พนักงานได้รางวัลจากบริษัทต้องเสียภาษีหรือไม่

พนักงานได้รางวัลจากบริษัทต้องเสียภาษีหรือไม่

 

เมษยา  สีลาวรรณ

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

 

ในปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจในประเทศไทยนั้นนับวันยิ่งมีความดุเดือดมากขึ้น หากองค์กรหยุดนิ่งหรือไม่พัฒนาเท่าที่ควร ก็อาจส่งผลต่อความอยู่รอดขององค์กรได้ ดังนั้น ผู้บริหารในแต่ละองค์กรจึงต้องวางแผนสร้างหนทางให้ธุรกิจของตนเองอยู่รอดและพัฒนาเหนือคู่แข่งให้ได้ และปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาขององค์กรก็คือ การมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมาทำงานในองค์กร และเมื่อได้บุคลากรดังกล่าวมาแล้ว จะทำอย่างไรเพื่อดึงดูดให้บุคลากรเกิดความรู้สึกรักและอยากทำงานให้กับองค์กรไปนานๆ ซึ่งแน่นอนว่าการมีสวัสดิการที่ดีและเหมาะสมเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงดึงดูดให้พนักงานอยากทำงานกับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง หรือสวัสดิการอื่นๆ เช่นมีรางวัลพิเศษจากการจัดแข่งขันกีฬาภายในบริษัท ซึ่งผู้เขียนขอหยิบยกประเด็นทางภาษีอากรของเงินรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันกีฬาภายในบริษัท

หลายท่านคงมีข้อสงสัยว่า หากมีรางวัลตอบแทนแก่ผู้ชนะการแข่งขัน เงินรางวัลที่พนักงานได้รับดังกล่าว จะถือว่าเป็นเงินได้[1]  ที่พนักงานต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีหรือไม่ และในฐานะเป็นผู้จ่ายเงินบริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายได้อย่างไร ผู้เขียนมีเกร็ดความรู้ที่นำมาแบ่งปันดังนี้ค่ะ

กรณีที่พนักงานได้รับเงินรางวัลจากการแข่งขันกีฬาที่บริษัทจัดขึ้น ถือเป็นประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากการจ้างแรงงาน[2] อันเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี ซึ่งบริษัทเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งสรรพากร ทั้งนี้ ควรจะมีการจัดทำระเบียบข้อบังคับของบริษัท เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมและเงินรางวัลเพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงานเป็นการทั่วไป ไม่เลือกปฏิบัติ คือ พนักงานทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมแข่งขันชิงรางวัล ต่อมาเมื่อพนักงานได้รับเงินรางวัล จึงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และบริษัทในฐานะเป็นผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าว ย่อมมีหน้าที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย[3] แต่บริษัทจะหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร หลายท่านคงมีข้อสงสัยว่า

กรณีพนักงานได้รับรางวัล เสียภาษีต่างกับ กรณีประกวดแข่งขันชิงรางวัลหรือไม่

ขอเรียนว่า เงินรางวัลที่ได้จากการแข่งขันชิงรางวัล เช่น รางวัลจากการแข่งขันเกมส์โชว์ ในรายการโทรทัศน์ ถือเป็นเงินได้เนื่องจากการประกวดแข่งขัน[4]  เป็นเงินได้คนละประเภทกันกับเงินรางวัลของพนักงานที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เหมือนกัน และเงื่อนไขในการหักภาษี ณ ที่จ่ายก็แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง  เงินรางวัลที่ได้จากการแข่งขันเกมส์โชว์ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 [5] ส่วนเงินรางวัลที่พนักงานได้รับจากบริษัท จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีแบบก้าวหน้า[6] นอกจากนี้พนักงานยังมีหน้าที่ต้องนำเงินได้จากรางวัลดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง และสามารถนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้มาเป็นเครดิตภาษีได้

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า การแยกประเภทของเงินได้ให้ถูกต้องนับเป็นสิ่งสำคัญและต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณา ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในทางภาษีอากร ซึ่งหากมีการคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีผิดประเภท อาจส่งผลให้บริษัทซึ่งเป็นผู้จ่ายต้องร่วมรับผิดกับพนักงานในจำนวนภาษีที่ขาดไป และอาจจะต้องรับผิดในการเสียเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่ม[7]จากเหตุดังกล่าวด้วย ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะอยู่ในฐานะเป็นผู้จ่ายเงินได้หรือผู้มีเงินได้ ก็ควรทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายภาษีอากร เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาและป้องกันความผิดพลาดที่เกิดจากการคำนวณภาษีในภายหลัง

 

สนใจบริการด้านที่ปรึกษาภาษี กรุณาสอบถามรายละเอียดบริการเพิ่มเติมได้ที่

02 – 6809753, 02 – 6809708, 02 – 6809760

 


[1] ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

[2] ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร

[3] ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

[4] ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

[5] ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากรประกอบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528

[6] อัตราก้าวหน้า คือ อัตราการเสียภาษีจะสูงขึ้นเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น

[7] ตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร