สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการเข้าโครงการจัดทำบัญชีเดียว !!!

                                                                                                                                กัมพล ทรัพย์ปรุง

                                                                                                                             ที่ปรึกษากฎหมายและทนายความภาษีอากร

                                                                                                                                บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

                                                                                                                                     E-Mail: kamphols@dlo.co.th

       

        ในช่วงต้นปี 2559 รัฐได้ออกกฎหมายใหม่ เพื่อยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง อีกทั้งยังได้มีการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม (SMEs) หากได้จดแจ้งเข้าร่วมโครงการจัดทำบัญชีเล่มเดียวต่อกรมสรรพากร

        ผู้เขียนจึงขอสรุปและนำเสนอแง่มุมประเด็นในทางภาษีที่มีนัยสำคัญของกฎหมายดังกล่าว เพื่อประกอบการทำความเข้าใจ ตัดสินใจ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายให้ถูกต้องต่อไป           

         1.     Q : กฎหมายยกเว้นการตรวจสอบ ยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับ SMEs บัญชีเดียวคือกฎหมายฉบับใด และมีผลใช้บังคับเมื่อใด  

                A : มี 2 ฉบับ คือ

                           1) “พระราชกำหนด ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

                           กฎหมายฉบับนี้จะให้สิทธิแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ และมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาและมีกำหนดครบ 12 เดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีต้องสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งก็รวมถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม (SMEs) ด้วย โดยจะได้รับยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความรับผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ แต่ไม่รวมถึงภาษีอากรที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมิน หรือสั่งให้เสียไปแล้ว หรือได้ดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559

                           2) “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ.2558” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

                           กฎหมายฉบับนี้จะให้สิทธิแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือที่เรียกกันว่า (SMEs) ซึ่งในส่วนของรายได้ในขณะจดแจ้งจะต้องพิจารณาจากรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาและมีกำหนดครบ 12 เดือนโดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีต้องสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และได้จดแจ้งเข้าร่วมโครงการจัดทำบัญชีเล่มเดียวต่อกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของพระราชกำหนดข้างต้น

                           โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาทแรก และได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลคงเหลือในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาทสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2560 อีกส่วนหนึ่งด้วย

          2.   Q : สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ จะมีสิทธิจดแจ้งเพื่อจะได้รับการยกเว้นตรวจสอบด้วย ได้หรือไม่

                A : ตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว ไม่ได้ให้สิทธิไว้เพียงแต่เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเท่านั้น ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ หรือกิจการร่วมค้าต่างก็มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

                           1) กรณีบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมีสาขาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตามกฎหมายไทยจะถือว่าสาขาเป็นบุคคลหรือมีฐานะเดียวกันกับบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ แต่เมื่อสาขาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยมีเงินได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในประเทศไทย เงินได้ดังกล่าวจึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใต้บทบัญญัติมาตรา 66 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร ด้วยเหตุนี้บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศย่อมมีสิทธิจดแจ้งต่อกรมสรรพากรเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายดังกล่าวได้

                           2) กรณีบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศได้ส่งลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ เข้ามาทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้ในประเทศไทย ถือว่าเงินได้จำนวนดังกล่าวเป็นเงินได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทยซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใต้บทบัญญัติมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยเหตุนี้บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศย่อมมีสิทธิจดแจ้งต่อกรมสรรพากรเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายดังกล่าวได้เช่นกัน

         3   Q : ผู้ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากร เป็นผู้ออกหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม หรือหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยแสดงรายจ่ายเท็จ หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล จะจดแจ้งเพื่อจะได้รับการยกเว้นตรวจสอบด้วย ได้หรือไม่

                A : สามารถจดแจ้งเพื่อจะขอได้รับการยกเว้นตรวจสอบตามกฎหมายดังกล่าวได้ แต่เฉพาะภาษีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบจะไม่ได้รับยกเว้นตรวจสอบ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินสามารถดำเนินการตรวจสอบต่อไปได้ รวมถึงการดำเนินคดีที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการก็ดำเนินการต่อไปได้เช่นกัน ส่วนกรณีการออกและใช้ใบกำกับภาษีปลอม การหลีกเลี่ยงภาษีอากร เจ้าพนักงานประเมินยังคงมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน และสั่งให้เสียภาษี ดำเนินคดีอาญาสำหรับเฉพาะกรณีนี้ได้

                เมื่อได้จดแจ้งและได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจสอบแล้ว จะทำให้เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจในการตรวจสอบภาษีตามประมวลรัษฎากรในส่วนอื่น และรอบระยะเวลาบัญชีอื่นๆ ย้อนหลังได้อีกต่อไป

         4.     Q : ผู้ที่อยู่ระหว่างการขอคืนภาษีจะจดแจ้งเพื่อจะได้รับการยกเว้นตรวจสอบด้วยได้ หรือไม่

                A : สามารถจดแจ้งเพื่อจะได้รับการยกเว้นตรวจสอบตามกฎหมายดังกล่าวได้ แต่เฉพาะภาษีที่อยู่ระหว่างการขอคืน เจ้าพนักงานประเมินยังคงมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนภาษีที่ขอคืนนั้นได้ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ต่อไป

          5.   Q : การจดแจ้งต่อกรมสรรพากรมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข อย่างไร

                A : ต้องดำเนินการจดแจ้งผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2559 หลังจากนั้นกรมสรรพากรก็จะแจ้งตอบรับผ่านทางจดหมายอิเล็คทรอนิกส์ (Email) ที่บริษัทท่านได้ให้ไว้กับกรมสรรพากร กรณีจึงถือว่าเป็นการจดแจ้งเรียบร้อย

        6.     Q : เมื่อได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการปฏิบัติ อย่างไร

                A :      1) ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) พร้อมชำระภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่นรายการในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป และหากมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ต้องยื่นแบบดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไป

                          2) จัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งก็หมายถึงให้จัดทำบัญชีเล่มเดียว

                                 3) ต้องไม่กระทำการใดๆ ที่ถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีต่อไป

        7.     Q : หากเข้าโครงการนี้แล้วจะได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจสอบตลอดไปแบบไม่มีเงื่อนไข ใช่หรือไม่

                A : ไม่ใช่ เพราะหากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 6 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนสิทธิการได้รับยกเว้นการตรวจสอบดังกล่าวได้ และถือว่าไม่เคยได้รับการยกเว้นใดๆ จากกรมสรรพากร ผลทำให้เจ้าพนักงานประเมินกลับมามีอำนาจตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และดำเนินความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากรเช่นเดิมได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของประมวลรัษฎากร เช่น จะต้องตรวจสอบและประเมินภาษีภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย

        8.     Q : SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ และได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจสอบดังกล่าว ภายหลังมีรายได้เกิน 30 ล้านบาท จะยังคงได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจสอบ รวมถึงได้รับการยกเว้นภาษี และลดอัตราภาษีดังกล่าวได้ต่อไป หรือไม่             

                A : สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจสอบดังกล่าว หากในรอบระยะเวลาบัญชีต่อมาปรากฏว่ามีรายได้เกิน 30 ล้านบาท จะมีผลทำให้ SMEs นั้น ไม่ได้รับสิทธิในการได้รับยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม (SMEs) ตามความหมายของประมวลรัษฎากรอีกต่อไป แต่ทั้งนี้สำหรับสิทธิในการได้รับยกเว้นการตรวจสอบดังกล่าวยังคงมีอยู่ไม่ถือว่าหมดสิทธิหรือจะถูกเพิกถอนได้แต่อย่างใด  

        9.     Q : ฐานของรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สำหรับ SMEs จะใช้หลักเกณฑ์ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรหรือไม่ อย่างไร

                A : สำหรับฐานในการคำนวณรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาทของ SMEs ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 595) พ.ศ.2558 ที่กำหนดนิยามความหมายของคำว่า “ขาย” “สินค้า” และ “บริการ” ไว้นั้น แม้จะใช้ถ้อยคำเดียวกันกับคำนิยามความหมายของคำว่า “ขาย” “สินค้า” และ “บริการ” ในหมวดภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรก็ตาม แต่ก็จะมีความหมายแตกต่างกันในบางส่วน เพราะมีเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกัน เช่น

                คำว่า “ขาย” ตามประมวลรัษฎากรจะมีความหมายกว้างกว่า เช่น กรณีส่งสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย เป็นต้น ซึ่งจะถือว่าเป็นการขาย แต่ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะไม่ถือว่าเป็นการขายแต่อย่างใด

                คำว่า “สินค้า” ตามประมวลรัษฎากรจะมีความหมายที่กว้างกว่า ซึ่งจะหมายความรวมถึงสินค้าที่มีไว้ใช้ในกิจการ หรือใช้เพื่อการใดๆ อีกด้วย แต่ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะมีความหมายเฉพาะแต่เพียงสินค้าที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

                คำว่า “บริการ” ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะมีความหมายที่กว้างกว่า เช่น จะหมายความรวมไปถึงค่าตอบแทนจากเงินฝากธนาคาร เงินลงทุนในหุ้นกู้ หรือหลักทรัพย์ด้วย เป็นต้น

                ด้วยเหตุนี้ SMEs พึงต้องระมัดระวังในส่วนของฐานรายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะต้องไม่ให้เกิน 30 ล้านบาท มิฉะนั้นจะต้องเสียสิทธิในการได้รับการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวข้างต้น  

        10.  Q : ควรเข้าร่วมโครงการจัดทำบัญชีเล่มเดียวหรือไม่  

               A : ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักจะกังวลว่าการจดแจ้งเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากรมองว่าที่ผ่านมาเป็นผู้หลีกเลี่ยงภาษีก็ดี จัดทำบัญชี 2 เล่มก็ดี นั้น ผู้เขียนเห็นว่า แม้กรมสรรพากรจะตั้งข้อสังเกตดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้ทุกรายจะเป็นเช่นนั้น หรือหากจะเป็นเช่นนั้นก็เฉพาะแต่ในส่วนของรายได้ที่เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนที่ผ่านมาซึ่งก็ไม่ถือเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนสิทธิที่ได้ยื่นขอจดแจ้งไว้ได้ การเข้าร่วมโครงการนี้จะมีผลดีทำให้กรมสรรพากรไม่มีอำนาจตรวจสอบ ประเมินภาษี และดำเนินคดีอาญาย้อนหลังได้ เว้นแต่เพราะเหตุบางกรณีดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

                ด้วยเหตุนี้การมองไปข้างหน้าและจัดทำบัญชีและเสียภาษีให้ถูกต้องน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ และถือโอกาสนี้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ที่สำคัญหากเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท (SMEs) ก็จะได้ประโยชน์ถึง 2 ทาง คือ 1) ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจสอบ และ 2) ได้รับสิทธิยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นจึงควรเข้าร่วมโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

        ………………………………………….