วิเคราะห์เชิงวิชาการ : คดีที่ดินรัชดา ฯ

หมายเหตุกองบรรณาธิการ : บทความนี้เป็นการศึกษา วิเคราะห์และเสนอความเห็นทางกฎหมายโต้แย้ง คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอ้างอิงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตที่ดินรัชดา ซึ่งมี พตท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 2 กองบรรณาธิการได้นำคำพิพากษาและข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับคดีดังกล่าว แนบท้ายบทความ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาทางวิชาการด้วย

00000000000000000000000000000000000000000000

ข้อเท็จจริงในคดี สรุปได้ความว่า เมื่อ วันที่ 24 สิงหาคม 2538 กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกของบริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์ จำกัด 2 แปลง 31 โฉนด เนื้อที่รวม 121 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา เป็นราคาค่าซื้อทั้งสิ้น 4,889,497,500 บาท

ต่อมากองทุนฟื้นฟูฯ ได้ปรับปรุงเกณฑ์บัญชีทรัพย์สินรอขายใหม่ทั้งหมดเพื่อรับรู้การขาดทุน โดยใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินในขณะนั้นเป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง เป็นผลให้ที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวมีราคาลดลงเหลือเพียง 2,064,600,000 บาท เฉพาะแปลงที่ 2 ที่เกี่ยวกับคดีนี้มีราคา 754,500,000 บาท

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 กองทุนฟื้นฟูฯ นำที่ดินแปลงที่ 2 ออกประมูลขายทางอินเตอร์เน็ต โดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 870,000,000 บาท มีผู้ประสงค์จะซื้อ 8 ราย แต่เมื่อกำหนดต้องเสนอราคาปรากฏว่า ไม่มีผู้ใดเสนอราคาประมูล กองทุนฟื้นฟูได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงที่ 2 ออกเป็น 4 โฉนดโดยแบ่งหักส่วนที่เป็นสาธารณะประโยชน์ออกไป เหลือเนื้อที่ 22 ไร่ 78.9 ตารางวา

หลังจากนั้น จึงประกาศขายที่ดินนี้ใหม่อีกครั้งโดยวิธีประกวดราคาโดยไม่กำหนดราคาขั้นต่ำเอาไว้ มีผู้เสนอราคา 3 ราย คือบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 730,000,000 บาท บริษัท โนเบิลดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 750,000,000 บาท และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 เสนอราคา 772,000,000 บาท ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุด และสูงกว่าราคาที่ดินที่ปรับแล้วคือ 754,500,000 บาท

กองทุนฟื้นฟูจึงประชุมกันและอนุมัติให้คุณหญิงพจมาน เป็นผู้ชนะการประกวดราคา คุณหญิงพจมานได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับกองทุนฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2546 และชำระราคาครบถ้วนในเวลาต่อมา ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันในวันที่ 30 ธันวาคม 2546

โดยพันตำรวจ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมแก่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งเป็นภรรยา โดยมอบหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวประเภทข้าราชการการเมือง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประกอบการทำสัญญาด้วย

มีปัญหาว่า โดยหลักกฎหมายและหลักนิติธรรม (Rule of Law )แล้วพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะจำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในฐานะจำเลยที่ 2 ควรต้องรับโทษในทางอาญาหรือไม่

ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์(อัยการสูงสุด) บรรยายฟ้องมา มีเพียงการที่จำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ในการร่วมประมูลซื้อและทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท และจากการไต่สวนพยานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบรายงานสรุปสำนวนการตรวจสอบไต่สวนของ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ได้ความว่า

การดำเนินการตั้งแต่ร่วมเสนอราคา ทำสัญญาจะซื้อจะขาย จนกระทั่งทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับกองทุนฟื้นฟูฯ นั้น เป็นการดำเนินการของจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว โดยไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีการกระทำการอย่างใด ที่แสดงให้เห็นว่าร่วมกระทำการดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนกระทำหรือเกี่ยวข้องในอันที่จะแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่าประสงค์จะมีเจตนาร่วมซื้อที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2

ลำพังการที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอถึงขนาดให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำการร่วมกับจำเลยที่ 2 แล้ววินิจฉัยเฉพาะจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำผิด เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

ส่วนพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปรับบทกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และมาตรา 122 ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดและพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ดำเนินกิจการ
ต่อไปนี้ (1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่กำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจ กำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี” 

วรรคสองบัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” (ซึ่งรวมถึง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย) และวรรคสามบัญญัติว่า

“ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคสอง โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรส ดังกล่าวเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”

มาตรา 122 บัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 มาตรา 101 หรือมาตรา 103 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” และวรรคสองบัญญัติว่า “กรณีความผิดตามมาตรา 100 วรรคสาม หากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด พิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยในการที่คู่สมรสของตนดำเนินกิจการตามมาตรา 100 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่า ผู้นั้นไม่มีความผิด” 

ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมเสนอราคาในการประมูลซื้อที่ดินพิพาทกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท แต่เป็นการดำเนินการของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว

ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีการกระทำการอย่างใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำการดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ที่ได้กระทำการใดหรือลงมือกระทำการใด อันจะปรับได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดในตัวของจำเลยที่ 1 เอง แต่จะเป็นความผิดได้ เพราะการกระทำของคู่สมรสคือ คุณหญิงพจมาน ผู้ภรรยาเท่านั้น

ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงถือไม่ได้ว่า พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (1)

ปัญหามีว่า พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 ควรจะต้องรับโทษในทางอาญา เพราะการกระทำของคู่สมรสคือ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคสามหรือไม่ เห็นว่า

เมื่อการกระทำของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิด เพราะเป็นการเข้าประมูลประกวดราคาซื้อที่ดินโดยสุจริตและเปิดเผย และเงินที่ชำระราคาที่ดินที่ประมูลได้ ก็ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิด ต้องคืนแก่คุณหญิงพจมานจำเลยที่ 2 ไปเช่นนี้ จึงไม่อาจจะนำเอาการกระทำที่ไม่เป็นความผิดของคุณหญิงพจมาน ไปเป็นการกระทำที่เป็นความผิดเพื่อลงโทษพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้กระทำหรือลงมือกระทำใด ๆ ดังกล่าวแล้วได้

นอกจากนั้น ตามมาตรา 122 วรรคสอง ยังบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้นด้วยว่า “กรณีความผิดตามมาตรา 100 วรรคสาม หากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด พิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ในการที่คู่สมรสของตนดำเนินกิจการตามมาตรา 100 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้นั้นไม่มีความผิด” 

ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริง ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับฟังเป็นยุติมาแต่แรกดังกล่าวแล้วว่า การดำเนินกิจการของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 คู่สมรสของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการด้วยตนเองตามลำพังเพียงคนเดียว ตั้งแต่การร่วมเสนอราคาการทำสัญญาจะซื้อจะขายตลอดจนกระทั่งทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท

โดยพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนกระทำหรือเกี่ยวข้องในอันที่จะแสดงว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะมีเจตนาร่วมซื้อที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 ด้วย

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งต่อศาลดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลเอง เช่นนี้แล้ว การดำเนินกิจการดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สมรสของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการดำเนินการของจำเลยที่ 2 เองตามลำพัง จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รู้เห็นด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นตั้งแต่ต้นเสียแล้ว โอกาสที่จำเลยที่ 1 จะให้หรือไม่ให้ความยินยอม จึงไม่มีหรือเป็นไม่ได้อยู่ในตัว ซึ่งก็ไม่ผิดวิสัยที่ครอบครัวที่ร่ำรวยมั่งคั่งมีทรัพย์สินนับแสนล้านบาท อย่างเช่น จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 จะทำเช่นนั้นได้

การที่จะเหมารวมและฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นเป็นใจหรือให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ในการเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาท อันถือเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 และลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 100 (1) ประกอบด้วยมาตรา 122 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ. ศ. 2542 นั้น น่าจะไม่เป็นไปตามบทกฎหมายและความเป็นจริงดังกล่าวแล้ว

ลำพังการยินยอมที่สามีให้แก่ภรรยา ภายหลังจากภรรยาได้อสังหาริมทรัพย์มาจากการประมูลขายโดยชอบนั้น หาเป็นเหตุที่จะแสดงว่า สามีได้รู้เห็นยินยอมให้คู่สมรสของตนดำเนินกิจการที่ผิดกฎหมายมาแต่แรก อันจะทำให้สามีต้องรับโทษในทางอาญาไม่

และเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ที่จะมีเจตนาซื้อที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 แล้ว การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใด มาพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยในการที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามมาตรา 100 นั้น ย่อมเท่ากับบังคับให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 นำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เองอยู่แล้ว

ทั้งศาลก็ได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นยุติมาแต่แรกดังกล่าวแล้ว น่าจะเป็นการขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เหตุนี้ที่อ้างว่า จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นยินยอมและลงโทษจำเลยที่ 1 จึงน่าจะขัดต่อเหตุผลและความเป็นจริงและไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2541 มาตรา 122 วรรคสอง ปัญหาจึงควรแก่การพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำผิดบทกฎหมายดังกล่าวหรือไม่

ยิ่งกว่านั้น ในคดีที่มีองค์คณะผู้พิพากษาหลายคนที่จะต้องร่วมกันพิพากษาคดี โดยเฉพาะคดีอาญานั้น กฎหมายได้บัญญัติไว้อย่างเคร่งครัดและชัดเจนถึงการใช้ดุลพินิจและการออกเสียงลงมติในการพิพากษาแต่ละคดีว่า

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 39 บัญญัติว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลากระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้น จะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้ ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด”

2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 บัญญัติว่า “ให้ศาลใช้ดุลพินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”

3. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 184 บัญญัติว่า “ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้อธิบดีผู้พิพากษา ข้าหลวงยุติธรรม หัวหน้าผู้พิพากษาในศาลนั้น หรือเจ้าของสำนวนเป็นประธาน ถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาทีละคน ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย ให้ประธานออกความเห็นสุดท้าย การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่าย หรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาก ยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า”

ปรากฏว่าในคดีที่ดินรัชดาฯ นี้ มีผู้พิพากษาเป็นองค์คณะ 9 คน การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 197 วรรคแรก บัญญัติไว้

ดังนั้น ผู้พิพากษาทั้ง 9 คน จึงต้องตระหนักและต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 39 วรรคสอง และหากกรณีมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227

สำหรับการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวนี้ แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 20 จะบัญญัติว่า

“การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือพิพากษาคดี ให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคน ทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือ พร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ และให้ถือมติตามเสียงข้างมาก ในการนี้ องค์คณะผู้พิพากษาอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่ง ในองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาตามมตินั้นก็ได้…” ก็ตาม

แต่ก็ไม่ปรากฏมีข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาหรือบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในการประชุมปรึกษาคดี ไว้ ตลอดจนกรณีที่มีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่าย จะหาเสียงข้างมากมิได้นั้น จะต้องดำเนินการอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ความในมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จึงบัญญัติว่า

“…ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาใช้บังคับ…โดยอนุโลม” นั่นก็คือ ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 184 ข้างต้น มาบังคับใช้นั่นเอง โดยบทกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาทั้ง 9 คนออกเสียงพร้อมกันในคราวเดียวกัน เพื่อให้ได้เสียงข้างมาก แต่บัญญัติให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ต้องทำหน้าที่เป็นประธาน ยังไม่มีสิทธิออกเสียงทันที ต้องถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาอีก 8 คนทีละคนว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่

ปรากฏจากคำพิพากษาที่อ่านและเปิดเผยแล้วว่า คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนลงมติด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดให้จำคุก 2 ปี ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ในชั้นที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ทำหน้าที่ประธานสอบถามความเห็นผู้พิพากษา อีก 8 คนนั้น มีผู้พิพากษา 4 คนเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดแต่ผู้พิพากษาอีก 4 คนเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด คะแนนเสียงจึงเป็น 4 ต่อ 4 เท่ากัน แย้งกันอยู่

กรณีเช่นนี้ ณ เวลานั้น ขณะนั้น จึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าวข้างต้นว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดและกรณียังเป็นที่สงสัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงหรือไม่ เพราะมีคะแนนเสียงเท่ากัน หาเสียงข้างมากไม่ได้ ซึ่งกรณีย่อมต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 184 ที่บัญญัติว่า

“ถ้าปัญหาใด มีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่าย จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาที่เห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า ยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า” อีกด้วย

ดังนั้น ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ ซึ่งเป็นประธานและต้องออกเสียงเป็นคนสุดท้าย จึงต้องถูกผูกมัดและถูกบังคับด้วยบทกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งดังกล่าว ให้จำต้องลงมติว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด เพราะเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า แม้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน จะมีความเห็นขณะนั้นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ คะแนนเสียงของผู้พิพากษาคดีนี้ ที่พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 จึงเท่ากับว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่ออกเสียงเป็นคนสุดท้ายได้ลงมติว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิด ซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า น่าจะเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 39 วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 และมาตรา 184

จึงมีข้อพิจารณาว่า เป็นการลงมติที่ถูกต้องหรือไม่ คำพิพากษาคดีนี้ สามารถยืนยันได้แท้จริงหรือไม่ว่า พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 ควรต้องรับโทษในทางอาญา

อนึ่ง การลงมติที่จะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ดังกล่าวนี้ ย่อมครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาในการประชุม เพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดหรือไม่ ควรลงโทษจำเลยหรือไม่เพียงใด หรือสมควรลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษ แต่รอการลงโทษจำเลยไว้หรือไม่เป็นต้น

ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำตามตัวบทมาตรา 184 ที่ว่า “…ให้เจ้าของสำนวนเป็นประธาน ถามผู้พิพาทที่นั่งพิจารณาทีละคน ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย… ถ้าในปัญหาใด มีความเห็นแย้งกัน…” ดังนี้ แสดงว่าการลงมติขององค์คณะผู้พิพากษาในคดีอาญา ต้องปฏิบัติตามความในมาตรา 184 ทุก ๆ ประเด็นปัญหา ไม่มีข้อยกเว้น

ด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวมา พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 จะได้รู้เห็นยินยอมให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่จะทำให้จำเลยที่ 1 กลายเป็นผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100(1) และมาตรา 122 วรรคสอง หรือไม่ และการประชุมปรึกษาองค์คณะผู้พิพากษาเป็นการประชุมและลงมติที่สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าวมาแล้วหรือไม่

หากองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ได้ลงมติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว มติในการพิพากษาคดีนี้ น่าจะเป็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำผิดด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าวหรือไม่

หากกรณีเป็นไปตามที่กล่าวมาโดยลำดับ สมควรหรือไม่ ที่พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะต้องได้รับโทษในทางอาญา

ที่มา – ประชาไท

ข้อมูลเพิ่มเติม 1. คำพิพากษาคดีทุจริตที่ดินรัชดาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

2. คลิปวิดีโอการอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตที่ดินรัชดา ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

3. ข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ เกี่ยวกับคดีทุจริตที่ดินรัชดา ที่วิกีพีเดียไทย