• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ศาลอาญายกฟ้องเจ้าหน้าที่สรรพากร กรณีไม่เก็บภาษีโอนหุ้นชินของนายบรรณพจน์ อธิบดีศาลอาญาทำความเห็นแย้ง

ศาลอาญายกฟ้องเจ้าหน้าที่สรรพากร กรณีไม่เก็บภาษีโอนหุ้นชินของนายบรรณพจน์ อธิบดีศาลอาญาทำความเห็นแย้ง

นสพ. ไทยรัฐ รายงานว่า วันที่ 26 ก.พ. 2552 เวลา 10.00 น.  ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีที่อัยการ เป็นโจทก์ฟ้องนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อายุ 59 ปี อดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายวิชัย จึงรักเกียรติ อายุ 58 ปี อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร น.ส.สุจินดา แสงชมพู อายุ 57 ปี อดีตนิติกร 9 ชช. น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อายุ 49 ปี อดีตนิติกร 8 ว. และ  น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อายุ 44 ปี อดีตนิติกร 7 ว. เป็นจำเลยที่ 1-5

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร ร่วมกันละเว้น ไม่เรียกเก็บภาษีอากร และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีการโอนหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท

ของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 พ.ย.40 ทำให้รัฐได้รับความเสียหายจากการไม่ได้เก็บภาษีมูลค่า 270 ล้านบาท

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมด ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157 เมื่อเห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่มีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บภาษี ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร หรือเจ้าพนักงานผู้พิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีอากร แต่เป็นเพียงผู้พิจารณาข้อกฎหมายเท่านั้น

แม้ความเห็นของจำเลยจะไม่ตรงกับความเห็นของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. และความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งความเห็นของ คตส. ก็เป็นความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างเท่านั้น ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันได้เป็นเรื่องปกติ

นายสุชาติ วันเสี่ยน คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. พยานโจทก์ เบิกความยอมรับว่า คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจไม่พบว่า จำเลยทั้งห้าได้รับประโยชน์อื่นใดที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยทุจริต และมิได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ราชการให้สูงขึ้นผิดปกติ

ประกอบกับวันที่คุณหญิงพจมานให้หุ้น แก่นายบรรณพจน์นั้นเป็นวันเดียวกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่า ในเวลาต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ข้าราชการกรมสรรพากร จะช่วยเหลือนายบรรณพจน์ในช่วงเวลาดังกล่าว

ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูล ปรากฏว่า มีคำสั่งกระทรวงการคลังให้ไล่จำเลยทั้งหมด ออกจากราชการ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกจากราชการต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลย มีลักษณะเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมาย ยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่า เป็นการดำเนินการ เพื่อเอื้อประโยชน์ ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งแต่ประการใด

จากพยานหลักฐานยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด แต่เนื่องจาก ก.พ. ต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีคำสั่งลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ แต่สำหรับศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ให้เป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมาย บังคับให้ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล ดังนั้น ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจ วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงที่ปรากฏในสำนวน โดยไม่จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล จำเลยทั้งหมดจะมีความผิดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานต่างๆที่ปรากฏ

และจากพยานหลักฐานต่างๆของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้ามีเจตนาทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลับได้ความว่า จำเลยใช้ความรู้ความสามารถ ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มความสามารถตามหน้าที่ โดยไม่มีเจตนาทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด ข้อต่อสู้ของจำเลยรับฟังได้ พิพากษายกฟ้อง

นสพ.มติชน รายงานว่า นายชีพ จุลมนต์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีความเห็นต่างจากองค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญา ที่มีคำพิพากษายกฟ้องในส่วนของนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากรและนายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร จำเลยที่ 1 และที่ 2  และได้ทำบันทึกความเห็นแย้งกับคำพิพากษาขององค์คณะเจ้าของสำนวน แนบท้ายคำพิพากษา ดังนี้

ได้ทำการตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว มีความเห็นต่างจากความเห็นองค์คณะผู้พิพากษา ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 157 เฉพาะในส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เห็นว่า

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (1) คำว่า "โดยทุจริต" หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น จากบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่า บุคคลใดก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้ว

การจะรับฟังว่าบุคคลนั้น มีเจตนาทุจริตหรือไม่นั้น เพียงมีข้อเท็จจริงรับฟังว่า ผู้นั้นได้กระทำหรือละเว้นการกระทำการหนึ่งการใดในหน้าที่ เพื่อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น โดยที่ตนเองไม่จำต้องได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใดๆ บุคคลนั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว

กรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่า การเสนอความเห็นโดยเจ้าพนักงานของรัฐ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่แล้วสมประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหาความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตกรณีใดบ้าง

เห็นว่า หากเป็นการเสนอความเห็นหรือออกคำสั่งใดๆ ภายใต้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล มิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จนเกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งมิได้เจตนา เพื่อให้เกิดการสมประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แม้ว่าการใช้ดุลพินิจดังกล่าว จะทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับประโยชน์ก็ตาม ก็ย่อมไม่เป็นความผิด

ปัญหานี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นเจตนาภายใน แนวการวินิจฉัยและการชั่งน้ำหนัก ต้องอาศัยความรู้สึกของวิญญูชน ความสมเหตุสมผล ตลอดจนพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามาประกอบการพิจารณา 

คดีนี้ข้อเท็จจริงในส่วนที่รับฟังกันได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร รักษาราชการแทนอธิบดี จำเลยที่ 2 เป็น ผอ.สำนักกฎหมาย ได้มีความเห็นว่า การที่นายบรรณพจน์ (ดามาพงศ์) รับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน (ชินวัตร) มูลค่า 738 ล้านบาท ผู้รับโอนไม่ต้องเสียภาษีประมาณ 270 ล้านบาท

จึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่า การเสนอความเห็นดังกล่าว เป็นการเสนอความเห็นโดยสุจริต ภายใต้พื้นฐานของหลักกฎหมาย กฎระเบียบ และอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล ในเรื่องที่วิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ และมีพฤติการณ์ใด บ่งบอกไปในทางไม่สุจริตหรือไม่

จากการตรวจสำนวนอย่างละเอียดพบว่า มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยในพฤติการณ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 ประการแรก ว่าเงินภาษีจำนวน 270 ล้านบาท ที่จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งให้ยุติเรื่อง โดยจำเลยที่ 1 ขณะนั้นเป็นรองอธิบดี รักษาการแทนอธิบดี และจำเลยที่ 2 เป็น ผอ.สำนักกฎหมาย

ควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่ง หรือเสนอความเห็นอย่างละเอียดรอบคอบ ยิ่งกว่าข้าราชการระดับปฏิบัติงาน แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า เพียงแค่รับฟังความเห็นจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นข้าราชการระดับปฏิบัติงาน และมีความเห็นไม่ตรงกับนายชาญยุทธ ปทุมรักษ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลปัญหานี้โดยตรง

จำเลยที่ 1 กลับไม่ให้ความสำคัญกับข้อสังเกตของนายชาญยุทธ ที่เคยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ทบทวนเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะ ผอ.สำนักกฎหมาย ควรจะต้องใช้วิจารณญาณให้ความสำคัญกับข้อสังเกตดังกล่าวด้วย แต่มิได้กระทำ

ประการที่สอง ภายหลังที่นายชาญยุทธ มีความเห็นแตกต่าง ปรากฏว่า นายชาญยุทธ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลประเด็นดังกล่าว และมีความอาวุโสสูงกว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่ง ให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง แล้วมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มาปฏิบัติหน้าที่แทนนายชาญยุทธ และภายหลังมาปฏิบัติหน้าที่แทนไม่กี่วัน ก็ได้ออกคำสั่งในประเด็นปัญหาดังกล่าว ในฐานะรองอธิบดีรักษาราชการแทน

โดยให้ยุติเรื่องซึ่งเป็นคำสั่งในเชิงบริหาร และเป็นคำสั่งที่เป็นคุณกับนายบรรณพจน์ และหลังจากนั้น อีกเพียงไม่กี่วัน จำเลยที่ 1 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดี ในขณะที่จำเลยที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองอธิบดี จึงเห็นว่าคำสั่งทั้งที่ให้นายชาญยุทธ เป็นผู้ตรวจราชการ คำสั่งให้จำเลยที่ 1 เป็นอธิบดี และคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นรองอธิบดี ล้วนแต่เป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี

ประการที่สาม ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งในประเด็นที่เป็นปัญหาอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ และกรณีก็ไม่ได้เร่งด่วน อีกทั้งมูลค่าทางภาษีที่เป็นปัญหาสูงถึง 270 ล้านบาท ประกอบกับจำเลยที่ 1 ขณะนั้น ก็เป็นเพียงผู้รักษาราชการแทนอธิบดี ความเห็นหรือคำสั่งใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ย่อมเปรียบเสมือนคำสั่งของอธิบดี

ซึ่งการทำงานในฐานะรักษาราชการแทน โดยธรรมเนียมประเพณีผู้ทำหน้าที่นั้น จะไม่พึงเสนอความเห็นหรือออกคำสั่งใด ๆ ที่เป็นเชิงนโยบาย หรือเรื่องที่มีความสำคัญ จะพิจารณาเสนอความเห็น ออกคำสั่งในเฉพาะเรื่องเร่งด่วน หรือดำเนินการเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น

การที่จำเลยที่ 1 สั่งเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว โดยให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า โดยธรรมชาติแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นคนทำงานเร็ว ใครเสนองานมา ต้องรีบสั่งให้เสร็จในวันนั้น และเหตุที่ไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการภาษีพิจารณา เพราะว่าขณะนั้นไม่มีคนทำหน้าที่ในคณะกรรมการภาษี จึงเห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล และเป็นเรื่องที่วิญญูชนจะไม่พึงกระทำ

เพราะการสั่งงานเร็วโดยธรรมชาติแล้ว งานนั้นต้องอยู่ในภาวะปกติ ไม่ใช่งานที่มีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะ การสั่งในฐานะรักษาราชการแทน และกรณีเรื่องของคณะกรรมการภาษี หากจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณา ก็ชอบที่จะให้มีการพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นกรรมการ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้กระทำ

เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุเป็น ผอ.สำนักกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง มีลักษณะงานเชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับสูงโดยตรง ก็ให้เหตุผล ต่อกรณีที่ไม่เสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการภาษี

ทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ให้เหตุผลสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการสั่งงานอย่างรวดเร็วว่าถ้าในวันนั้นจำเลยที่ 1 ไม่เป็นผู้สั่งเอง จำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังจะเลื่อนตำแหน่งเป็นรองอธิบดี ก็จะต้องเป็นผู้พิจารณาสั่ง

จึงเห็นว่าคำสั่งใดๆ ก็ตาม ใครจะเป็นผู้สั่ง สั่งเมื่อใด ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้สั่งมีอำนาจหรือไม่ เนื้อหาคำสั่งสมเหตุสมผล หรือมีเจตนาพิเศษ มุ่งเน้นการเอื้อประโยชน์ให้คณะบุคคลใดโดยมิชอบหรือไม่ ช่วงเวลาที่สั่งมีความเหมาะสม และสอดคล้องกับแนวประเพณีปฏิบัติของทางราชการ หรือไม่ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในเรื่องนี้ จึงปราศจากเหตุผล ไม่มีน้ำหนักที่จะนำมารับฟังได้

เมื่อนำเหตุผลทั้ง 3 ประการมารวมกันแล้วเห็นว่า พฤติกรรมการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ย่อมชี้ให้เห็นถึง เจตนาอันแท้จริงของจำเลยทั้ง 2 ทำให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่างมีเจตนาที่จะช่วยเหลือ หรือเอื้อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ให้กับนายบรรณพจน์ เพื่อไม่ต้องเสียภาษีเป็นเงิน 270 ล้านบาท

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

บันทึกความเห็นแย้งคำพิพากษาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนคดีที่จะประกอบไว้ในคำพิพากษา เพื่ออ้างอิงใช้ประโยชน์ในชั้นศาลสูงต่อไป