• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • เผยองค์กรธุรกิจ ใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ฟ้องประชาชน

เผยองค์กรธุรกิจ ใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ฟ้องประชาชน

นายชัยรัตน์ จุมวงศ์ กรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความ กล่าวว่า พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2551 จนถึง มกราคม 2552 หรือ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า จากคดีผู้บริโภคที่มีการฟ้องร้องผ่านศาลทั่วประเทศ มียอดรวม 8 หมื่นคดี แยกเป็นผู้บริโภคฟ้องร้องเพียง 4% เท่านั้น

ขณะที่ผู้ประกอบการใช้สิทธิฟ้องร้องถึง 96% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจสถาบันการเงิน
ฟ้องลูกค้าผิดสัญญาด้านหนี้สิน กู้ยืมเงิน บัตรเครดิตจำนวนมาก การที่ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ในกฎหมาย มากกว่าผู้บริโภค ถือว่าผิดเจตนารมย์ของกฏหมายฉบับนี้ เนื่องจากเจตนารมย์ของกฎหมายฉบับนี้ ต้องการให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากกว่า
ขณะที่การทำงานของศาลเอง ก็มีอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ทั้งบุคลากรและวิธีการพิจารณาคดี

" ปัจจุบันศาลในกรุงเทพ พยายามใช้วิธีการไกล่เกลี่ยระหว่างคู่ความมากขึ้น
แต่บางครั้งคนกลางผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ยังไม่มีความสันทัดพอ
และยังใช้วิธีการตั้งธงว่าใครผิด ถูก มากเกินไป "

ทั้งนี้จากการที่ สคบ. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ใช้หลักการไกล่เกลี่ย
พบว่า
ผู้มาร้องเรียนจำนวนมากที่ประสบผลสำเร็จในการไกล่เกลี่ย ส่วนใหญ่มีมูลค่าสินทรัพย์ไม่สูง และเป็นการร้องเรียนเรื่องบริการสายการบิน
สินค้าเครื่องสำอาง แพทย์ อาหารและโฆษณา
ซึ่งสามารถยุติได้ประมาณ 60-90%
แต่กรณีร้องเรียนเรื่องอสังหาริมทรัพย์ จะมีผลการเจรจาสำเร็จน้อย คือ เพียง
40% เท่านั้น เนื่องจากมีมูลค่าสินทรัพย์สูง
ทำให้การไกล่เกลี่ยสำเร็จได้ยาก

สำหรับจุดอ่อนของกฎหมายฉบับนี้ นายชัยรัตน์ กล่าวว่า 6 เดือนที่ผ่านมา
สภาทนายความประเมินว่า ศาลขยายขอบเขตคดีผู้บริโภคมากเกินไป
จึงทำให้สถาบันการเงิน ใช้กฎหมายเป็นช่องทางในการฟ้องร้องสัญญาเงินกู้และจำนองมากเกินไป ซึ่งใน 8 หมื่นคดี
เป็นการฟ้องร้องลูกค้าผิดสัญญาจำนองจำวนมาก

"สัญญาจำนองที่มี ธอส. เป็นโจทย์ ฟ้องร้องผู้บริโภค
เอาลูกค้าผิดสัญญาจำนวนมาก ทั้งที่ผู้กู้เงินกับองค์กรรัฐ
ไม่น่ารวมเป็นคดีผู้บริโภค จึงมองว่าศาลขยายความกฎหมายมากเกินไป
น่าจะมีการทบทวนใหม่"

นอกจากนั้นประเด็นของกฎหมายคดีผู้บริโภคที่มีสาระสำคัญ ควรใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นหลัก แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนศาล
ศาลกลับไม่ใช้มาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง บางศาลยังให้ผู้บริโภคหาข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเอง ซึ่งเป็นการผิดเจตนารมย์ของกฎหมายฉบับนี้อย่างมาก

"กฎหมายฉบับนี้ ใช้กฎหมายแพ่งเป็นหลักก็จริง แต่ศาลใช้มากเกินไป
ทำให้ผิดวัตถุประสงค์ ขณะที่ผู้บริโภคซึ่งมีเงินน้อย จ้างทนายไม่ได้
จึงควรจะมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผิดเจตนารมย์"

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของกฎหมายจะมีอายุความขยายไปถึง 3-10 ปี
แม้ผู้บริโภคจะเพิ่งรู้ถึงสาเหตุ ก็สามารถฟ้องร้องได้ถึง 10 ปี
และถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะแพ้คดี
แต่ศาลจะสามารถสั่งให้ผู้ประกอบการเก็บสารพิษ หรือสินค้าไม่ปลอดภัยออกไปได้

อีกทั้งกรณีผู้บริโภคถูกฟ้องร้องโดยผู้ประกอบการ
กฎหมายกำหนดให้ฟ้องร้องที่ศาลตามภูมิลำเนาของผู้บริโภคเท่านั้น
ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก
รวมถึงยังสามารถฟ้องร้องได้ด้วยตัวเอง
ไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมวางศาลในครั้งแรก
ทำให้กฎหมายฉบับนี้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างมาก

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า
กรณีผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ตั้งแต่ธันวาคม 2550 –
พฤศจิกายน 2551 มีคดีร้องเรียนทั้งหมด 3,435 คดี พบว่า 5
อันดับแรกเป็นคดีเกี่ยวกับหนี้สินมากถึง 2,300 คดี รองลงมา
เป็นคดีประกันภัย 496 คดี คดีคุณภาพบริการ 217 คดี อสังหาริมทรัพย์ 122
คดี และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 105 คดี

ส่วนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภค 6 เดือน หลังจากใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้
ได้ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้ว 60 คดี
แยกเป็นคดีฟ้องร้องในหมวดประกันภัยและประกันชีวิต 42 คดี
กรณีบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยไม่จ่ายสินไหมทดแทนและปฏิเสธเบี้ยประกัน
นอกจากนั้นกรณีฟ้องร้องโทรคมนาคม 7 คดี เช่น บริษัทเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ
107 บาท เก็บค่าบริการเกินจริง
ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่กล่าวอ้างในโฆษณาและบริการไม่ได้มาตรฐาน

นอกจากนั้นยังมีการเรียกร้องค่าเสียหายทางการแพทย์ 5 คดี
ในเรื่องการรักษาไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เสียชีวิต รักษาโดยประมาท
ทำให้ผู้ทุพพลภาพและคลอดบุตรเสียชีวิต
ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องธุรกิจเช่าซื้อ มาตรฐานผลิตภัณฑ์และผิดสัญญาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ยังมีคดีรอการดำเนินการยื่นฟ้องกับมูลนิธิอีก 32 ราย
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับโทรคมนาคม 17 ราย ประกันภัย 10 ราย การแพทย์ 2
ราย ซานติก้าผับ 2 ราย บริการคลินิคเสริมความงาม 2 ราย

ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
กล่าวถึงประเด็นความกังวลในการใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ยังมีจุดอ่อนใน 2
ประเด็น คือ
คำศัพท์นิยามผู้ประกอบการและผู้บริโภคของกฎหมายฉบับนี้ ยังกว้างเกินไป
ทำให้ขาดความสมดุล ซึ่งอาจเป็นเพราะการเริ่มแรกของพ.ร.บ.
ที่ไม่ได้ให้คำศัพท์นิยามนี้ไว้

"อย่างกรณีธนาคารพาณิชย์ เป็นผู้ซื้อเฟอร์นิเจอร์จากผู้ประกอบการรายย่อย
ซึ่งพอคุณภาพไม่ดี ก็ฟ้องร้องคดีแพ่ง อย่างนี้ไม่ใช่เจตนาของกฎหมาย
เพราะเหมือนกับเป็นการขึ้นชกคนละรุ่น
ซึ่งกฎหมายต้องการคุ้มครองรายย่อยมากกว่า"

นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่เป็นหน่วยงานรัฐเป็นผู้ให้บริการ
ขณะที่ผู้บริโภคเป็นผู้ใช้บริการหรือได้สวัสดิการถูกฟ้องร้อง
ประเด็นเหล่านี้จึงควรปรับปรุง และเลือกทำในสิ่งที่สำคัญก่อน

"กฎหมายนี้ แทนที่จะช่วยผู้บริโภค กลับเอื้อผู้ประกอบการให้เล่นงานผู้บริโภคได้ง่าย และศาลกลายเป็นผู้ตัดสินการชำระหนี้เอากับผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น "

ส่วนกรณีกฎหมายนี้กับวิชาชีพแพทย์ ศ.พิเศษจรัญ ให้ความเห็นว่า
ควรแบ่งแยกกฎหมายอาญา แพ่งและปกครองออกจากกันให้ชัดเจน ไม่ควรนำมาปะปนกัน ในมิติอาญา ไม่ควรเอาแพทย์ไปตัดสินมาตรฐานเดียวกับคดีอาญาทั่วไป
จึงไม่ควรถูกตัดสินเหมือนคดีอาญาทั่วไป
ดังนั้นจึงควรมีกฎหมายคุ้มครองแพทย์เฉพาะ ออกมา

"ถ้าเจตนาของแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วย
แพทย์ผิดพลั้งพลาดยังไม่ถือว่าผิดทางอาญา
จนกว่าจะถึงขั้นประมาทเลินเล่อร้ายแรงและมีเจตนา ควรมีโทษทางอาญา
จึงจำเป็นต้องแยกเป็นกฎหมายพิเศษออกมา เพื่อคุ้มครองวิชาชีพแพทย์"

ในกรณีความรับผิดชอบคดีแพ่งของแพทย์
ต้องยอมรับว่าเมื่อเกิดความเสียหายกับคนไข้ ก็ควรให้ความช่วยเหลือชดใช้และเยียวยา
โดยคดีแพ่งควรให้หน่วยงานหรือโรงพยาบาลที่แพทย์สังกัดเป็นผู้ดูแล
ชดใช้ค่าเสียหายผู้ป่วยแทนและเป็นผู้รับผิดแทนแพทย์
ยกเว้นแต่แพทย์จะมีเจตนาจงใจทำผิดจริง

"รัฐควรร่วมรับผิดชอบทางแพ่งกับผู้ป่วย ห้ามไล่เบี้ยกับแพทย์
ยกเว้นแพทย์จะมีเจตนาทำผิดจริงๆ ส่วนกรณีแพทย์โรงพยาบาลเอกชน
โรงพยายาควรทำประกันภัยเสริมให้กับแพทย์แต่ละคน
และจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ป่วย โดยอาจตั้งระบบกองทุนขึ้นมาจ่าย
แต่กองทุนก็ห้ามไล่เบี้ยกับแพทย์ ยกเว้นแต่จะผิดโดยจงใจ
การจัดระบบแบบนี้จะขีดเส้นหาจุดสมดุลให้กับวิชาชีพแพทย์ให้กับผู้ป่วยด้วย
การแยกกฎหมายออกมา แต่อย่าล้มหรือตัดออกจากกฎหมาย
เพราะการรับผิดของแพทย์จะกระทบกับประชาชน"

ที่มากรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์