รวมภาระภาษีที่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมต้องรู้

รวมภาระภาษีที่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมต้องรู้

สุวัชรีภรณ์ สีพลลา

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

 

โลกปัจจุบันเป็นโลกของการแข่งขันทางการค้าและการลงทุน นักลงทุนจึงแสวงหาทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสม การลงทุนใน “กองทุนรวม” (Mutual Fund) จึงนับเป็นทางเลือกหนึ่งและเป็นเครื่องมือในการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนรายย่อยที่มีความประสงค์จะนำเงินมาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน แต่ติดด้วยข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถลงทุนได้ด้วยตนเอง เช่น มีทุนทรัพย์จำกัดที่จะกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง หรือไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการลงทุน เป็นต้น นักลงทุน จึงเลือกลงทุนในกองทุนรวม เพราะบริหารโดยผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญไปดำเนินการลงทุนแทนตนเอง เพราะกองทุนรวมคือการรวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนรายย่อย เป็นเงินก้อนใหญ่ แล้วนำเงินที่รวบรวมนั้นไปลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน โดยมี บริษัทจัดการกองทุน (Investment Company) ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกองทุนรวมเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการและลงทุนแทน นักลงทุน (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ผู้ถือหน่วยลงทุน (Unit Holder)) โดยบริษัทจัดการกองทุนจะออกหนังสือชี้ชวนเพื่อให้ นักลงทุนพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน หลังจากนั้นจึงออกและเสนอขายหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุน ซึ่งหน่วยลงทุนจะเป็นหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของเงินลงทุนของนักลงทุน เมื่อบริษัทจัดการกองทุนบริหารจัดการจนกองทุนมีผลประโยชน์งอกเงยแล้ว ก็จะนำผลประโยชน์ดังกล่าวมาจ่ายคืนให้กับนักลงทุนตามสัดส่วนที่ได้ลงทุน นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง ผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee) ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบริหารจัดการกองทุนมาทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของนักลงทุนด้วย ทั้งนี้ โครงสร้างของกองทุนรวมปรากฏตามแผนภาพดังต่อไปนี้

อย่างไรก็ตาม นอกจากความเสี่ยงในการลงทุนแล้ว สิ่งที่นักลงทุนมักกังวลและให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ภาระภาษีจากการลงทุนที่นักลงทุนใช้ชั่งน้ำหนักว่าผลตอบแทนที่จะได้รับนั้นคุ้มค่าหรือไม่เพียงไร ซึ่งภาระภาษีของการลงทุนจะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นใครและได้รับผลตอบแทนอะไร ซึ่งมีดังนี้

 

1. กำไรหรือมูลค่าเพิ่มจากการลงทุน หรือเงินได้จากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gains) เช่น ซื้อหน่วยลงทุนไว้ในราคา 10 บาท ต่อมานักลงทุนขายหน่วยลงทุนในราคา 15 บาทต่อหน่วย ย่อมมีกำไรจำนวน 5 บาทต่อหน่วย

 

2. เงินปันผล (Dividend) คือ กำไรที่บริษัทแบ่งจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท กรณีที่มีการระบุในหนังสือชี้ชวนให้ลงทุนของกองทุนรวมว่าเป็นกองทุนรวมที่มีการจ่ายเงินปันผลและได้ประกาศจ่ายเงินปันผลนั้น เงินปันผลที่นักลงทุนได้รับนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งรายได้ที่พึงได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวม

 

โดยภาระภาษีของการลงทุนในกองทุนรวมจะเป็นอย่างไรนั้น อาจพิจารณาได้ใน 2 มิติ คือ

 

1. ในแง่กองทุนรวม

 

กองทุนรวมเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากบริษัทจัดการกองทุน กองทุนรวมจึงไม่ใช่หน่วยภาษี เพราะกองทุนรวมมิใช่นิติบุคคลตามความหมายของมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ดังนั้น รายได้หรือผลตอบแทนที่กองทุนรวมได้รับไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล ดอกเบี้ย หรืออื่นๆ ย่อม ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีของกองทุนรวมแต่อย่างใด 1
 

2. ในแง่นักลงทุน

 

2.1) กรณีนักลงทุนเป็นบุคคลธรรมดา

 

(1) กรณีนักลงทุนเป็นบุคคลธรรมดาผู้อยู่ในประเทศไทย (นักลงทุนไทย)

• หากผลตอบแทนที่ได้รับเป็น “Capital Gains” จะได้ รับยกเว้น 2 ไม่ต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
• หากผลตอบแทนที่ได้รับเป็น “Dividend” เงินปันผลที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) 3 ซึ่งกองทุนรวมจะหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนยินยอมให้กองทุนรวมหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้จากเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก แต่หากผู้ลงทุน มิได้แจ้งความประสงค์ กองทุนรวมก็ไม่มีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่าย และผู้ลงทุนจะต้องนำเงินปันผลไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่น โดยไม่ได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลแต่อย่างใด 4
 

(2) กรณีนักลงทุนเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (นักลงทุนต่างชาติ)

• หากผลตอบแทนที่ได้รับเป็น “Capital Gains” จะ ได้รับยกเว้น 5 ไม่ต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่นเดียวกับกรณีผู้ลงทุนไทย
• หากผลตอบแทนที่ได้รับเป็น “Dividend” ผู้ลงทุนต่างชาติไม่มีสิทธิเลือกที่จะให้หักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ และผู้ลงทุนจะต้องนำเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนรวมดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่น เนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมาย 6 กำหนด นั่นเอง
 

2.2) กรณีนักลงทุนเป็นนิติบุคคล

 

(1) กรณีนักลงทุนเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทย (บริษัทไทย)

• กรณีผลตอบแทนที่ได้รับเป็น “Capital Gains” บริษัทไทยผู้ถือหน่วยลงทุนจึงต้องนำ Capital Gains ดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล 7
• กรณีผลตอบแทนที่ได้รับเป็น “Dividend” บริษัทไทยซึ่งมิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับยกเว้นภาษี เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง 8 ก็ต่อเมื่อ บริษัทไทยถือครองหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนและหลังจากวันที่กำหนดสิทธิผู้ถือหน่วยลงทุนที่จะได้รับเงินปันผล (XD date) แต่หากผู้ลงทุนเป็นบริษัทไทยซึ่งได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะ ได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน 9
 

(2) นักลงทุนเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศ (บริษัทต่างชาติ)

• กรณีผลตอบแทนที่ได้รับเป็น “Capital Gains” หากบริษัทต่างชาติมีการประกอบกิจการในประเทศไทยแล้ว ต้องนำ Capital Gains ดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล 10
แต่หากบริษัทต่างชาติมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย กองทุนรวมไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีนำส่งกรมสรรพากร เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องหักภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร 11

• กรณีผลตอบแทนที่ได้รับเป็น “Dividend” หากบริษัทต่างชาติประกอบกิจการในประเทศไทย ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนรวมดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

แต่หากบริษัทต่างชาติไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย กองทุนรวมไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีนำส่งกรมสรรพากร เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องหักภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

 

 

ตารางสรุปภาระภาษีของสิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับจากกองทุนรวม

 

 

ผู้ถือหน่วยลงทุน

บุคคลธรรมดา

นิติบุคคล

อยู่ในไทย

ไม่ได้อยู่ในไทย

บริษัทไทย

บริษัทต่างชาติ

จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ไม่จดฯ ในตลาดหลักทรัพย์

ประกอบกิจการในไทย

ไม่ประกอบกิจการในไทย

 

Capital Gains

ได้รับยกเว้น

ได้รับยกเว้น

นำมารวมคำนวณภาษีเงินได้

นำมารวมคำนวณภาษีเงินได้

นำมารวมคำนวณภาษีเงินได้

ได้รับยกเว้น

 

Dividend

เลือก

– หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือ

– นำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ แต่ไม่ได้รับเครดิตภาษี

ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้

ได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน *

ได้รับยกเว้นภาษีกึ่งหนึ่ง *

นำมารวมคำนวณภาษีเงินได้

ได้รับยกเว้น

 

* จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีก็ต่อเมื่อ ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนและหลังจากวันที่กำหนดสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลของผู้ถือหน่วยลงทุน

 

ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลที่นำเสนอมานี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น และพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

 

1 เทียบเคียง กค 0811/4725 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 และ กค 0811/11339 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542

2 มาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (32)

3 กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งไม่ใช่กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลตามความหมายของมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

4 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536 ประกอบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545 ข้อ 5

5 มาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (32)

6 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536

7 มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

8 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 263) พ.ศ. 2536 ประกอบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545 ข้อ 7

9 เทียบเคียง กค 0706/11294 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2550 และ กค 0811/2802 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2544

10 มาตรา 66 วรรค 2 แห่งประมวลรัษฎากร

11 เทียบเคียง กค 0811/11339 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542