• ธรรมนิติ
  • /
  • บทความกฎหมาย
  • /
  • บทวิเคราะห์คำสั่งศาลปกครองกลางในคดีไทยสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

บทวิเคราะห์คำสั่งศาลปกครองกลางในคดีไทยสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ชื่อบทความเดิม : บทวิเคราะห์ทางวิชานิติศาสตร์ ต่อคำสั่งศาลปกครองกลางกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ฯ ในคดีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา

ความนำ

เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้ออกคำสั่ง กำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีที่คุณสุริยะใส กตะศิลาและคณะ เป็นผู้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบและลงนาม(ในแถลงการณ์)ร่วมไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร พร้อมทั้งขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้แถลงการณ์ร่วมสิ้นผลชั่วคราว รวมทั้งให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสิ้นผลชั่วคราว และให้ผู้ถูกฟ้องแจ้งการยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมต่อองค์การยูเนสโกไว้ชั่วคราว

ศาลได้นัดไต่สวนคู่กรณีแล้ววินิจฉัยว่า “จึงมีคำสั่งห้าม มิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการใดๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (มติคณะรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาและการดำเนินการตามมติดังกล่าว จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น”

1.ปฏิกิริยาและผลของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

เมื่อข่าวคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเผยแพร่ออกไป ฝ่ายผู้ฟ้องคดีย่อมต้องดีใจเป็นธรรมดา เหมือนๆกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ร่วม ฝ่ายรัฐบาลเองก็คงเดือดเนื้อร้อนใจตามควร แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว มีความรู้สึกระคนกันระหว่างความแปลกใจและความไม่แน่ใจ !

ที่ว่า “แปลกใจ” ก็เพราะเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและคำขอคุ้มครองชั่วคราว ในคดีที่มูลนิธิข้าวขวัญและคณะ ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยศาลปกครองกลางอ้างว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า มีวัตถุประสงค์ให้ศาลเพิกถอนกระบวนการเข้าทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในทางกิจการระหว่างประเทศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะรัฐมนตรี) ในฐานะฝ่ายบริหาร อันมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองตาม มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 …..ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา…..

ต่อมามีการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง โดยศาลปกครองสูงสุดได้ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง “การใช้อำนาจทางปกครอง” ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด อันอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลปกครอง ว่าแตกต่างจาก “การใช้อำนาจบริหารของรัฐตามรัฐธรรมนูญ

กระทำการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในความสัมพันธ์กับรัฐสภา หรือการกระทำในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำในฐานะที่เป็น “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” อันมิได้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง แล้วศาลปกครองสูงสุดก็สรุปว่า “ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีดำริไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ชอบแล้ว ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย” (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2550)

ที่ว่า “ไม่แน่ใจ” ก็เพราะผู้เขียน เรียนกฎหมายมหาชนมาและสอนกฎหมายมหาชนอยู่จนทุกวันนี้ ก็สอนอย่างที่ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางตัดสินไว้เมื่อปี 2550 นั่นเองว่า “การกระทำของรัฐบาล” (act of government) ในความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับรัฐสภาก็ดี ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศก็ดี ศาลไม่อาจควบคุมได้

เมื่อศาลปกครองกลางกลับแนวคำพิพากษาของท่านเอง และของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินเมื่อปีที่แล้ว โดยออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีแถลงการณ์ร่วมนี้ จึงทำให้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ศาลปกครองไทยจะมีบรรทัดฐานในเรื่องนี้อย่างไรแน่ ซึ่งท้ายที่สุดคงต้องรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่า จะยึดบรรทัดฐานเดิมหรือจะเปลี่ยนบรรทัดฐาน ซึ่งศาลกระทำได้เพราะในระบบกฎหมายไทยไม่ได้ยึด doctrine of precedent อย่างศาลอังกฤษหรือศาลอเมริกา

แต่ผลของคำสั่งศาลปกครองดังกล่าวก่อให้เกิดผล ดังนี้

1.กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกการสัมมนาที่จะจัดขึ้นเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ รวมทั้งยกเลิกสมุดปกขาวที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด อธิบดีกรมสนธิสัญญาที่รับว่าจะไปอภิปรายเรื่อง “การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร : ปัญหากฎหมายและอธิปไตยของชาติ” เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและสถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้น ยกเลิกการมาร่วมอภิปราย

2.ถ้าไม่มีการอุทธรณ์ หรืออุทธรณ์ แต่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำสั่งหรือยืนตามศาลชั้นต้น คงจะไม่มีผู้แทนรัฐบาลไทยไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ควิเบกระหว่างวันที่ 2-10 กรกฎาคมนี้ กัมพูชาก็คงจะนำเสนอการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปแต่ผู้เดียว

3.ไม่แน่ใจว่า ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย ในการเจรจาต่อรองกับรัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ก็ดี หรือจะดำเนินการก็ดี จะเหลือเพียงใด? เพราะมีความ “ไม่แน่นอน” ในสถานะของข้อตกลงที่กำลังทำหรือจะทำ ว่าจะถูกเพิกถอนหรือไม่

เมื่อพิเคราะห์เหตุและผลด้วยความระมัดระวังและด้วยความกังวลแล้ว ผู้เขียนตัดสินใจเขียนบทความวิชาการนี้ขึ้น เพื่อวิเคราะห์คำสั่งศาลปกครองดังกล่าว ทั้งนี้แม้ว่าจะเคารพต่อคำสั่งและความเห็นของศาลก็ตาม

2.หลักกฎหมายมหาชนเรื่อง “การกระทำของรัฐบาล” (act of government)

ในกฎหมายมหาชนถือว่า คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมี 2 ฐานะ หรือพูดภาษาชาวบ้านคือมีหมวก 2 ใบ

ในฐานะแรก คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็น “ฝ่ายบริหาร” ซึ่งใช้อำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ อยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนปวงชน และมีอำนาจยุบสภาโดยถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ได้ การควบคุมตรวจสอบการกระทำในฐานะนี้จึงเป็น “การควบคุมทางการเมือง” (political accountability)” ตามหลักประชาธิปไตย และอยู่ในบังคับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายปกครอง

ในฐานะที่สอง คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า “ฝ่ายปกครอง” ซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เหมือนๆ กับที่ปลัดกระทรวง อธิบดี ข้าราชการทั้งหลายต้องดำเนินการ จะต่างกันก็ตรงที่ข้าราชการประจำเป็น “ผู้ใต้บังคับบัญชา” (หรือลูกน้อง) คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็น “ผู้บังคับบัญชา” (หรือหัวหน้าของฝ่ายปกครอง อันเป็นเรื่องกฎหมายปกครอง การควบคุมตรวจสอบการกระทำในฐานะหัวหน้าของฝ่ายปกครองนี้จึงเป็น “การควบคุมโดยกฎหมาย(control of legality) ตามหลักนิติธรรม

ดังนั้น ตามหลักกฎหมายมหาชนถือว่า ถ้าคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในความสัมพันธ์กับสภา เช่น เสนอหรือไม่เสนอกฎหมาย เปิดหรือปิดสมัยประชุม ลงมติไม่ไว้วางใจ ยุบสภา ฯลฯ ก็ดี หรือใช้อำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ประกาศสงคราม ลงนามในสนธิสัญญา ให้สัตยาบันสนธิสัญญา ดำเนินการเจรจากับต่างประเทศ ศาลไม่ว่าศาลใดก็จะไม่เข้าไปควบคุม เพราะมีการควบคุมทางการเมืองตามหลักการประชาธิปไตย และความรับผิดชอบต่อสภาและต่อประชาชนอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลปกครองจะไปใช้กฎหมายปกครองมาควบคุม

ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศส ถือหลักไม่ควบคุมการกระทำของรัฐบาลมากว่า 100 ปี มีคำพิพากษากว่า 100 คำพิพากษา เช่น ในคดี Tallagrand (CE 29 Nov. 1968) ศาลตัดสินว่าการเสนอหรือไม่เสนอกฎหมาย หรือการถอนร่างกฎหมาย เป็นการกระทำของรัฐบาล มาฟ้องศาลไม่ได้ ในคดี Desreumrux (CE 3 Nov. 1933) ศาลตัดสินว่า การประกาศกฎหมาย มาฟ้องศาลไม่ได้ ในอีกคดีศาลตัดสินว่าการขอหรือไม่ขอประชามติ ฟ้องศาลไม่ได้ (CE 29 April 1970 Comit? des Ch?muns de la Marne)

ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า คดีที่เกิดจากการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นการกระทำของรัฐบาลฟ้องศาลไม่ได้ (CE 13 July 1979 Coparex) ฟ้องศาลไม่ให้รัฐบาลให้สัตยาบันสนธิสัญญาไม่ได้ (CE 5 Feb. 1926 Dame Caracs) การที่รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งให้ส่งสัญญาณกวนสถานีวิทยุอันดอร์รารัฐเล็กๆ ในพรมแดนฝรั่งเศส สเปน เป็นการกระทำของรัฐบาล ศาลไม่รับฟ้อง (TC 2 Feb. 1950 Soc. Radio de Bollardi?re)

แต่ถ้าจะยกคำพิพากษาศาลปกครองต้นแบบของโลก ก็คงจะยกได้อีกหลายหน้า แต่เหลียวไปดูในอังกฤษหรืออเมริกาก็ถือหลักนี้
คดีแรกในอังกฤษคือ คดีดุ๊กออฟยอร์คฟ้องศาลเพราะเป็นปัญหาการเมือง (political question) (คดี The Duke of Yorke”s Claim to the Crown, 5 Rotuli Par 375 (ปี 1460) ต่อมาทฤษฎีนี้ พัฒนามาเป็น “การกระทำของรัฐ” (act of state) เช่นในคดีที่กองทัพเรืออังกฤษทำลายอาคารชาวสเปนซึ่งเป็นผู้ค้าทาส ศาลไม่รับฟ้องเพราะเป็นการกระทำของรัฐ (act of state) (คดี Buron V. Denman (1848) 2 Ex. (67) ศาลอังกฤษไม่รับฟ้องคดีที่อ้างว่า ผู้ฟ้องควรมีสิทธิในเอกสิทธิ์ทางการทูต (immunity) เพราะเป็น “การกระทำของรัฐ” (Agbor V. Metropolitan Police Commissioner (1969)) W.L.R. 703 ฯลฯ

ศาลอเมริกันก็ไม่รับ ดังปรากฏในคดี Colenaan V. Miller (307 U.S. 433 (1934) ประธานศาล Itughes วินิจฉัยว่า “ในการวินิจฉัยว่าปัญหาใดเป็นปัญหาการเมือง (political question) นั้น…ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจโดยองค์กรทางการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีผลผูกพันศาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน” โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคดี Octjen V. Central Leather Co. 246 U.S. 297 ว่า “การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลนั้น รัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองและอะไรก็ตาม ที่กระทำในการใช้อำนาจการเมืองนี้ ย่อมไม่ถูกควบคุมโดยศาล”

ความจริง หลักที่ว่าศาลจะไม่ควบคุมการกระทำของรัฐบาลนี้ ปรากฏในตำรากฎหมายปกครองทุกเล่ม แม้แต่ในหนังสือที่สำนักงานศาลปกครองนิพนธ์เรื่อง “ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีเปรียบเทียบ” ในการประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2550 ที่กรุงเทพฯเองก็ระบุไว้ชัดในหน้า 219 ว่า

“โดยทั่วไป แนวคิดเรื่อง “การกระทำของรัฐบาล” ซึ่งมีเอกสิทธิ์ที่จะไม่ถูกตรวจสอบความชอบธรรมด้วยกฎหมาย เป็นที่ยอมรับ แม้ว่าขอบเขตจะถูกจำกัดก็ตาม ในทางปฏิบัติ มี 2 กรณีที่ใช้แนวความคิดดังกล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ในเรื่องเหล่านี้ ศาลปกครองสูงสุดแต่ละประเทศจะมีแนวทางในการ (ไม่รับพิจารณา) ของตนเอง”

ศาลไทยเองก็ถือหลักนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ดังกล่าวแล้ว หรือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวินิจฉัยชัดเจนว่า การยุบสภาเป็นการกระทำของรัฐบาล ซึ่งศาลไม่ควบคุม

3.หลักกฎหมายมหาชนเกี่ยวกับการแยกหน้าที่ศาล (ผู้ควบคุม) ออกจากหน้าที่ดำเนินการบริหารของฝ่ายปกครอง

หลักกฎหมายมหาชนสำคัญอีกหลักหนึ่งก็คือ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่ศาลปกครองไม่มีหน้าที่บริหาร มีเพียงหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย

หลักนี้สำคัญมาก เพราะถ้าศาลปกครองสามารถ “สั่ง” ฝ่ายปกครองได้ทุกเรื่อง ก็เท่ากับศาลลงมาบริหารราชการแผ่นดินเสียเอง ซึ่งจะกลายเป็น “ศาลเป็นรัฐบาล” (government of judge) และฝ่ายปกครองจะเป็นเพียงลูกน้อง
อนึ่ง ศาลเองก็ไม่มีความรู้ทางเทคนิคทุกด้านด้วย พอที่จะลงไปควบคุมสั่งการทุกเรื่อง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีหลักกฎหมายสำคัญว่า ศาลจะไม่ควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะดุลพินิจเทคนิค (technical discretion) เช่น จะตัดถนนไปทางไหนดี สิ่งเหล่านี้เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุหรือไม่ งานวิชาการชิ้นนี้ได้มาตรฐานงานวิชาการที่ดีหรือไม่

ยิ่งเป็นเรื่องการต่างประเทศด้วยแล้ว ศาลในระบบคอมมอนลอว์ก็ดี ศาลในระบบประมวลกฎหมาย (civil law) ก็ดี จะไม่ยอมตีความสนธิสัญญาเอง โดยไม่ขอความเห็นกระทรวงการต่างประเทศเป็นอันขาด เพราะศาลประเทศเหล่านั้นทราบดีว่า ท่านเองไม่ได้รู้บริบทของการเจรจา ไม่รู้เจตนารมณ์ของคู่กรณีในสนธิสัญญา ดังนั้น หากต้องตีความสนธิสัญญา ศาลประเทศเหล่านี้ จะส่งเรื่องไปขอความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ศาลของประเทศเหล่านี้ จะไม่คุมการกระทำของรัฐบาลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอันขาด!

4.จะทำอย่างไรต่อไป?

เมื่อวิเคราะห์มาทั้งหมดนี้ แม้ผู้เขียนจะเคารพศาลปกครองกลางเพียงใด ผู้เขียนก็ไม่อาจเห็นพ้องกับความตอนท้ายคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ว่า “หากศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิจารณาแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ และยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่ยังคงสงวนสิทธิ โต้แย้งคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเขาพระวิหารไว้เช่นเดิม จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาไว้”

ผู้เขียนไม่แน่ใจในข้อความที่ว่า ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้วไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ เพราะข้อเท็จจริงดังได้กล่าวแล้วเกิดผลตรงกันข้าม คือการดำเนินการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงของกระทรวงการต่างประเทศก็ยุติลง ทั้งไม่ได้หมายความว่า กัมพูชาจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียวได้ อย่างที่เราอาจเข้าใจเช่นนั้น แต่คณะกรรมการมรดกโลกซึ่งมีกรรมการจาก 21 ประเทศ อาจไม่เห็นเช่นเดียวกับเราก็ได้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอว่า

1.กระทรวงการต่างประเทศควรอุทธรณ์คำสั่งนี้โดยด่วน เพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด แล้วจึงค่อยดำเนินการตามนั้น

2.ศาลรัฐธรรมนูญควรเร่งพิจารณาคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาและฝ่ายค้านว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 190 คือเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบหรือไม่? หากต้องดำเนินการ คณะรัฐมนตรีก็ต้องเสนอแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ให้รัฐสภาพิจารณาโดยด่วนที่สุด และแจ้งให้คณะกรรมการมรดกโลกทราบว่า ประเทศไทยยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนภายในของเรา จึงยังไม่อาจใช้แถลงการณ์ร่วม ประกอบการพิจารณาทางคณะกรรมการมรดกโลกได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐต่างประเทศเข้าใจและยอมรับกันเสมอมา

ผู้เขียนได้แต่ภาวนาว่า เพื่อผลประโยชน์ของประเทศและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย ในการเจรจากับรัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศในอนาคต ศาลปกครองสูงสุดน่าจะยืนตามบรรทัดฐานเดิม อันจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยในสายตาสังคมโลกยังคงมีอยู่เหมือนเดิมทุกประการ

 

ที่มา: บทความในมติชนรายวัน วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11073

หมายเหตุ : บวรศักดิ์ อุวรรณโณ : ราชบัณฑิต  ศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า