กิจการร่วมค้า (Joint Venture) และการรวมกันในลักษณะของกลุ่มบริษัท (Consortium) (ตอนที่ 2)

4.   ความแตกต่างระหว่าง Joint Venture และ Consortium

4.1    สถานะทางกฎหมาย
 Consortium ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
Unincorporated Joint Venture ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
Incorporated Joint Venture มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นหรือบริษัทที่ร่วมลงทุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี

4.2    การลงทุน
Consortium เป็นกรณีบริษัทผู้รับเหมาหลายรายรวมกันยื่นประมูลงานก่อสร้าง โดยแต่ละรายเสนอราคาเฉพาะงานส่วนของตน เมื่อประมูลงานได้แล้วต่างรับผิดชอบจ่ายเงินลงทุนเฉพาะส่วนของตน ซึ่งไม่มีการร่วมลงทุนหรือร่วมกันแบ่งผลกำไรและขาดทุนในแต่ละบริษัทที่รวมกัน แม้ในสัญญาจ้างจะกำหนดให้ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งต่างมีความรับผิดร่วมกันและแทนกัน (jointly and severally liable) ต่อผู้ว่าจ้าง เมื่อมีความเสียหายเกี่ยวกับงานที่รับจ้างเกิดขึ้นไม่ว่าส่วนใด ทั้งนี้ ในสัญญารวมกันระหว่างกลุ่มบริษัท (Consortium Agreement) และสัญญาจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างและกลุ่มบริษัทในฐานะผู้รับจ้างต้องแบ่งแยกงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน
Unincorporated Joint Venture มีการร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนอันจะพึงได้ตามสัญญาจ้างหรือสัญญาอื่นใดที่ร่วมกันทำกับบุคคลภายนอก หรือร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุในสัญญานั้นว่าเป็น “กิจการร่วมค้า” หรือกำหนดให้ต้องรับผิดร่วมกันในงานที่ทำไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกัน รวมทั้งสัญญานั้นไม่ได้แบ่งแยกงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน
Incorporated Joint Venture มีการร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี โดยการถือหุ้นในบริษัทร่วมลงทุนที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่

4.3    การแบ่งผลประโยชน์
Consortium เป็นการแบ่งรายได้ตามขอบเขตงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละบริษัทที่รวมกัน โดยมิใช่เป็นการแบ่งผลกำไรขาดทุนร่วมกัน
Unincorporated Joint Venture เป็นการแบ่งผลกำไรขาดทุนร่วมกันระหว่างแต่ละบริษัทที่เข้าร่วมลงทุน
Incorporated Joint Venture แต่ละบริษัทที่ร่วมลงทุนได้รับส่วนแบ่งผลกำไรในรูปของเงินปันผลจากบริษัทร่วมลงทุน

4.4    ผลประโยชน์ที่บริษัทที่รวมกัน/ร่วมลงทุนได้รับ
Consortium ขึ้นอยู่กับผลประกอบการหรือกำไรขาดทุนของแต่ละบริษัทที่รวมกัน แล้วแต่ความสามารถในการประกอบการของแต่ละบริษัท
Unincorporated Joint Venture ผลประกอบการหรือกำไรขาดทุนตกได้แก่แต่ละบริษัทที่ร่วมลงทุนร่วมกัน โดยไม่ต้องจัดสรรเงินกำไรไว้เป็นทุนสำรองตามกฎหมาย
Incorporated Joint Venture เป็นไปตามนโยบายการแบ่งผลกำไรของบริษัทร่วมลงทุน โดยที่ประชุมคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น และต้องจัดสรรเงินกำไรไว้เป็นทุนสำรองตามกฎหมาย

4.5    ความรับผิดของแต่ละบริษัทที่รวมกัน/ร่วมลงทุน
Consortium โดยปกติแต่ละบริษัทที่รวมกันต่างฝ่ายต่างรับผิดตามขอบเขตงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนต่อผู้ว่าจ้างหรือบุคคลภายนอก เว้นแต่จะมีข้อตกลงในสัญญาจ้างกำหนดให้ต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม ทั้งนี้ ในระหว่างบริษัทที่รวมกันสามารถตกลงแบ่งแยกความรับผิดที่เกิดขึ้นในสัญญารวมกันระหว่างกลุ่มบริษัท (Consortium Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงภายในมีผลผูกพันเฉพาะระหว่างกลุ่มบริษัทที่เป็นคู่สัญญาได้
Unincorporated Joint Venture แต่ละบริษัทที่ร่วมลงทุนต่างมีความรับผิดต่อผู้ว่าจ้างหรือบุคคลภายนอกร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม แต่ในระหว่างบริษัทที่ร่วมลงทุนสามารถตกลงแบ่งแยกความรับผิดที่เกิดขึ้นในสัญญาร่วมลงทุน (Joint Venture Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงภายในมีผลผูกพันเฉพาะระหว่างบริษัทที่ร่วมลงทุนซึ่งเป็นคู่สัญญาได้
Incorporated Joint Venture โดยปกติบริษัทที่ร่วมลงทุนซึ่งเข้าถือหุ้นในบริษัทร่วมลงทุนไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก โดยบริษัทร่วมลงทุนและคณะกรรมการจะเป็นผู้รับผิดต่อบุคคลภายนอก บริษัทที่ร่วมลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นคงรับผิดจำกัดต่อผู้ว่าจ้างหรือบุคคลภายนอกเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ

4.6    ภาระภาษีอากรของแต่ละบริษัทที่รวมกัน/ร่วมลงทุน
Consortium บริษัทที่รวมกันตกลงกันแบ่งรายได้ตามรูปแบบการลงทุนนี้ต่างฝ่ายต่างยังคงมีหน้าที่และความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากรเช่นเดิม เนื่องจากรูปแบบการลงทุนดังกล่าวไม่ถือเป็นหน่วยภาษีอากรแต่อย่างใด การร่วมลงทุนรูปแบบนี้ จึงส่งผลเฉพาะสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของบริษัทที่รวมกันในสัญญารวมกันระหว่างกลุ่มบริษัท (Consortium Agreement) และสัญญาจ้างต่อผู้ว่าจ้างเท่านั้น
Unincorporated Joint Venture การร่วมลงทุนรูปแบบนี้ถือเป็นหน่วยภาษีอากรใหม่แยกต่างหากจากแต่ละบริษัทที่ร่วมลงทุน โดยมีหน้าที่ และความรับผิดทางภาษีอากรในนามตนเองเด็ดขาดจากบริษัทที่ร่วมลงทุน ดังนั้นบริษัทที่ร่วมลงทุนจึงมีหน้าที่ร่วมกันในการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนมีหน้าที่ยื่นและชำระภาษีอากรอย่างบริษัทเอกชนหรือผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มตามบทบัญญัติประมวลรัษฎากรทุกประการ
Incorporated Joint Venture การร่วมลงทุนรูปแบบนี้ถือเป็นหน่วยภาษีอากรใหม่ และบริษัทร่วมลงทุนมีหน้าที่และความรับผิดแยกต่างหากจากบริษัทที่ร่วมกัน ผลทางภาษีอากรทั่วไป จึงไม่แตกต่างจาก Unincorporated Joint Venture ทั้งนี้ เว้นแต่ลักษณะการจำกัดความรับผิดของบริษัทที่ร่วมกันในฐานะผู้ถือหุ้นต่อบุคคลภายนอกตามลักษณะของบริษัทเอกชน ซึ่งส่งผลดีต่อกรณีความรับผิดในหนี้ภาษีอากรที่มีต่อกรมสรรพากรมากกว่า Unincorporated Joint Venture

สรุป ประเด็นเรื่องภาษีของกิจการร่วมค้า (Joint Venture) มีดังนี้
1)    ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax)
–    ประมวลรัษฎากร มาตรา 39 (2) กำหนดให้กิจการร่วมค้า เป็นหน่วยภาษีแยกออกมาจากผู้ประกอบการที่ร่วมลงทุนกัน โดยถือว่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากำไรสุทธิในผลกระกอบการตามรอบระยะเวลาบัญชี
2)    ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax)
–    ประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 กำหนดว่า “นิติบุคคล” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39….” ดังนั้น กิจการร่วมค้าจึงถือว่าเป็นนิติบุคคลในภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสามารถจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
3)    ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax)
–    ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 กำหนดว่า ให้นำบทนิยามคำว่า “บุคคล” “บุคคลธรรมดา” “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” “นิติบุคคล” “ตัวแทน” “สถานประกอบการ” และ “เดือนภาษี” ตามมาตรา 77/1 มาใช้บังคับกับภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ดังนั้นกิจการร่วมค้าจึงถือเป็นนิติบุคคลในภาษีธุรกิจเฉพาะเช่นกัน
4)    ภาษีอื่นๆ
– ในการประกอบกิจการร่วมค้า อาจมีภาษีอื่นๆที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และ/หรือภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้อง