Legal Day และ iSummit08 ที่เมืองซัปโปโรประเทศญี่ปุ่น

ผมเป็นผู้แทนของสำนักกฎหมายธรรมนิติ ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านกฎหมายของ โครงการครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย ได้รับเชิญจาก Creative Commons International (CCi) ไปร่วมงาน iSummit08 ที่ เมืองซัปโปโร เมืองหลวงของเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ถึง 3 สิงหาคม 2551ซึ่งจัดโดย iCommons ร่วมกับ เมืองซัปโปโร บริษัทญี่ปุ่นชื่อ ดิจิตอลการาจ และ โครงการครีเอทีฟ คอมมอนส์ประเทศญี่ปุ่น

ตั้งใจว่า กลับมาเมืองไทย จะรีบมารายงานเล่าเรื่องราวให้ฟัง ปรากฎว่าไม่ได้ทำด้วยเหตุสารพัด จึงขออภัยคนที่สนใจติดตามเรื่องนี้

ความเป็นมา วัตถุประสงค์ในการจัดและเรื่องเกี่ยวกับงาน สามารถเข้าไปดูได้ที่ สไลด์แนะนำงานiSummit08 เขาทำไว้ดีมาก ในงานมีรายการอะไรบ้าง ดูได้จาก โปรแกรมของงาน

เวลาที่จัดงานเป็นช่วงฤดูร้อนที่เมืองซัปโปโร แดดจึงเจิดจ้าสวยงามทั้งวัน เมื่อเทียบกับทั้งปี ช่วงนี้อุณหภูมิสูงสุดแล้ว แต่ขนาดฤดูร้อน อุณหภูมิก็ยังอยู่ในช่วง 20-24 องศาเซลเซียส ซึ่งเทียบได้กับอุณหภูมิในห้องแอร์ที่เมืองไทยได้สบายแถมช่วงเช้ากับช่วงเย็นถึงกลางคืน อุณหภูมิลดลงเป็น 17-19 เมื่อรวมกับลมที่พัดตลอดเวลาเพราะเป็นเมืองชายทะเล ก็ค่อนข้างเย็นสบาย

ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่พักอยู่ที่ โรงแรมแกรนด์ซัปโปโร ซึ่งเป็นโรงแรมแบบทันสมัย มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้ฟรีในห้องพักเชื่อมต่อโดยใช้สายแลน แบบเสียบปุ๊บ ใช้ได้ปั๊บ ไม่ต้องเซ็ทอะไรเรื่องนี้ประทับใจมาก ถึงไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษส่งถึงห้องในตอนเช้า ก็ไม่ว่ากัน เข้าใจว่ามีหนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นให้แต่อ่านไม่ออก จึงสละสิทธิไป

รถทัวร์แบบบ้านเรา มารอรับที่โรงแรมที่พัก ตั้งแต่เวลาประมาณ 7.30 น.วิ่งไปสัก 15-20 นาทีก็ถึงสถานที่สัมมนา ได้ชมบ้านเมืองไประหว่างทางถึงสถานที่สัมมนาก่อน 8 โมงเช้า มีการแจกเอกสารประกอบสัมมนาพร้อมป้ายชื่อและสายคล้องคอ spred firefox อย่างเท่ห์

CCi Legal Day
จัดในวันที่ 29 กรกฎาคม 2550 หนึ่งวันก่อนถึงงาน iSummit08 อย่างเป็นทางการเป็นงานที่รวมผู้ชำนาญด้านกฎหมายและตัวแทนโครงการครีเอทีฟคอมมอนส์จากทั่วโลก โดยผู้แทนของ CCi นำเสนอและการเสวนาเกี่ยวกับสาระสำคัญในสัญญาอนุญาตหลัก 6 ฉบับ ปัญหาการนำไปปรับใช้ในประเทศต่างๆ สัญญาเสริมเพิ่มเติมใหม่ๆ และปัญหาทางกฎหมายอื่นๆ

ภาพผู้เข้าร่วมสัมมนาในงาน CCi Legal Day กรุณาสังเกตคนที่อยู่กลางภาพ นั่นแหละ ใช่เลย

โปรแกรมของงาน CCi Legal Day ช่วงเช้าเริ่มในห้องโถงใหญ่(Main Conference Hall) ของศูนย์การประชุมแห่งเมืองซัปโปโร (Sapporo Convention Center)  มี Catharina Maracke ประธาน CCi กล่าวเปิดงาน ขอบคุณผู้สนับสนุน แนะนำความเป็นมาของงานและกิจกรรมทั่วไปของวันนี้ แนะนำตัวแทนจากโครงการครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศใหม่ๆ ที่มาร่วมงานเป็นครั้งแรก

รวมถึงได้แนะนำผม ในฐานะตัวแทนจากโครงการครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทยด้วย ก็ต้องลุกขึ้นยืน โค้งคำนับอย่างสวยงามไปทั่วทั้งห้องตามมาด้วยเสียงปรบมือต้อนรับกราวใหญ่ตามธรรมเนียม

ไดแอน ปีเตอร์ ที่ปรึกษากฎหมายทั่วไปของ CC เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายทั่วไปของ OSDL ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมูลนิธิลีนุกซ์ และที่โมซิลล่าซึ่งทำไฟร์ฟอกซ์ด้วย นำเสนอว่า ปัจจุบันสัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ได้ถูกนำไปปรับให้สามารถใช้บังคับได้ตามกฎหมาย รวม 47 ประเทศซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศล่าสุด

ดังนั้น ปัญหาความเข้ากันได้ (Compatibility)ของสัญญาอนุญาตของประเทศจำนวนมาก จึงเกิดขึ้น อย่างเห็นได้ชัดและควรได้รับความสนใจแก้ไข

Mike Linksvayer รองประธานของ CC สำนักงานใหญ่ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา คนนี้มาจากวงการไอที นำเสนอเรื่อง Creative Commons Rights Expression Language (ccREL) เป็นเรื่องเทคนิคเยอะ ผมฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง คนที่สนใจเข้าไปดูเอกสารนำเสนอของเขาประกอบเองนะ

นายโยชิยูกิ ทามูระ(Yoshiyuki Tamura) ศาสตราจารย์ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด นำเสนอเรื่อง Peculiarities for Japan – “digital copyright”

เขานำเสนอ แนวคิดและความเป็นมาของของกฎหมายลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่น และว่าข้อเสนอล่าสุดให้ยืดอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่นออกไปเป็น 70 ปีหลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ไม่เหมาะสม
ทั้งได้เสนอว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่นควรต้องมีบทบัญญัตที่อนุญาตให้ใช้งานอย่างเป็นธรรมซึ่งไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์  ( a general fair use clause)

เป็นอันว่าจบครึ่งแรกของช่วงเช้าก็พักออกไปทานเครื่องดื่มกับของว่างต่างๆ เลยมีโอกาสชิมขนมญี่ปุ่นหลายอย่าง ส่วนมากทำมาจากแป้งข้าวเจ้าใส่น้ำตาลบ้าง ถั่วแดงบดบ้าง ทานกับชาเขียวญี่ปุ่น อร่อยมาก

หลังจากพัก ศาสตราจารย์ซูซี่ แฟรงเคิ้ล (Susy FRANKEL)จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรียแห่งนครเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ได้นำเสนอเรื่อง ข้อสัญญาเรื่องจริยสิทธิ(Moral Right)ของผู้สร้างสรรค์
ในสัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ที่นำไปปรับใช้ในแต่ละประเทศว่า แม้บางประเทศไม่มีกฎหมายเรื่องนี้ แต่ในสัญญาอนุญาตก็ควรต้องมีข้อตกลงให้คุ้มครองจริยสิทธิของผู้สร้างสรรค์
ทั้งควรปรับปรุงข้อความเกี่ยวกับการคุ้มครองจริยสิทธิของผู้สร้างสรรค์ในสัญญาฉบับบทั่วไปให้ชัดเจนและเหมาะสมกว่าข้อความปัจจุบัน

ดร.ลูซี่ กุยเบ้าท์(Lucie GUIBAULT)จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม นำเสนอผลการศึกษาวิจัยของเธอเรื่องปัญหาความแตกต่างของสัญญาอนุญาตจากทัศนะของชาวยุโรป ซึ่งได้เสนอปัญหาว่า
ทำอย่างไรจึงจะชักจูงให้แต่ละประเทศปรับปรุงแก้ไขข้อความในสัญญาอนุญาตให้เป็นฉบับปัจจุบัน(3.0) ซึ่งยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวแนวทางและวิธีแก้ไข

ดร.โพรโฟรมอส เซียวอส( Profromos TSIAVOS) ได้สรุบผลการสัมมนาในช่วงเช้า ทั้งได้ตั้งข้อสังเกตพัฒนาการของครีเอทีฟคอมมอนส์ในสถานะขององค์กรและได้วิเคราะห์ความท้าทายใน
อนาคตของชุมชน CC  ที่กำลังเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ถึงเวลาพักเที่ยง เพื่อทานข้าวแบบบุฟเฟ่ ไม่มีเก้าอี้ให้นั่งมีโต๊ะวางอาหารสองชุด และโต๊ะกลมๆกระจายกันทั่วห้องคนก็ไปยืนทานอาหารล้อมโตีะกลม  เข้าใจว่าเพื่อให้คนที่ไปงานทานไป คุยไป
เพื่อทำความรู้จัก ก็ได้ผลตรงที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆจากสารพัดประเทศจากการคุยช่วงทานข้าวเที่ยงด้วยกัน

งานสัมมนาภาคบ่าย เริ่มด้วยการนำเสนอเรื่อง การนำสัญญาอนุญาตของ CC ไปใช้ในขอบเขตทั่วโลก (CC licences worldwide) โดยนายไม้ค์ ลิ้งสเวเยอร์ (Mike LINKSVAYER) และ ดร.จิออกอส เชลเลียติส (Giorgos CHELIOTIS) ดูข้อมูลเพิ่มเติม ที่การนำเสนอด้วยสไลด์ในหัวข้อเดียวกัน

เจสสิกา โคเตส( Jessica COATES ) นำเสนอผลการศึกษาวิจัยของโครงการครีเอทีฟคอมมอนส์ออสเตรเลีย เรื่อง ข้อตกลงในสัญญาอนุญาตเกี่ยวกับงานดัดแปลง เสนอว่า
ในกรณีงานต้นฉบับใช้สัญญาอนุญาตของ CC งานดัดแปลงที่ทำจากงานต้นฉบับนั้น จะต้องรับช่วงเงื่อนไขในการอนุญาตมาจากสัญญาอนุญาตของงานต้นฉบับด้วย
จะกำหนดเงื่อนไขให้เข้มงวดกว่าสัญญาอนุญาตของงานต้นฉบับไม่ได้

นายโตมัวกิ วาตานาเบ้ (Tomoaki WATANABE)จากโครงการครีเอทีฟคอมมอนส์ญี่ปุ่น นำเสนอเรื่องปัญหาด้อยพัฒนาเกี่ยวกับโครงข่ายการแพร่ภาพกระจายเสียงทางดิจิตอลของประเทศ
ญี่ปุ่น ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีคศ.2011 เสนอว่า สัญญาอนุญาตของ CC ห้ามการใช้ เทคนิค DRM ในงานสร้างสรรค์ ทำให้อาจมีปัญหา ไม่อาจเผยแพร่งานที่ใช้สัญญาอนุญาตของ CC
ผ่านโครงข่ายแพร่ภาพกระจายเสียงทางดิจิตอลได้ เนื่องจากโครงข่ายใหม่ดังกล่าว จะใช้เทคนิคDRM ในการเข้ารหัสทั้งหมด วิธีการแก้ไขปัญหานี้  จะต้องหารือกันต่อไป

นายพอล เคลเลอร์ (Paul KELLER)และนายมิคาเอล ซิมพ์สัน (Mikael SIMPSON) นำเสนอกรณีศึกษาจากประเทศเดนมาร์ก ซึ่งองค์กรบริหารการจัดเก็บค่าสิทธิ ชื่อโคด้า (KODA)ได้ร่วมมือกับโครงการครีเอทีฟคอมมอนส์เดนมาร์ค ในการส่งเสริมให้ศิลปินที่เป็นสมาชิก ใช้สัญญาอนุญาตของ CC ในการเผยแพร่งานสร้างสรรค์

ปัจจุบันศิลปินจำนวนมากได้ลงนามในสัญญาพิเศษกับโคด้า ซึ่งอนุญาตให้พวกเขาใช้สัญญาอนุญาตใดๆของ CC ที่ไม่ใช้งานเพื่อการค้ากับงานสร้างสรรค์ของตน
ตราบเท่าที่ได้ทำตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้งานเพื่อการค้าที่ได้กำหนดไว้ในสัญญากับโคด้า โดยไม่มีการแก้ไขข้อความในสัญญาอนุญาตของ CC แต่อย่างใด

ไดแอน ปีเตอร์ (Diane PETERS) จาก CC สำนักงานใหญ่ นำเสนอเรื่อง การใช้งานสร้างสรรค์เพื่อการค้าโดยใช้ผลการศึกษาการใช้ข้อความเพื่อการค้าที่แตกต่างกัน
ในสัญญาอนุญาตของประเทศต่างๆ เพื่อประมวลผลและนำเสนอข้อความดังกล่าวใหม่เพื่อใช้ในสัญญาอนุญาตฉบับทั่วไป(unport CCL) เธอยังได้สรุปสถานะของโครงการ CC0
ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับการอุทิศงานสร้างสรรค์ ให้เป็นงานของสาธารณะว่าอยู่ในขั้นเบต้า ใกล้เสร็จแล้ว

เป็นอันว่าจบการสัมมนาวันแรก รถมารับตอนประมาณ 18.30 น เพื่อเดินทางไปที่ สนามกีฬาเล่นสกีจั๊ม (Okurayama ski jump) ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับของผู้ว่าราชการเมืองซัปโปโรไปถึงมีการต้อนรับด้วยการแสดงตีกลองแบบโบราณโดยนักแสดงชาย-หญิงประมาณ 6 คน จัดว่าเป็นการแสดงที่สนุกครึกครื้นมาก

เมื่อการแสดงจบ ผู้ว่ากล่าวต้อนรับ ผู้แทน CCi กล่าวขอบคุณตามธรรมเนียมอาหารเป็นอาหารญี่ปุ่นและฝรั่งแบบบุฟเฟ่เช่นเคย กินไปคุยไปที่ต่างจากบุฟเฟ่ตอนกลางวันคือ มีเบียร์ซัปโปโรให้ดื่มแบบไม่อั้นแถมมีไวน์แดง-ขาวบริการด้วย ตามประสาคนชอบดื่มไวน์ จึงไปชิมมาเรียบร้อย ปรากฎว่าเป็นไวน์ธรรมดา เลยไปซดเบียร์ซัปโปโรต่อเสียหลายขวด

ทานอาหารเสร็จ ก็เปิดการแสดงการกระโดดด้วยสกี จากความสูงประมาณ 90 เมตร ระยะนับว่าสูง ทางลงจัดว่าชัน ดูไปก็รู้สึกว่า นักกีฬาต้องมีขาที่แข็งแรงมากๆ เพื่อรองรับน้ำหนักของร่างกายที่กระแทกลงมาก่อนที่จะใช้สกี ไถลตัวผ่อนแรงจากการกระโดดลงมา

กลับถึงโรงแรมที่พัก ประมาณสี่ทุ่ม จบวันที่ยืดยาว ได้ความรู้เยอะมากและสนุกสนานยิ่งได้ถ่ายภาพไว้จำนวนหนึ่ง ไม่มากนัก เข้าไปดูได้ที่ เว็บรูปภาพของกูเกิ้ล

โชคดีที่ผู้ไปร่วมงานเป็น geek หลายคน ถ่ายรูปเกี่ยวกับงานไว้เพียบ เข้าไปดูได้ที่อัลบั้มออนไลน์ของฟลิคร์แทกiSummit08 รวมทั้งภาพคนที่ไปร่วมงาน และที่แทก CreativeCommons ใครอยากได้ภาพในฟอร์แมท tiff แบบเต็มๆ ก็ไปดาวโหลดบิตได้ที่ Legal_Torrents มีบลอกเกี่ยวกับงานนี้เยอะมาก สนใจเข้าไปดูได้ที่บลอกของเวิร์ดเพรส

ส่วนวีดีโอเกี่ยวกับงานนี้ ก็ไปดูได้ที่ ยูทิวป์ เนื้อหาที่ใช้นำเสนอ มีรวบรวมไว้ที่ สไลด์แชร์ การสนทนาออนไลน์ของผู้สัมมนาส่วนมากใช้แทกiSummit08ที่ไอเด็นติ ถ้ายังอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก ก็ดูได้ที่ กูเกิ้ล ถ้ามีคำถามอะไรเกี่ยวกับงานที่ไป ก็ถามได้นะครับ

เผยแพร่ครั้งแรก ที่โครงการครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย