่สุด ก็ในฐานะเป็นเป้าหมายที่แต่ละรัฐควรไปให้ถึง
แต่นักคิดจำนวนมาก ยังคงวิจารณ์และแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมาจากวาทกรรม
"นิติรัฐ" นี่เป็นข้อวิจารณ์พอสังเขป

ประการแรก สภาวะ "เฟ้อ" ของกฎหมาย

ความเป็นหลักการอันปฏิเสธไม่ได้ (Dogmatique) ของ "นิติรัฐ" ทำให้
"กฎหมาย" กลายเป็นศูนย์กลางของสังคม
การขยายความคุ้มครองทางกฎหมายให้แก่ปัจเจกชน
เป็นปัจจัยเร่งให้ผลิตกฎหมายลายลักษณ์อักษรรายฉบับ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ศาลก็มีบทบาทมากขึ้น
ด้วยเชื่อกันว่า เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางในการแก้ไขข้อพิพาทในทุกปัญหา ที่ถูกทำให้เป็นเรื่องทางกฎหมายทั้งหมด

กระบวนการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น "กฎหมาย" (Juridicisation)
ได้ขยายพรมแดนของ "ความเป็นกฎหมาย" (Juridicit ?) ออกไปอย่างกว้างขวาง
กฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกแขนง ในวันข้างหน้า
ความเป็นกฎหมาย อาจขยายลงไปถึงสังคมสัตว์
ดังที่สมาคมพิทักษ์สัตว์บางสมาคม ได้เสนอแนวคิดให้มีสิทธิสัตว์ทำนองเดียวกัน
กับกฎหมายรับรองสิทธิมนุษยชน ในอนาคต หากเทคโนโลยีก้าวไกลถึงขนาด รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิหุ่นยนต์ตามจินตนาการในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องพลูโต
ก็อาจไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ

นอกจากนี้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายยังขยายไปถึงภารกิจการไล่จับความเสี่ยง
ความไม่สะดวกสบาย หรือความไม่ลงรอยกันในเรื่องเล็กน้อย ผลที่ตามมาก็คือ
กฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดขยายตัวมากขึ้น ทั้งความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา
และทางปกครอง ตลอดจนการแปรสภาพคดีการเมืองให้มีความรับผิดทางอาญา

ในส่วนของสิทธิและเสรีภาพ
ประเทศที่ประกาศตนเป็นนิติรัฐ-เสรีประชาธิปไตยทั้งหลายมักรับรองสิทธิและ
เสรีภาพในระดับรัฐธรรมนูญจำนวนมาก
ในหลายประเทศพัฒนาข้อความคิดสิทธิและเสรีภาพตัวใหม่ๆ ขึ้น เช่น
สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด
สิทธิขั้นต่ำในการเข้าถึงอาหารอย่างพอเพียง เป็นต้น

>การเสกสรรสิทธิและเสรีภาพกลายเป็น "แฟชั่น" ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาดูดีและทันสมัย
ผู้ร่างต้องเขียนเรื่องสิทธิและเสรีภาพไว้หลายมาตรา
โดยการรับรองสิทธิและเสรีภาพตัวใหม่ๆ ด้วยถ้อยคำอย่างกว้างๆ
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้ให้เกิดผล
จนอาจกล่าวได้ว่าสิทธิและเสรีภาพที่ถูก "สร้าง" ขึ้นนั้น
ไม่ต่างอะไรกับเซ็นเช็คสั่งจ่ายโดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคาร

มีแนวโน้มว่า "กฎหมาย" จะถูกทำให้เป็น "ยาวิเศษ"
ที่สามารถรักษาโรคทุกโรคได้ดังใจนึก เมื่อเกิดประเด็นถกเถียงกันในสังคม
ทางออกสุดท้าย มักไปอยู่ที่การเจรจาต่อรองจนได้ฉันทามติและนำไปตราเป็นกฎหมาย
เพราะความเป็นกฎหมายเป็นหลักประกันถึงความเป็นกฎเกณฑ์และสภาพบังคับ
กฎหมายจึงกลาดเกลื่อนไปด้วยบทบัญญัติที่บอกว่า สิ่งนี้ทำได้
สิ่งนั้นทำไม่ได้

องค์กรทางกฎหมายย่อมเพิ่มตามความสำคัญของกฎหมายไปด้วย
องค์กรผู้ผลิตกฎหมายมีหลายระดับ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ
หรือระดับทวีป ตลอดจนองค์กรโลกบาลต่างๆ
เมื่อตรากฎหมายขึ้นใช้ก็ต้องมีสภาพบังคับ
จึงจำเป็นต้องมีองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

จากข้อวิจารณ์ดังกล่าว จึงมีผู้เห็นกันว่าแนวโน้มสภาวะกฎหมาย "เฟ้อ" เหล่านี้สร้างต้นทุนให้กับสังคม

ประการที่สอง นักกฎหมายเป็นใหญ่

ความสำคัญของ "กฎหมาย" มีมากขึ้นเท่าไร ความสำคัญของ "นักกฎหมาย"
ก็เพิ่มมากตามไปด้วยเท่านั้น กฎหมายจึงกลายเป็นเรื่องเทคนิค ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการฝึกฝนโดย
เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ "กฎหมาย" เบ่งบาน ในขณะที่ "กฎหมาย" ก็เรียกร้องให้
"นักกฎหมาย" เข้ามาจัดการ
เรื่องของกฎหมาย จึงถูกผูกขาด โดยบรรดานักกฎหมายไปโดยปริยาย
เปิดโอกาสให้นักกฎหมายได้ครอบงำสังคม ในนามของผู้รู้กฎหมาย

การครอบงำสังคมโดยนักกฎหมาย ปิดโอกาสไม่ให้บุคคลอื่น ได้เข้ามีส่วนร่วมในการถกเถียงประเด็นต่าง ๆ ในสังคม จริงอยู่อาจอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่น ๆ
หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นนั้นๆ
ได้เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอยู่บ้าง
แต่ในชั้นสุดท้าย
การชี้ขาดประเด็นเหล่านี้ ก็อยู่ในมือของแวดวงนักกฎหมายเท่านั้น

นักกฎหมายที่ติดอยู่กับมายาภาพนี้ มักจะปฏิเสธมิให้ผู้อื่นได้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยเหตุผลเพียงว่า เรื่องกฎหมายต้องสงวนให้นักกฎหมายเท่านั้น
อาชีพนักกฎหมายจึงเฟื่องฟูมาก ในสังคมนิติรัฐ คำว่า "กฎหมายเป็นใหญ่"
เอาเข้าจริงคือ นักกฎหมายเป็นใหญ่นั่นเอง

ประการที่สาม บทบาทของศาลเพิ่มมากขึ้น

เมื่อทุกปรากฏการณ์ในสังคมถูกทำให้เป็น "กฎหมาย"
ผลลัพธ์สุดท้าย ก็มักมาจบที่ศาล ความขัดแย้งในสังคมถูกนำมาชี้ขาดที่ศาล
ศาลกลายเป็นผู้ให้ "คำตอบสุดท้าย"
แม้ศาลจะไม่ต้องการเข้าร่วมในความขัดแย้ง
แต่คู่ขัดแย้งซึ่งต้องการผลบังคับและผลเป็นที่สุดในทางกฎหมาย
ก็พยายามชงเรื่องสู่ศาล สังคม "นิติรัฐ" จึงกลายเป็นสังคมแห่งคดีความ
เมื่อมีคดีความมาก ความมั่นคงแน่นอนของนิติฐานะก็ถูกคุกคาม
และสังคมแห่งคดีความจึงสร้างภาระและต้นทุนให้กับทั้งคู่ความ รัฐและตัวศาลเอง

นิติรัฐ-ประชาธิปไตย และความคิดประชาธิปไตยโดยกฎหมาย
เปิดโอกาสให้องค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาททางการเมือง
ในฐานะผู้ควบคุมตรวจสอบองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย
จนกล่าวกันว่า ศาลกลายเป็น "ผู้พิทักษ์คนสุดท้ายของพันธสัญญา"
ในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อศาลมีบทบาทมากขึ้นก็ส่งผลตามมาสองประการ

หนึ่ง ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของศาล
เมื่อศาลเผชิญหน้ากับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
ศาลปลดนักการเมืองออกจากตำแหน่งบ่อยครั้ง
ศาลล้มกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภาอยู่เสมอ
ก็อาจเกิดคำถามตามมาว่า ศาลซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมากเพียงใด ถึงไปล้มโครงการ และขัดขวางองค์กรทางการเมืองที่มีฐานความชอบธรรมจากประชาชน

สอง ด้วยความต้องการของสังคม
ผู้พิพากษากลายเป็นผู้ชี้ผิดชี้ถูก-ชี้เป็นชี้ตายในทุกคุณค่า
เนื้อหาของข้อพิพาทไปเกี่ยวพันในหลายสาขาวิชา
คดีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ในบางกรณี
ผลของคดี ไม่ได้มีต่อเฉพาะคู่ความเท่านั้น
แต่ยังส่งผลออกไปในวงกว้าง ในฐานะเป็นคำพิพากษาบรรทัดฐาน
ในขณะที่ผู้พิพากษาไม่ใช่ผู้มีความรู้ความชำนาญในทุกเรื่อง
จึงเกิดข้อวิจารณ์ว่า สมควรหรือไม่ที่ประเด็นปัญหาทั้งหลายในสังคมควรผูกขาด
การชี้ขาดไว้ที่ผู้พิพากษา

ประการที่สี่ เหตุผลทางกฎหมายถูกท้าทาย

ยิ่งนิติรัฐพัฒนาและสมบูรณ์มากขึ้นเท่าไร
ก็ยิ่งเปิดเผยให้เห็นข้อจำกัดมากขึ้นเท่านั้น
ภาพตัวแทนที่ซ่อนอยู่ในรูปของ "นิติรัฐ" ที่ว่า
สังคมที่ตีกรอบและดำเนินการด้วยกฎหมายนั้นเป็นภาพตัวแทนที่ลวงตา
การเพิ่มขึ้นของกระบวนการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นกฎหมาย (Juridicisation)
แม้ดูเหมือนว่ากฎหมายเถลิงขึ้นสู่อำนาจ แต่อีกด้านหนึ่งแล้ว
กฎหมายก็อาจถึงคราวล่มสลายเช่นกัน

อัตราที่เพิ่มขึ้นของจำนวนกฎหมายลายลักษณ์อักษร
และพลวัตของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์
ดูผิวเผินอาจจะไม่มีอะไรผิดปกติ แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว
สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความไม่มั่นคงของนิติฐานะ
และความไม่แน่นอนชัดเจนของกฎหมาย
ปัจเจกชนไม่อาจมั่นใจได้ว่า กฎหมายใดยังคงมีผลใช้บังคับอยู่หรือกฎหมายใด
ถูกยกเลิกไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคโลกาภิวัตน์
มีองค์กรผู้ผลิตกฎหมายหลายระดับ ตั้งแต่องค์กรโลกบาล หรือองค์กรระดับทวีป
มาจนถึงองค์กรระดับท้องถิ่น
ซึ่งผลิตผลขององค์กรเหล่านี้ที่ออกมาในรูปของกฎหมาย
ก็อาจมีข้อความที่ขัดหรือแย้งกัน

นิติรัฐพยายามอธิบายความสัมพันธ์ ระหว่างกฎหมายกับรัฐ
โครงสร้างลำดับชั้นของกฎหมาย แต่เอาเข้าจริงแล้ว
กฎหมายไม่ได้เกิดจากระเบียบโครงสร้างเหล่านี้
หากเกิดจากความสัมพันธ์ทางอำนาจและการต่อรองทางอำนาจมากกว่า
นิติรัฐถูกทำให้เป็นหลักการอันปฏิเสธไม่ได้ และดูเสมือนว่าเป็นความจริงแท้
แต่เมื่อพิจารณาลึกซึ้งแล้ว เป็นการสร้างมายาคติว่า เป็นความจริงแท้เพื่อครอบงำสังคมและมุ่งรับใช้เสรีนิยม

การใช้และการตีความกฎหมายก็เช่นกัน แม้จะมีความพยายามทำให้วิธีวิทยาของการใช้และการตีความเป็นวิทยาศาสตร์
แต่ในทางปฏิบัติ จะเห็นได้ว่าการตีความกฎหมาย กลับเป็นการกระทำของเจตจำนง
(Acte de volont?)
ผู้มีอำนาจตีความกฎหมายต่างหาก ที่เป็นผู้บอกว่าอะไรเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย
หาใช่ผู้ตรากฎหมายไม่
กฎหมายที่เป็นศูนย์กลางในนิติรัฐ จึงมีค่าเป็นเพียงตัวอักษรบนกระดาษเท่านั้น

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งหลาย แม้จะบรรจุหลักการเสรีประชาธิปไตย
หลักการนิติรัฐ หลักการดุลยภาพอำนาจอย่างสวยหรูเพียงใด หากปราศจากซึ่ง
"การเมือง" แล้ว ก็อาจเป็นแค่ตัวอักษรบนกระดาษ
รัฐธรรมนูญไม่ได้มีประสิทธิภาพหรือส่งผลเลิศได้ด้วยตัวของมันเอง
ตรงกันข้ามต้องขึ้นกับการปฏิบัติของผู้เล่นทางการเมือง

การใช้อำนาจของผู้เล่นทางการเมือง
(ไม่ว่าจะยินยอมไปในทางเดียวกันหรือปะทะขัดแย้งกัน)
นำมาซึ่งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นการ "แปล"
ความตัวอักษรในรัฐธรรมนูญให้เกิดผล
ความเชื่อที่ว่า ปัญหาทั้งหลายในสังคม สามารถแก้ไขได้ด้วยรัฐธรรมนูญที่ดีนั้น
ไม่เป็นความจริง
ความเชื่อเช่นนี้ส่งผลให้เดิมพันของการยกร่างรัฐธรรมนูญสูงขึ้น
และการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจเป็นเพียง "สนาม"
ให้นักร่างรัฐธรรมนูญอาชีพได้มีโอกาสได้แสดงบทบาท

ข้อวิจารณ์เหล่านี้ อาจดูสุดโต่ง เป็นพวก Nihilisme
และไม่ให้คำตอบหรือคุณค่าทางวิชาการแต่อย่างใด
แต่อย่างน้อย การมีข้อวิจารณ์ต่ออะไรก็ตามที่ถูกสถาปนาเป็น Dogma
ก็น่าจะมีข้อดีอยู่บ้าง มิใช่หรือ

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2552

ที่มา โอเพนออนไลน์