ภาษีมูลค่าเพิ่ม เรื่องใกล้ตัวผู้ขายสินค้าและให้บริการ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม เรื่องใกล้ตัวผู้ขายสินค้าและให้บริการ

 

เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 30 กันยายน 2561 โดยกฎหมายกำหนดให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีขายสินค้า ให้บริการ และนำเข้า ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร จากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 6.3 แต่เมื่อรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 67 แล้ว มีอำนาจเรียกเก็บเพิ่มอีก 1 ใน 9 ของภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มอีกร้อยละ 0.7 (6.3/9) จึงเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้นร้อยละ 7 ของราคาสินค้าหรือค่าบริการ

จากการนำเสนอของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ที่ว่าลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 6.3 เป็นที่กล่าวถึงในสังคมอย่างแพร่หลาย ว่าแท้จริงแล้วอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมีอัตราเท่าใด ลดลงจากร้อยละ 7 จริงหรือไม่และจะเป็นไปในทิศทางใด บทความฉบับนี้ผู้เขียนประสงค์จะให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั้งหลายได้เข้าใจว่า แม้ตามประมวลรัษฎากรจะกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้อัตราร้อยละ 10 ก็ตาม แต่การลดหรือยกเว้นภาษีนั้น สามารถทำได้โดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา [1] ดังนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งในปี 2540 ก็เคยเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 10 แต่หลังจากนั้นก็ลดอัตราภาษีมาโดยตลอด

นอกจากนี้แล้ว ผู้เขียนยังต้องการให้ผู้ประกอบการทั่วไปได้เข้าใจและตระหนักเห็นถึงความสำคัญและภาระหน้าที่ของผู้ประกอบการที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบัน มีการขายสินค้าหรือให้บริการเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีขายสินค้าหรือให้บริการที่มีหน้าร้านหรือทางออนไลน์ และไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเดิมหรือผู้ประกอบการรายใหม่ แต่ท่านรู้หรือไม่ว่าการขายสินค้าหรือให้บริการลักษณะใดบ้าง ที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ให้ความหมายของผู้ประกอบการไว้ [2] หมายถึง ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือเป็นอาชีพ ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงแต่เฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นบริษัท หรือนิติบุคคลเท่านั้น บุคคลธรรมดาหากขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือเป็นปกติธุระ ก็เป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน

ผู้ประกอบการย่อมมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่ กรณีได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม [3] หรือไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการหรือนำเข้าสินค้า และ มีรายได้ จากการขายสินค้าหรือให้บริการรวมกัน ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี [4] หากไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการ ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามกฎหมายดังนี้

1. จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท [5]

2. ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ. 30) พร้อมกับชำระภาษีเป็นรายเดือน โดยให้ยื่นและชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป [6]

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการดังกล่าวละเลยไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดข้างต้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินให้ผู้ประกอบการดังกล่าวต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง [7] ตลอดถึงประเมินให้ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม [8] ได้อีกด้วย

จึงเห็นได้ว่า การละเลยไม่ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว แม้กิจการจะมีผลประกอบการที่ดี แต่หากถูกเจ้าพนักงานประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ย่อมส่งผลเสียต่อรายได้และผลกำไรที่ได้รับมาก่อนๆ อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี หากท่านผู้ประกอบการทั้งหลายเริ่มต้นทำธุรกิจและคาดหมายได้ว่าท่านจะ มีรายได้ต่อปีสูงถึง 1.8 ล้านบาท ท่านสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ หรือก่อนมีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีได้ [9] และเมื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ก็มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายสำหรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแม้มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีก็ตาม ซึ่งหากท่านจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน ย่อมมีสิทธินำภาษีซื้อที่ซื้อทรัพย์สินต่างๆ เพื่อประกอบกิจการมาใช้เป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่หากท่านเลือกจดทะเบียนเมื่อมีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาท ท่านจะไม่สามารถย้อนไปใช้ภาษีซื้อดังกล่าวที่จ่ายไปก่อนวันที่ท่านจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ดังนั้น ผู้ประกอบการทั้งหลาย จึงควรตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของภาระหน้าที่ดังกล่าวแล้วหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการเอง

 


[1] มาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร

[2] มาตรา 77/1 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

[3] มาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร

[4] มาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548

[5] ตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร

[6] มาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร

[7] มาตรา 88 แห่งประมวลรัษฎากร

[8] มาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร

[9] มาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร