สมรักษ์ คำสิงห์ นักมวยประวัติศาสตร์ ล้มละลายแล้วจริงหรือ?

นางสาวพุธระพี วงศ์สิทธิภัทร์
ทนายความ
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
Email: phutrapeew@dlo.co.th

กลายเป็นประเด็นใหญ่ในกระแสสังคมเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดสมรักษ์ คำสิงห์และภรรยา (จำเลยทั้งสอง) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เหตุที่บริษัท บริหารสินทรัพย์ มหานคร จำกัด (โจทก์) ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลนั้น ถือว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายแล้วหรือไม่?

เหตุที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น สืบเนื่องมาจากโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว (มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน) เป็นหนี้จำนวนคนละไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และหนี้นั้นกำหนดจำนวนได้แน่นอน คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมีผลเช่นเดียวกับคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายฯ พ.ศ.2542 มาตรา 24

ผลของคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ทำให้จำเลยทั้งสองหมดอำนาจในการจัดการ จำหน่าย เก็บรวบรวมทรัพย์สินของตน แต่ให้หน้าที่ดังกล่าวเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว รวมไปถึงสิทธิในการฟ้องร้องต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของตน อย่างไรก็ดี จำเลยทั้งสองยังไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลายจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

ก่อนจะถึงวันที่จำเลยทั้งสองเปลี่ยนสถานะเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ซึ่งเปรียบเสมือนการทำความตกลงเรื่องหนี้สินและวิธีการขอชำระหนี้ โดยจะขอชำระหนี้เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่นก็ได้ หลังจากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายเพื่อปรึกษาว่าควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หากไม่มีการประนอมหนี้หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ศาลจะต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนำทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายที่รวบรวมได้ออกขายทอดตลาดเพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายต่อไป

หากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายแล้ว ยังมีช่องทางอื่นเพื่อให้พ้นจากสถานะดังกล่าวหรือไม่? จำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นคำขอประนอมหนี้หลังล้มละลายได้ โดยใช้หลักการเดียวกันกับการยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย แต่หากเคยยื่นคำขอประนอมหนี้ไม่เป็นผลมาแล้ว ก็ไม่อาจยื่นคำขอประนอมหนี้อีกภายในกำหนดเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่การขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล ตามมาตรา 63 แก้ไขโดยมาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10)  พ.ศ.2561 เมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย และส่งผลให้จำเลยทั้งสองมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนได้ต่อไป นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองยังมีสิทธิในการขอปลดจากล้มละลาย หรือขอให้ยกเลิกการล้มละลายได้ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ต่อไป

กรณีที่สมรักษ์ คำสิงห์ รับราชการทหารเรือ ยศนาวาเอก ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้ล้มละลาย ต้องออกจากราชการหรือไม่? บุคคลล้มละลายถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 36 กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 จึงยังไม่ถือว่าสมรักษ์ คำสิงห์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย และยังไม่ต้องออกจากราชการจนกว่าศาลจะพิพากษาให้ล้มละลาย อย่างไรก็ดี จำเลยทั้งสองยังสามารถประกอบอาชีพที่ไม่กระทบถึงกิจการและทรัพย์สินของตนได้ และจะต้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปต่อไป