สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการใช้เครื่อง EDC

การติดตั้งเครื่อง EDC ไม่ได้มีประโยชน์ในการรองรับความต้องการของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดการทุจริต นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำหนดสิทธิประโยชน์ในทางภาษีและจัดให้มีเครื่องมือส่งเสริมให้มีการใช้เครื่อง EDC โดยออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 640) พ.ศ.2560 กำหนดเป็นหลักเกณฑ์โดยสรุปได้ดังนี้

 

ลักษณะของเครื่อง EDC

1.เป็นอุปกรณ์รับชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการลงทุนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชําระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติหรือผู้ที่คณะกรรมการดังกล่าวมอบหมาย และได้ใช้จริงในโครงการดังกล่าว

2.ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน

3.เป็นอุปกรณ์ที่หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ และอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

4.ต้องมีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันที่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ เว้นแต่ถูกทําลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ

5.ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (กรณีนี้หมายความว่าห้ามใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีซ้ำซ้อน)

6.ไม่เป็นทรัพย์สินที่นําไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

 

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

1.ด้านธนาคารเจ้าของเครื่อง EDC

เมื่อเครื่องเข้าลักษณะตามที่กล่าวมาข้างต้น ธนาคารเจ้าของเครื่องจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยสามารถคำนวณกำไรสุทธิโดยหักรายจ่ายได้อีก 1 เท่าสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าลงทุนในเครื่อง EDC โดยธนาคารต้องจ่ายลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 ธันวาคม 2561 และธนาคารต้องไม่เรียกเก็บค่าเช่าเครื่อง EDC นั้น และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรจะประกาศกำหนดต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารเจ้าของเครื่อง EDC ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้วต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในรอบบัญชีใด สิทธิที่จะได้รับยกเว้นย่อมสิ้นสุดลง และธนาคารจะต้องไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมโดยนำรายจ่ายที่เคยใช้สิทธิหักเพิ่มดังกล่าวไปถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นนั้น ยกเว้นกรณีเครื่อง EDC ถูกทำลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ

โดยธนาคารผู้มีสิทธิให้บริการประกอบ ด้วย 1) ธนาคารกรุงไทย 2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

3) ธนาคารทหารไทย 4) ธนาคารไทยพาณิชย์ 5) ธนาคารธนชาติ 6) ธนาคารกรุงเทพ และ 7) ธนาคารกสิกรไทย

2.ด้านร้านค้าผู้ใช้บริการเครื่อง EDC

ร้านค้าผู้ใช้บริการเครื่อง EDC จากธนาคารจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากจำนวนรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการใช้เครื่อง EDC สำหรับการรูดบัตรเดบิตตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 ธันวาคม 2564 ดังนี้

2.1 บุคคลธรรมดา มีเงินได้จากการให้เช่า วิชาชีพอิสระ ก่อสร้าง หรือธุรกิจการพาณิชย์ฯ อื่นๆ รวมกันไม่เกิน 30 ล้านบาทในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

2.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้าน และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

อย่างไรก็ดี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นร้านค้าจะสิ้นสิทธิ หักรายจ่ายค่าธรรมเนียมเครื่อง EDC เพิ่มทันทีและตลอดไป หากรอบบัญชีใดมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเกิน 5 ล้านบาท หรือมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการเกิน 30 ล้านบาท

ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

 

ติดตามสาระความรู้ฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับเครื่อง EDC ได้จากบทความ มองกฎหมายให้ทะลุ มองธุรกิจให้ทะลวง “EDC ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีต้องมีหรือไม่” โดยคุณพุทธิมา เกิดศิริ

(วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 36 ฉบับที่ 430 เดือนกรกฎาคม 2560 หน้า 89-97)