ถอดคำพิพากษาภาษี Ep.28 ภาษีกรมสรรพากรประเภทภาษีเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2566

บริษัทจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้ล้มละลาย บริษัทจำเลยย่อมเลิกกันตามป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) แต่ตามมาตรา 1249 ก็ให้พึงถือว่าบริษัทจำเลยยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายลักษณะล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 1247 วรรคแรก ซึ่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป…” แม้บริษัทจำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้ล้มละลายและอยู่ระหว่างจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้บริษัทจำเลยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อยังมิได้มีการแจ้งการเลิกกิจการของบริษัทจำเลยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 บริษัทจำเลยจึงยังมีหน้าที่และความรับผิดในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือบริการแล้วนำส่งกรมสรรพากร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทจำเลยต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรเช่นเดียวกับที่บริษัทจำเลยปฏิบัติก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย

คำถาม

ศาลล้มละลายมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้บริษัทล้มละลาย กรณีจะถือว่าบริษัทได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีหรือไม่ และหากไม่ได้รับยกเว้นจะเป็นหน้าที่ของใครในการยื่นรายการภาษี ?

คำตอบ

แม้บริษัทจำเลยจะถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้ล้มละลายและอยู่ระหว่างจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้บริษัทจำเลยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ

 

เมื่อยังมิได้มีการแจ้งการเลิกกิจการของบริษัทจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรเช่นเดียวกับที่บริษัทจำเลยปฏิบัติก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้บริษัทจำเลยล้มละลาย