คนไทยคงจะตระหนักดี ถึงฤทธิ์เดชของทุนนิยมเสรี ซึ่งมีอายุครบ 29 ปี ในปี 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทยต้องจำได้ถึงการล่มสลายทางเศรษฐกิจของไทย ในปี 2540 อันเป็นผลมาจากการเปิดเสรีทางการเงิน เพราะเชื่อฝรั่งว่า ประเทศไทย จะเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียอาคเนย์

บัดนี้ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของลัทธิอนุรักษนิยมใหม่ หรือทุนนิยมเสรี ได้เผชิญกับความล่มสลายทางเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่จะได้รับทราบความคิดเห็นของนักวิชาการระดับสูง 2 คนของสหรัฐฯ ในเรื่องดังกล่าว

ฟรานซิส ฟูกูยามา เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ปัจจุบันเขาเป็นศาสตราจารย์ด้าน International Political Economy ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิ้นส์ หลังยุคสงครามเย็นเขาเขียนหนังสือที่โด่งดังชื่อ “จุดจบของประวัติศาสตร์ (The End of History) ในทศวรรษ 1980 (2523) เขาทำงานกับประธานาธิบดี โรนัล เรแกน ซึ่งอยู่ในกลุ่มนีโอคอนเซอร์เวทีฟ หรือกลุ่มอนุรักษนิยมใหม่ ซึ่งนิยมชมชื่นลัทธิการค้าเสรีอย่างสุดขั้ว

หลังจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เผชิญวิกฤตขนาดหนัก เมื่อกลางปี 2551 เขาได้เขียนแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับวิกฤตที่เกิดขึ้นดังนี้ :

ในปี 2523 หลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี โรนัล เรแกน ได้เริ่มภิวัฒน์หรือผลักดันหลักการ 2 หลักการไปทั่วโลก นั่นคือ ลัทธิการค้าเสรีและการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย โดยกระตุ้นให้ชาวโลกเชื่อว่า หลักการทั้งสองจะนำมาซึ่งความมั่นคง ความมั่งคั่งและระเบียบโลกใหม่ในระดับสากล

องค์ประกอบของการค้าเสรีคือ การเปิดเสรีทางการค้า การเงินและการลงทุน ลดกฎระเบียบและการควบคุม ลดขนาดและบทบาทของรัฐบาล แปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชน ลดภาษีให้คนรวย ด้วยความเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะกระตุ้นให้คนรวยลงทุนมากขึ้น นอกจากนั้น ยังลดการให้ความช่วยเหลือของรัฐด้วย เช่น การช่วยเหลือด้านสุขภาพและการศึกษา

นอกจากอำนาจและอิทธิพลทางทหาร ซึ่งโจเซฟ ไนย์ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรียกว่า “พลังแข็ง” (hard power) แล้ว สหรัฐฯ ยังมี “พลังนุ่ม” (soft power) ซึ่งสหรัฐฯ ใช้ในการเผยแพร่และบีบทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตามหลักการข้างต้น ได้แก่ การศึกษา สื่อมวลชน (หนังสือ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ) สถานทูต และองค์กรระดับโลก เช่น ธนาคารโลก องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (จะกู้ ต้องเปิดเสรี) องค์การการค้าโลก และอื่น ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ  ระหว่างปี 2523-2533 เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างมากจนมีคำพูดในสหรัฐฯ ว่า “ความโลภเป็นสิ่งดี” (greed is good)

อย่างไรก็ตาม ชาวยุโรปเรียกลัทธิเศรษฐกิจเสรีของสหรัฐฯ นี้ว่า “ทุนนิยมคาวบอย” (cowboy capitalism) หรือ “ผู้ชนะ ได้หมด” แต่ในที่สุด ทุนนิยมคาวบอย ก็ล่มสลายและมีทีท่าว่า จะฉุดกระชากให้เศรษฐกิจของทั้งโลกต้องตกรางไปด้วยอย่างแน่นอน

สิ่งบอกเหตุแรกที่ชี้ให้เห็นความบกพร่องของการค้าเสรีคือ กรณี “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในปี 2540-2541 เงินร้อนได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย อินโดนีเซียและเกาหลี ซึ่งเปิดเสรีด้านการเงิน ตามคำแนะนำและแรงบีบของสหรัฐฯ ทำให้เกิดฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ แล้วเงินกู้ก็ไหลออกอย่างทันทีทันใด ประเทศเหล่านั้นก็ล่มสลาย

ในขณะที่ประเทศมาเลเซียและจีน ซึ่งควบคุมการไหลเข้าและออกของ “ทุน” อย่างเคร่งครัด ต่างก็รอดจากวิกฤตอย่างสง่างาม (ต่อมา มหาเธร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียได้รับการยืนปรบมือแสดงความชื่นชมอย่างกึกก้องหลังการกล่าวสุนทรพจน์เรื่องความสำเร็จในการป้องกันวิกฤตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในการประชุม World Economic forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิส)

สิ่งบอกเหตุที่สอง คือ การขาดดุลบัญชีกระแสรายวันและดุลการค้าจำนวนมหาศาล (ขาดดุลกระแสรายวัน 699 แสนล้าน และขาดดุลการค้า 844 แสนล้านดอลลาร์ และมียอดหนี้รวมสูงกว่ายอดจีดีพีถึง 2.8 เท่า) ตัวเลขดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของเศรษฐกิจบริโภคนิยมแบบอเมริกัน และนำไปสู่ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง ในปี 2543-2544

ผลลบของการลดกฎระเบียบ (deregulation) และการควบคุมด้านพลังงาน ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าในแคลิฟอร์เนียพุ่งสูงขึ้น จนเกินจะควบคุมได้ และในปี 2547 บริษัทพลังงานขนาดยักษ์ ชื่อ เอนรอน ล้มละลายจากการฉ้อฉลของผู้บริหาร และด้วยความร่วมมือของบริษัทบัญชีชื่อ อาร์เธอร์ แอนเดอร์สัน

ตลอดสิบ ๆ ปีที่ผ่านมา ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ขยายตัวอย่างรุนแรง (รายได้เฉลี่ยของซีอีโอสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของพนักงาน 475 เท่า) ผู้ได้ประโยชน์คือ คนรวย ในขณะที่รายได้สุทธิของคนอเมริกันโดยทั่วไป จะไม่ขยับเลย (คนอเมริกันซึ่งหลงใหลบริโภคนิยม เป็นหนี้บัตรเครดิตสูงถึง 180 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ และมีหนี้ครัวเรือนๆ ละ 120,980 ดอลลาร์ หรือคนละ 46,000 ดอลลาร์) นั่นหมายความว่า คนชั้นกลางและคนจน กำลังจนลงเรื่อย ๆ

การส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยกลับล่มสลายไปก่อนการล่มสลายของเศรษฐกิจเสียอีก เพราะประชาธิปไตยถูกสหรัฐฯ ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการยึดครองประเทศอิรัก การทำเช่นนั้น ทำให้ผู้คนในโลกเห็นว่า การส่งเสริมประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เป็นเพียงลมปากในการหาประโยชน์เท่านั้น และนั่นทำให้มีการนำเอา “ยี่ห้ออเมริกา” ไปเปรียบเทียบกับระบบของรัสเซียหรือจีน

การฟื้นฟูทั้งเศรษฐกิจและ “ยี่ห้ออเมริกา” จึงเป็นสิ่งที่ เสมือนการเดินขึ้นเขาที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างยิ่ง “ยี่ห้ออเมริกา” คือระบอบประชาธิปไตยและความกระตือรือร้นของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนระบอบนี้ทั่วโลก สหรัฐฯ ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ผ่านงานด้านการทูต การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหาร สื่อมวลชน ฯลฯ

แต่ปัญหาก็คือการนำระบอบประชาธิปไตยไปอ้างว่า เป็นความชอบธรรมในการรุกรานและยึดครองอิรัก ทั้ง ๆ ที่สหรัฐฯ สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการในซาอุดีอาระเบีย ในตะวันออกกลางอีกหลายประเทศในเอเชียกลางและอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธรัฐบาลของกลุ่มฮามาสและเฮสบัลลาห์ ซึ่งผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น สหรัฐฯ ไม่ได้รับความเชื่อถือเลย เมื่อสหรัฐฯ เอ่ยอ้างถึง “เสรีภาพ”

ยิ่งกว่านั้น “ยี่ห้ออเมริกา” ยังมัวหมอง เพราะการทรมานนักโทษชาวอิรักที่คุกอาบูการิบของอิรัก (ผลการสอบสวนในภายหลังพบว่า นายโดนัล รัมสเฟล รมต.กลาโหม เป็นผู้ออกคำสั่ง) และหลังเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯ ยังละเลยความเป็นธรรมที่คุกกวนตานาโม (เขตเช่าซึ่งเลิกจ่ายค่าเช่าไปนานแล้วในคิวบา)

ด้วยข้ออ้างว่า ไม่ต้องปฏิบัติกฎหมายนานาชาติที่ว่าด้วย “เชลยศึก” เพราะนักโทษที่นั่น เป็นเพียง “นักโทษนอกกฎหมาย” (รวมทั้งไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคติพจน์ของศาลสูงสหรัฐฯ ที่ว่า
“ความยุติธรรมที่เท่าเทียมภายใต้กฎหมาย” (เพราะอยู่นอกประเทศด้วย)

การเมืองสหรัฐฯ และการเมืองโลก จะต้องเปลี่ยนแปลง ในสหรัฐฯเอง การนำกฎระเบียบและการควบคุมกลับมาใช้เป็นความจำเป็นและกำลังขยายตัวในภาคเศรษฐกิจ การฟื้นตัวต้องพึ่งการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ต้องเลิกใช้ลัทธิเรแกน โดยเฉพาะการลดภาษีคนรวยและลดกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสาธารณะ และสร้างขวัญกำลังใจในภาครัฐด้วย

สถาบันการเงินต้องการการควบคุมและชี้นำอย่างเข้มแข็ง ในระดับโลก สหรัฐฯ จะไม่มีโอกาสรื่นเริงกับการครอบงำโลกอีกต่อไป โอกาสที่สหรัฐฯ จะวางระเบียบโลกด้านเศรษฐกิจ ผ่านธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟจะลดลงและในหลายส่วนของโลก ความคิดและความเชื่อแบบอเมริกัน รวมทั้งคำแนะนำและความช่วยเหลือของสหรัฐฯ จะได้รับการต้อนรับน้อยลง

นอกจากนายฟรานซิส ฟูกูยามาแล้ว นายพอล แอชเวิร์ท นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสคนหนึ่งของสหรัฐฯ ยังกล่าวในเวลาเดียวกันว่า “มันใช้เวลากว่า 20 ปีที่ทุนนิยมเสรี จะมาถึงจุดนี้ มันต้องใช้เวลามากกว่า 2-3 ปีในการแก้ไข และเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ความเป็นปกตินั้น จะไม่ใช่ความเป็นปกติอย่างเดิม

เราจะไม่มีเสรีภาพอย่างที่เราเคยมีทั้งในระดับครอบครัวและระดับธุรกิจ เราจะต้องอยู่อย่างอดออม มัธยัสถ์ สมถะและเคร่งครัดในวินัย ในปี 2551 รัฐบาลที่เสพติด “งบประมาณขาดดุล
อย่างมหาศาล โดยอาศัยความปรานีของต่างชาติ (ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้จากธนาคารกลางของจีนและญี่ปุ่น) ต้องอัดฉีดเงินอย่างน้อย 700,000 ล้านดอลลาร์ เข้าสู่ตลาดการเงินและธนาคาร

และอีกกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ เข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ เจนเนอรัล มอเตอร์ ฟอร์ด และ  ไครสเลอร์ ในปี 2552 คาดว่างบประมาณสหรัฐฯ จะขาดดุลถึง 1.00 ล้านล้านดอลลาร์ ธนาคารองค์กรทางการเงินและอุตสาหกรรมจำนวนมากจะย้อนกลับไปอยู่ในมือของรัฐบาล”

สำหรับผลกระทบอันเลวร้ายของทุนนิยมเสรี ต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น นาย Federico Mayor และนาย Jerome Binde อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การยูเนสโกและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และประเมินขององค์การดังกล่าว เปิดเผยในหนังสือที่เขาทั้งสอง ร่วมกันเขียนชื่อ The World Ahead : Our Future in the Making ว่า

“ ระหว่าง พ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นปีที่นายโรนัล เรแกน ของสหรัฐฯ เริ่มผลักดันระบบทุนนิยมเสรีอย่างจริงจัง จนถึง พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตในทางเศรษฐกิจ มีเพียงประมาณ 15 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่มีโอกาสรื่นเริงกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ส่วนอีกกว่า 100 ประเทศ ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ถดถอยหรือล่มสลาย (รัสเซีย แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา นิวซีแลนด์ ฯลฯ) ประชากรโลกกว่า 1,600 ล้านคน มีรายได้โดยเฉลี่ยต่ำลงและเกิดการขยายตัวของความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างคน “มี” และ “ไม่มี” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์”

เอมี ชัว นักวิชาการชาวฟิลิปปินส์ เชื้อสายจีน ซึ่งทำงานอยู่ในสหรัฐฯ ได้เดินทางไปสำรวจเพื่อหาสาเหตุของวิกฤตในประเทศต่างๆ และสรุปไว้ในหนังสือของเธอชื่อ “โลกที่ลุกเป็นไฟ” หรือ World on Fire ว่า

“ในแต่ละประเทศ ต่างก็มีคนกลุ่มน้อย (นายทุน ขุนศึก) ที่มีอิทธิพลและควบคุมเศรษฐกิจและการใช้ทรัพยากรของประเทศเอาไว้ส่วนใหญ่ แล้ว เช่น ชาวจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนผิวขาวในแอฟริกันใต้และอเมริกาใต้ ชาวเลบานอนในแอฟริกาตะวันตก ชาวไอโบในไนจีเรีย ชาวโครแอตในอดีตเชโกสโลวะเกีย และชาวยิวในรัสเซีย

แต่ละประเทศเหล่านั้น ยังคงสภาวะปกติอยู่ได้ เพราะ “เลือด” ส่วนใหญ่ ยังหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ แต่เมื่อเปิดเสรี  “เลือด” ได้ถูกดูดไปโดยบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก เหมือนกับสมัยล่าอาณานิคม

ขนาด เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด 51 อันดับใน 100 อันดับแรกของโลก คือ บริษัทข้ามชาติ จำนวนบริษัทของประเทศอุตสาหกรรมขยายตัวกว่า 1,000 เปอร์เซ็นต์ และขยายสาขากว่า 2,000 เปอร์เซ็นต์

นอกจากการขยายความแตกต่างด้านรายได้ของผู้คนทั่วโลกแล้ว ทุนนิยมเสรียังทำร้ายชาวอเมริกันชั้นกลางและชั้นล่างอย่างรุนแรงด้วย พอล เอ. เฮลเลอร์ จากกรุงวอชิงตันเขียนจดหมายไปสะท้อนผลร้ายดังกล่าวในนิตยสาร “ไทม์” ฉบับ 3/11/51 ว่า

“กว่า 20 ปีที่ชาวอเมริกันชั้นกลางและชั้นแรงงานต่างเห็นการส่งตำแหน่งงานจำนวนมากจากสหรัฐฯ ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาได้เห็นรายได้และเงินออมที่หดหาย รวมทั้งเห็นกองทุนเกษียณอายุและโครงการสุขภาพถูกปล้น โดยการลดและยกเลิกโครงการ โดยบริษัทที่ล้มละลายหรือต้องควบรวมกัน

ในขณะเดียวกัน คนอเมริกันที่รวยที่สุด 400 คนกลับมีเงินและทรัพย์สินมากเท่ากับคนหลายสิบล้านคนรวมกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความโลภโมโทสันและกิเลสของกลุ่มคนร่ำรวยที่ควบคุมประเทศสหรัฐฯ อยู่ในปัจจุบัน”

พอล ครุกแมน ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ปากกล้าของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งเพิ่งได้ “รางวัลโนเบล” ทางเศรษฐศาสตร์มาหยก ๆ กล่าวเมื่อหลายปีมาแล้วว่า “ การค้าเสรีเป็นเพียงสมมติฐาน ไม่ใช่ความเป็นจริง ที่อนาคตของประเทศหนึ่ง ๆ จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของตลาดโลก” เขายังประกาศอีกว่า “จากการเฝ้าสังเกต สมมติฐานในเรื่องการค้าเสรีนั้น ผิดอย่างสิ้นเชิง

สุดท้ายนี้ ขอสรุปในเรื่องความเลวร้ายของระบบ “ละโมบนิยม” ด้วยการอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2544 มาเสนอ ดังนี้

“การอยู่พอมีพอกิน ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความก้าวหน้า มันจะมีความก้าวหน้าแค่พอประมาณ ถ้าก้าวหน้าเร็วเกินไป ขึ้นเขายังไม่ถึงยอดเขา หัวใจวายแล้ว หล่นจากเขา…บางทีทับคนอื่น ทำให้คนอื่นต้องหล่นไปด้วย อันนี้ เดือดร้อน”

ที่มาผู้จัดการออนไลน์