• ธรรมนิติ
  • /
  • บทความกฎหมาย
  • /
  • บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ : ความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายกรัฐมนตรีสมัคร

บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ : ความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายกรัฐมนตรีสมัคร

ท่านอาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีของท่านนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ?

คือเรื่องนี้ความจริงแล้วต้องไปดูมาตรา 267 มาตรา 267 อยู่ในส่วนที่ว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมาพูดถึงการวินิจฉัยของศาลในคดีนี้ เราต้องเข้าใจถึงหลักการตีความของรัฐธรรมนูญก่อน หลักการตีความรัฐธรรมนูญก็คือ หลักการตีความกฎหมาย ซึ่งหลักการตีความกฎหมายทั่วไปนั้น มีหลักการวิธีตีความอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือ การตีความตามตัวอักษรกับการตีความตามเจตนารมณ์

หากเป็นการตีความรัฐธรรมนูญมันมีเพิ่มมาอีก 2 หลักคือ การตีความตามประวัติความเป็นมา และการตีความตามระบบ ที่นี้ การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยตัวอักษร มีข้อจำกัดอย่างยิ่ง เพราะว่ารัฐธรรมนูญเป็นการร่างขึ้นมาบนหลักพื้นฐาน ซึ่งมี 2 หลักคือ หลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ สิ่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเพียงการตกผลึกของหลักการที่อยู่เบื้องหลัง ของหลักการแต่ละหลักเท่านั้น

ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะตีความตามถ้อยคำได้โดยลำพัง ด้วยเหตุนี้จึง ต้องรู้ความเป็นมาก็ดี ต้องดูเจตนารมณ์ก็ดี ต้องดูระบบก็ดี เพราะฉะนั้น จะต้องมีหลัก 2-3 หลักนี้กำกับอยู่ตลอด กำกับตัวอักษรอยู่ตลอด มาตรา 267 อยู่ในส่วนที่ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์ของส่วนนี้ก็คือ ไม่ต้องการให้ผู้ที่มาใช้อำนาจบริหาร ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของบ้านเมืองนั้น มีการขัดกันในเชิงผลประโยชน์ ภายในกรอบของมาตราที่อยู่ในส่วนต่างๆเหล่านี้

เพราะฉะนั้น เจตนารมณ์ของมาตรา267 คือว่าไม่ต้องการให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ไปยอมตนอยู่ภายใต้เอกชนที่แสวงหากำไร อันนี้คือ concept ของเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจconceptแล้ว ส่วนการยอมตนอยู่ใต้เอกชน จะอยู่ในความสัมพันธ์อย่างใดก็สุดแท้แต่ จะจ้างแรงงาน จะจ้างทำของก็สุดแท้แต่ ไม่ได้มีความสำคัญ แต่ว่าวัตถุประสงค์คือ ไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีไปยอมตนอยู่ใต้เอกชนที่แสวงหากำไร

เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำว่าลูกจ้าง คำว่าลูกจ้างเป็นเพียงตัวอักษร ที่สะท้อนเจตนารมณ์ของเรื่องเท่านั้นเอง ดังนั้นถ้าตีความตามตัวอักษรโดยไม่ดูเจตนารมณ์ ที่อยู่เบื้องหลังก็จะเกิดปัญหาการดูเจตนารมณ์ ดูระบบ ดูความเป็นมา เพื่อที่จะมาขยายความตัวอักษรที่ไม่ชัดเจน เพราะว่ากระบวนการร่างกฎหมายของมนุษย์ ไม่มีทางที่จะชัดเจน เพราะเป็นข้อจำกัดของถ้อยคำหรือภาษา

ท่านอาจารย์คิดว่า กรณีดังกล่าว เป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในการวินิจฉัยคดีหรือเปล่า ?

คืออย่างที่บอก พจนานุกรมคำอย่างไรก็นำมาใช้ได้ แต่ต้องดูเจตนารมณ์ด้วย เพราะหลักใหญ่คือเจตนารมณ์ หมายความว่าคุณจะใช้พจนานุกรม มาแปลความอะไรก็ตาม ต้องอยู่ในขอบเขตของเรื่องเจตนารมณ์ ก็เหมือนกับไฟที่ฉายไปแล้ว มีขอบเขตของความสว่าง ฉันใดก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นตัวอักษร จึงอยู่ภายใต้ขอบเขตดังกล่าว แต่ว่านิติวิธีไม่ตรงกัน หรือเขาอาจจะมีนิติวิธีโดยผ่านตรงนี้หรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด มันก็ควรจะแสดงให้เห็นนิติวิธี เจตนารมณ์ก่อน แล้วถึงจะมาตีความตามตัวอักษร

อาจารย์มีความเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้นิติวิธีผิด ?

ผมไม่ได้บอกจะผิดถูก ผมไม่รู้ เขาอาจจะมี อาจจะเข้าใจเจตนารมณ์ แล้วใช้ตัวพจนานุกรมผ่านตัวอักษร ซึ่งจะบอกว่าผิดหรือไม่นั้น ผมไม่รู้ว่าผิดหรือไม่ จะไปสรุปว่าเขาผิดไม่ได้ แต่ว่าผลเหมือนกัน แต่วิธีการจะเหมือนกันหรือไม่ ต้องไปศึกษาดูรายละเอียดของคำวินิจฉัย ได้สะท้อนอยู่ส่วนใดหรือไม่ และถ้าการอธิบายโดยใช้พจนานุกรม เป็นการอธิบายประกอบเจตนารมณ์ อย่างนี้เราจะบอกว่าเขาผิด ก็ไม่ได้

ในคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างว่า คำว่าลูกจ้างในกฎหมายอื่นๆ ไม่สามารถจะนำมาใช้กับรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องตีความความหมายของคำว่าลูกจ้างตามกฎหมายนั้นๆ  เช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวถูกต้องหรือไม่ ?

หลักของศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกต้องแล้ว เพราะอะไร จะเอากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งสภานิติบัญญัติเป็นคนร่าง รัฐสภาเป็นคนร่าง แต่ใครร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรที่มีอำนาจให้รัฐธรรมนูญร่าง แล้วจะเอาเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่ามีวัตถุประสงค์ประการใด มาครอบงำรัฐธรรมนูญได้อย่างไร จะเอากฎหมายที่ต่ำกว่า ซึ่งอาจมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

ดังนั้นเอากฎหมายที่ต่ำกว่ามาครอบงำรัฐธรรมนูญ แล้วบอกว่ากฎหมายที่ต่ำกว่าเท่ากับรัฐธรรมนูญเป็นไปได้อย่างไร เพราะว่าเจตนารมณ์ของแต่ละฉบับไม่เหมือนกัน กล่าวโดยสรุป ไม่สามารถเอากฎหมายที่ต่ำกว่า มาครอบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ เพราะกฎหมายแต่ละฉบับ มีความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน แต่ว่ารัฐธรรมนูญนั้น มีความมุ่งหมายที่แน่นอนชัดเจน 1.วางรากฐานเรื่องระบบสิทธิ  2.วางเรื่องโครงสร้างภาครัฐ นั้นคือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

แล้วความหมายของคำว่าลูกจ้างตามรัฐธรรมนูญ จะไปมีผลกระทบกับความหมายของคำว่าลูกจ้างตามกฎหมายอื่นหรือไม่?

จะกระทบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ ว่าเขามีความมุ่งหมายอย่างไร แต่ถ้าเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตรงนี้ก็ถือว่ามีผลกระทบ แต่ถ้าเป็นเรื่องลูกจ้าง ตามกฎหมายแรงงานว่าอย่างไรก็ว่าไป

เพราะกฎหมายแรงงาน มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองผู้ใช้แรงงานที่เป็นลูกจ้าง ซึ่งอนาคตอาจจะเปลี่ยนก็ได้ เช่นการรับงานไปทำอยู่ที่บ้าน อาจจะเป็นลูกจ้างตามความหมายอนาคตก็ได้ ซึ่งลูกจ้าง ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ที่ทำงานของนายจ้าง คนที่รับงานไปทำซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ต่อไปอาจเป็นลูกจ้างก็ได้ เพราะอะไร เพราะมีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน อนาคตอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้

เพราะฉะนั้น คำว่าลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน เมื่อท้ายสุดมันมีปัญหา มันแก้ปัญหาการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานไม่ได้ ก็ต้องขยายขอบเขตในที่สุด เพราะฉะนั้นเราจะเอาสิ่งนี้มาครอบรัฐธรรมนูญไม่ได้

ถ้าการตีความของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่า การไปออกรายการของท่านายกฯ ถือว่าเป็นลูกจ้าง เช่นนี้ กรณีที่ไปเป็นวิทยากร อย่างเช่นไปเปิดงานเสวนาหรือไปเป็นอาจารย์พิเศษ เช่นนี้จะทำได้หรือไม่ ?

อย่างที่ผมบอก มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำว่าลูกจ้าง มันขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ว่า มันไปยอมตนอยู่ภายใต้ธุรกิจเอกชนหรือไม่ ? ประเด็นตรงนั้นเองที่มันจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการ ถามว่าคนอื่นเขามีสถานะเป็นผู้บริหารอย่างนั้นหรือไม่ และลักษณะที่ทำนั้นเป็นอย่างไร มันไม่สามารถที่จะบอกว่าอย่างนั้นแล้วอย่างนี้ ต้องดูเจตนารมณ์ดูข้อเท็จจริงแต่ละข้อเท็จจริง ว่ามันกระทบต่อการกระทำหน้าที่ตรงนั้นหรือไม่ หรือการกระทำนั้นเป็นการมุ่งทางวิชาการหรือไม่อย่างไร

ไม่ใช่หมายความว่ากรณีของคุณสมัครอย่างนี้ ของอีกคนที่ไปสอนจะอย่างนี้ อันนี้ไม่ใช่หรอก เพราะว่า ถ้าเขาไปบรรยาย ไปสอน เป็นเรื่องที่จะให้ประโยชน์ทางวิชาการ เพราะจากการที่มีประสบการณ์จากการที่ไปทำงานในตำแหน่งนี้ มันได้มีการถ่ายโอนความรู้มาสู่ตรงนี้ ซึ่งต้องดูรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องๆ

ถ้าจะบอกว่าท่านนายกฯสมัครก็สอนทำอาหารเหมือนกัน

กรณีนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่ามีการจ้างอะไรกันอยู่ เป็นธุรกิจหรือไม่ เอาตรงนี้ก่อน เป็นเอกชนที่ประกอบธุรกิจหรือไม่ แต่หลักใหญ่มันอยู่ที่ การยอมตนอยู่ภายใต้ธุรกิจเอกชน ก็ไปดูข้อเท็จจริงมันเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ข้อเท็จจริงที่เขาเสนอ ลองไปดูว่าเกิดผลกระทบอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่มาประกอบทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เวลาจะศึกษา หนึ่งต้องเข้าใจ concept ก่อน อย่าไปเอาข้อเท็จจริงมาเป็นหลักในการพิจารณา ไม่งั้นแล้วเราก็จะไม่มีหลัก เมื่อมันมีหลักแล้ว สองข้อเท็จจริงนิ่ง จึงเอาหลักมาวินิจฉัยเข้าตามหลักหรือไม่

มีคนตั้งข้อสังเกตว่าศาลได้วางธงไว้ก่อนหรือเปล่า จึงพยายามตีความคำว่าลูกจ้างให้กว้างออกไป เพราะถ้าตีตามกฎหมายอื่นๆ คำว่าลูกจ้างมันจะไม่สามารถตีความได้ ไปถึงการกระทำของท่านนายกรัฐมนตรีได้ ?

เราเอาอะไรมาบอกว่ามีธงหรือไม่มีธง ถามว่าอะไรเป็นจุดสะท้อน ไม่งั้นมันก็คิดไปได้หมด เพราะฉะนั้นต้องมี objective ว่าอะไรคือมีธง เช่นสะท้อนได้จากคำวินิจฉัย เวลาจะถามว่าเขามีธงหรือไม่มีธง ในทางวินิจฉัย มันย่อมขึ้นอยู่กับการให้เหตุผลทางกฎหมายว่า มันมีนิติวิธีสอดคล้องหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ เพราะฉะนั้นมีธงหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับการให้เหตุผลในทางกฎหมายว่า ถ้ามันสอดคล้องกับหลักการและถูกต้อง เขาจะมีธงหรือไม่อันนี้ไม่รู้ แต่เมื่อมันถูกต้อง สอดคล้องกับหลักการและถูกต้อง เขาจะมีธงหรือไม่ เราไม่รู้ตรงนี้

แต่เมื่อมันถูกต้องสอดคล้องกับหลักการเราก็ต้องยอมรับ จะมีธงหรือไม่ก็ตาม ถ้ามันไม่ถูกต้องสอดคล้อง แม้ว่าจะไม่มีธง เมื่อมันไม่ถูกต้องกับหลักการก็ยอมรับไม่ได้ แม้จะไม่มีธงจริงไหม ? เพราะฉะนั้นประเด็นไม่ได้สำคัญอยู่ที่ว่ามีธงหรือไม่ อยู่ที่การให้เหตุผล ว่ามันสอดคล้องกับหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะเรากำลังจะพูดในสิ่งที่เราไม่รู้ จะถามว่าคุณจะไปบอกยังไงว่า ใครมีธง ไม่มีธง

ความสำคัญไม่ว่าจะมีธงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายถูกต้องสอดคล้องหรือไม่ เพราะถ้ามันไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ก็ยอมรับไม่ได้ ประเด็นจึงไม่ขึ้นอยู่กับธง ประเด็นขึ้นอยู่กับหลักการและเหตุผลว่าถูกต้องหรือไม่ต่างหาก เพราะฉะนั้น ผมว่าในทางกฎหมาย นักกฎหมายต้องมีหลัก เขาจะมีธงหรือไม่มี สะท้อนอยู่ที่หลักกฎหมาย เพราะหลายคดีอาจจะบิดเบือน

ซึ่งนักกฎหมายสามารถจะจับได้ว่าบิดเบือนอย่างไร บิดเบือนตรงข้อเท็จจริงอย่างไร บิดเบือนตรงหลักกฎหมายอย่างไร ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญมากกว่าว่ามีธงหรือไม่มีธง เพราะเราไม่รู้เรื่องในใจ ประเด็นผมไม่ได้ให้ความสำคัญว่ามีธงหรือไม่ แต่ว่าคุณได้วินิจฉัยถูกต้องตามหลักการและข้อเท็จจริงหรือไม่ ตรงไปตรงมาหรือไม่ ตรงนั้นต่างหากที่เป็นสำคัญในการพิจารณา

จากช่วงต้นที่กล่าวว่าการตีความนั้น ต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มากกว่าการใช้การตีความตามตัวอักษร เช่นนี้ จะมองว่ามันเป็นปัญหาในการบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ ? เพราะถ้าหากตีความตามคำว่าลูกจ้างมันอาจจะไปไม่ถึงการกระทำดังกล่าว แต่เจตนารมณ์มันตีความไปถึง ซึ่งหากเปลี่ยนจากคำว่าลูกจ้างไปใช้คำอื่น อาจจะทำให้ชัดเจนมากกว่านี้ ?

คือเรื่องการบัญญัติ อย่างไรเสียในทางกฎหมาย มันมีข้อจำกัดของตัวถ้อยคำ มันเป็นข้อจำกัดทางภาษาของมนุษย์ ไม่มีทางที่จะไปเขียนกฎหมายให้ทุกอย่างชัดแจ้งได้ ยกตัวอย่างอำนาจในการตราพระราชกำหนดบอกว่า กรณีที่มีปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลมีอำนาจในการออกพระราชกำหนด ถามว่า อะไรคือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตอบได้ไหม ว่ากรณีไหนอย่างไร ท้ายที่สุดตัวภาษามันมีข้อจำกัด เพื่อให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองมีอิสระใน การที่จะประเมินข้อเท็จจริงว่า เข้าในทางกฎหมายที่ไม่ชัดแจ้งนั้นหรือไม่

คือท้ายที่สุดมันมีปัญหาทุกกรณี มันไม่มีทางที่กระบวนการนิติบัญญัติจะไปตรากฎหมาย แล้วบอกให้ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็น เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เมื่อภาษาไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความชัดเจนได้ หลักการตีความจึงจำเป็นขึ้นมา ประเด็นปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวอักษร แต่อยู่ที่คนใช้และคนตีความว่าเข้าใจมันหรือไม่ เพราะอย่างไรเสียตัวอักษรก็ไม่มีทางชัดเจน

แล้วอันที่จริง ในรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ เขาเขียนในหลักกว้างๆทั้งนั้น ยิ่งเขียนละเอียดยิ่งมีปัญหา ยิ่งเขียนละเอียดมากยิ่งมีปัญหามาก เพราะฉะนั้นปัญหาจึงอยู่ที่คนใช้และคนตีความว่า มีความเข้าใจรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร ประเด็นใหญ่จึงอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การร่างรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่คนใช้คนตีความ ซึ่งอาจจะไม่มีนิติวิธี หรืออาจจะไม่รู้นิติวิธี หรืออาจจะไม่เข้าใจการตีความรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่าไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ?

ในประเด็นนี้ไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องไปแก้ เพราะยิ่งแก้ยิ่งมีปัญหา

คำวินิจฉัยดังกล่าว ถือเป็นการวางหลักกฎหมายในเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ หรือไม่ ? และมีความสำคัญต่อวงการนิติศาสตร์ของเราอย่างไร ?

วางหลักหรือไม่ ต้องไปดูในคำวินิจฉัย หลักที่ได้แน่นอนประการหนึ่งคือว่า การตีความตามรัฐธรรมนูญนั้น หนึ่ง ไม่ได้เอากฎหมายที่ต่ำกว่ามาเป็นขอบเขตในการอธิบายรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญมันจะกว้างกว่า แคบกว่า มันย่อมขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ อันนี้คืออันที่หนึ่งที่พิสูจน์หลักได้แน่นอน คุณจะเอากฎหมายที่ต่ำกว่า แล้วมาบอกว่ารัฐธรรมนูญต้องถือลูกจ้างตามนี้ ไม่ถูกแน่นอน

หลักประการที่สองของกรณีนี้คือว่า การที่จะตีความรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องนั้น ต้องค้นหาเจตนารมณ์ของหลักการที่อยู่เบื้องหลังก่อน นี้คือหลักสำคัญ คุณต้องรู้ก่อนว่ามาตรานี้มีหลักการสำคัญอย่างไร มาตราแต่ละมาตรามีหลักการสำคัญอย่างไร วัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ของเขาตรงนี้เป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจแล้ว ถึงค่อยไปค้นหาความหมายของถ้อยคำที่อยู่ในเจตนารมณ์นั้นๆ

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ผมคิดว่า ในรัฐธรรมนูญทุกมาตรา มันมีหลักทั้งนั้นในการที่จะทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้ หากตีความรัฐธรรมนูญ โดยเพ่งเล็งไปที่ตัวอักษร มันก็เป็นเพียงนักอักษรศาสตร์ เท่านั้น มันไม่ใช่นักนิติศาสตร์ เพราะตัวอักษร มันเป็นเรื่องของระบบความคิดที่ตกผลึกมาเป็นตัวอักษร มันไม่ใช่เป็นภาษาศาสตร์ ในความหมายที่เป็นวรรณกรรมในความเข้าใจของมนุษย์

ถ้าเราตีความรัฐธรรมนูญได้ตามเจตนารมณ์ตามความมุ่งหมาย ถ้าเราเข้าใจ อย่างน้อยที่สุด นักนิติศาสตร์ควรจะเข้าใจในความหมายอย่างนี้ บอกว่าตีความอย่างนี้ บอกว่ามีธงเพื่อจะเอาอย่างนั้นหรือไม่ ไม่ใช่ มันต้องขึ้นอยู่กับหลักทางกฎหมาย หลักการใช้การตีความว่าคืออะไร ในทางกฎหมายต้องดูข้อเท็จจริงถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่ หลักกฎหมายถูกต้อง ปรับถูกต้องหรือไม่

สิ่งต่างๆเหล่านี้แหละที่จะบอกว่ามีธงหรือไม่มีธง มันเกินการใช้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับการดูลำดับประเด็นแบบอย่างในทางกฎหมาย ซึ่งเราจะสามารถค้นหาการบิดเบือน การใช้การตีความจากตัวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มาศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์