เตรียมพร้อมรับมือพ.ร.บ. Transfer Pricing คาด บังคับใช้จริงปีหน้า

นางสาวเรณุกา ทองไพรวรรณ
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

 

เตรียมพร้อมรับมือพ.ร.บ. Transfer Pricing คาด บังคับใช้จริงปีหน้า

          หลังจากคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. …เรื่อง มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 63/2561 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2561 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ. Transfer Pricing แล้วลงมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในปี 2562

          โดยร่างพ.ร.บ. Transfer Pricing เกิดขึ้นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกำหนดราคาโอนสำหรับธุรกรรมระหว่างนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และเข้าข่ายลักษณะการขายสินค้าหรือให้บริการระหว่างกันโดยมีการถ่ายโอนกำไรเพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีอากรที่พึงต้องเสีย ซึ่งร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

          1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน หมายถึง นิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปที่มีความสัมพันธ์ในทางโครงสร้างการถือหุ้น ได้แก่ กรณีที่หนึ่ง นิติบุคคลหนึ่ง ถือหุ้นในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด กรณีที่สอง คือ ผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลหนึ่งไม่น้อยว่าร้อยละ 50 ไปถือหุ้นในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หรือ นิติบุคคลหนึ่งมีความสัมพันธ์ในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมในอีกนิติบุคคลหนึ่งในลักษณะที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดนอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่ง

          2. นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน หากมีข้อกำหนดด้านการพาณิชย์หรือการเงินระหว่างกันแตกต่างไปจากที่ควรได้กำหนด ในลักษณะที่เชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของนิติบุคคลดังกล่าวให้เหมาะสม เพื่อใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิ

          3. นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน จะต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบบัญชีตามที่อธิบดีกำหนด หากไม่จัดทำรายงานหรือจัดทำรายงาน แต่แสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยไม่มีเหตุอันสมควร จะมีโทษในทางอาญา กล่าวคือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท

          4. เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดี อาจส่งหนังสือแจ้งแก่นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันเพื่อขอเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นเพิ่มเติมภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นิติบุคคลได้ยื่นรายงานข้อมูลและมูลค่าธุรกรรม โดยนิติบุคคลจะต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น อธิบดีจะอนุญาตให้ขยายกำหนดเวลาออกไปได้ แต่ไม่เกิน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความ

          5. นิติบุคคลที่มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการไม่เกิน 200 ล้านบาท ไม่ต้องจัดทำรายงานข้อมูลและมูลค่าธุรกรรมระหว่างนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ต้องจัดทำรายงาน ก็ยังต้องมีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์หรือการเงินระหว่างนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันไม่แตกต่างไปจากที่ควรได้กำหนด หากได้ทำธุรกรรมกับบริษัทที่เป็นอิสระ หากแตกต่าง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายให้เหมาะสมเพื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

          6. หากนิติบุคคลถูกเจ้าพนักงานประเมินปรับปรุงรายได้และรายจ่าย เป็นเหตุให้นิติบุคคลต้องชำระภาษีหรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งเป็นจำนวนที่เกินกว่าต้องเสีย หรือ ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย นิติบุคคลดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี หรือ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายจากเจ้าพนักงานประเมินเป็นหนังสือ

          ร่างพ.ร.บ. Transfer Pricing ดังกล่าว เมื่อผ่านการพิจารณาและลงมติของสนช.แล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อพระองค์จะทรงลงพระปรมาภิไธยในลำดับต่อไป

          ในระหว่างที่ร่างพ.ร.บ.Transfer Pricing อยู่ในขั้นตอนเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจึงควรเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องการกำหนดข้อกำหนดระหว่างนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันในเรื่องการทำธุรกรรมหรือการเงินระหว่างกัน ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ดังเช่นกรณีนิติบุคคลทำธุรกรรมกับนิติบุคคลอื่นที่เป็นอิสระต่อกัน รวมถึงการจัดเตรียมเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นรายงานข้อมูลความสัมพันธ์และมูลค่าธุรกรรม เพื่อให้พร้อมรับกฎหมายใหม่ที่กำลังจะออกมาบังคับใช้ในไม่ช้า เพราะหากนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันไม่ว่าจะในทางโครงสร้างผู้ถือหุ้นหรือด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุม มีการทำธุรกรรมระหว่างกันในลักษณะที่มีการถ่ายโอนกำไรโดยมีข้อกำหนดด้านการพาณิชย์หรือการเงินระหว่างกันแตกต่างกับกรณีทำธุรกรรมกับบริษัทที่เป็นอิสระ อาจถูกเจ้าพนักงานประเมินปรับปรุงรายได้และรายจ่ายให้เหมาะสม เป็นเหตุให้กิจการของท่านต้องเสียภาษีในจำนวนที่มากขึ้น อีกทั้งหากกิจการของท่านเข้าลักษณะที่จะต้องจัดทำรายงานข้อมูลความสัมพันธ์ของนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกัน แล้วนิติบุคคลใดไม่จัดทำรายงาน หรือจัดทำไม่ถูกต้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร อาจมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา คือ ระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และมิใช่ว่าจ่ายค่าปรับ 2 แสนบาทแล้ว เรื่องจะจบลงง่ายๆ เนื่องจากกิจการที่ถูกประเมิน ยังมีความเสี่ยงที่จะเสียภาษีเพิ่มเติมจากธุรกรรมที่ทำระหว่างกัน เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากการถูกประเมินของเจ้าหน้าที่สรรพากรอีกด้วย

          ดังนั้น การเตรียมความพร้อมจึงเปรียบดั่งการป้องกันปัญหาไว้ล่วงหน้า โดยการจัดเตรียมเอกสารอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่สำคัญ หากท่านต้องการเตรียมความพร้อมให้เหมาะสม ท่านอาจปรึกษานักกฎหมายหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสิ่งนี้คือวิธีลดความเสี่ยงที่ดีที่สุด

สนใจบริการด้านที่ปรึกษาภาษี กรุณาสอบถามรายละเอียดบริการเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
02-6809753 ,02-6809708 , 02-6809760