การจัดตั้งบริษัทจำกัดในประเทศไทย และประเด็นให้พิจารณา

การจัดตั้งบริษัทจำกัดในประเทศไทยนั้นสามารถเป็นเรื่องที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาได้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นมา บทความนี้จะอภิปรายประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท รวมทั้งข้อกำหนดขั้นต่ำในการจดทะเบียนและจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย ตลอดจนข้อพิจารณาที่สำคัญทั้งหลายซึ่งผู้มีส่วนได้เสียสำคัญควรจะพิจารณาก่อนจะจัดตั้งบริษัทใหม่ เช่น อำนาจลงนามของกรรมการ ทุนเรือนหุ้นจดทะเบียน และความจำเป็นที่อาจจะต้องขอมีหนังสืออนุญาตหรือใบอนุญาต

ข้อกำหนดขั้นต่ำในการจัดตั้งบริษัทจำกัด

ในการจัดตั้งและจดทะเบียนบริษัทจำกัดใหม่ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (พธค.) ผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดขั้นต่ำดังต่อไปนี้

  1. ประการแรกบริษัทใหม่จำเป็นจะต้องจองชื่อบริษัทที่ พธค. และชื่อดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นภาษาไทย โดยชื่อนั้นต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะและเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ชื่อต้องจบลงด้วยคำว่า “จำกัด”
  2. บริษัทจำเป็นจะต้องมีทุนเรือนหุ้นจดทะเบียนเนื่องจากจะต้องระบุสิ่งดังกล่าวนี้ไว้ในแบบ บอจ.5 ของบริษัทใหม่และรายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท โดยจำนวนทุนเรือนหุ้นจดทะเบียนที่บริษัทใหม่จำเป็นจะต้องมีนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น บริษัทใหม่จำเป็นต้องมีจำนวนที่กำหนดไว้เพื่อให้ได้รับใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือไม่ กฎหมายไทยกำหนดให้ผู้ถือหุ้นต้องชำระทุนเรือนหุ้นจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 25 เป็นอย่างต่ำ อย่างไรก็ตาม สมควรรับทราบไว้ว่าทุนเรือนหุ้นจำเป็นต้องชำระเต็มในบางกรณี เช่น กรณีที่บริษัทร้องขอความคุ้มครองภายใต้สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกาหรือขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เป็นต้น ตาม ปพพ. หุ้นในบริษัทจำกัดมีมูลค่าที่ตราไว้ขั้นต่ำหุ้นละ 5 บาท
  3. วัตถุที่ประสงค์ของบริษัทใหม่จำเป็นจะต้องมีระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ (บริคณห์สนธิ) ซึ่งวัตถุที่ประสงค์ดังกล่าวนี้จะต้องมีปรากฏอยู่ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทซึ่งเป็นเอกสารทางการที่ออกให้โดย พธค. เมื่อจดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการ
  4. ตาม ปพพ. บริษัทต้องมีบุคคลจำนวนอย่างน้อยสอง (2) คนเป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท ซึ่งบุคคลดังกล่าวนี้แต่ละคนต้องจองซื้อหุ้นในบริษัทใหม่จำนวนอย่างน้อย 1 หุ้น
  5. บริษัทจำกัดในประเทศไทยต้องมีกรรมการขั้นต่ำจำนวนหนึ่ง (1) คน แต่ควรจะมีกรรมการอย่างน้อยสอง (2) คนเนื่องจากจะทำให้ดำเนินกิจการบริษัทสะดวกขึ้นเพราะการมีกรรมการอย่างน้อย 2 คนหมายความว่าท่านสามารถจัดประชุมคณะกรรมการได้ เมื่อจดทะเบียนบริษัทยังจำเป็นต้องกำหนดอำนาจในการลงลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเพื่อผูกพันบริษัทตามกฎหมายอีกด้วย
  6. บริษัทใหม่จำเป็นจะต้องมีที่อยู่สำนักงานจดทะเบียน ซึ่งจะต้องระบุไว้ในเอกสารการจดทะเบียนบริษัท เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทซึ่งออกให้โดย พธค.
  7. ในเรื่องเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น บริษัทเอกชนจำกัดต้องมีผู้ถือหุ้นจำนวนอย่างน้อยสอง (2) คนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในเบื้องต้นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทเป็นผู้สนองให้เป็นไปตามข้อกำหนดขั้นต่ำดังกล่าวนี้เนื่องจากผู้เริ่มก่อการแต่ละคนดังกล่าวจำเป็นต้องจองซื้อหุ้นจำนวนอย่างน้อย 1 หุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่

 

ประเด็นสำคัญให้พิจารณาเมื่อจดทะเบียนบริษัทจำกัดใหม่ในประเทศไทย

  1. อำนาจในการลงนามของกรรมการผู้มีอำนาจ – อำนาจในการลงนามของกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำกัดเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะให้ผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทพิจารณาเนื่องจากเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขการลงลายมือชื่อที่จะใช้บังคับแก่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเพื่อจะผูกพันบริษัทกับสิ่งต่าง ๆ เช่นสัญญา บางบริษัทใช้เงื่อนไขการลงลายมือชื่อที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา เช่น กรรมการ ก มีอำนาจในการลงชื่อโดยไม่จำกัดและสามารถลงลายมือชื่อในฐานะบุคคลในนามบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม บางบริษัทใช้เงื่อนไขการลงลายมือชื่อที่มีเงื่อนไขมากขึ้นสำหรับกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เช่น ข้อกำหนดที่จำกัดให้กรรมการสามารถลงลายมือชื่อได้เฉพาะในเอกสารบางฉบับเท่านั้น หรือข้อกำหนดที่ให้กรรมการจำนวนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปลงลายมือชื่อร่วมกัน (โดยประทับตราหรือไม่ประทับตราบริษัท) หากเงื่อนไขการลงลายมือชื่อปฏิบัติไม่ได้ก็จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงในภายหลังเนื่องจากบุคคลผู้มีอำนาจลงนามอาจไม่ว่างให้ลงลายมือชื่อก็ได้ ดังนั้น ผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทและกรรมการควรจะใส่ใจต่อเงื่อนไขการลงลายมือชื่อที่ตนได้กำหนดไว้ มิฉะนั้น เงื่อนไขดังกล่าวอาจไม่มีประสิทธิผลในทางปฏิบัติและทำให้การลงลายมือชื่อในเอกสารล่าช้าหรือติดขัดได้
  2. หนังสืออ้างอิงจากธนาคารสำหรับผู้ถือหุ้นคนไทย – ผู้ถือหุ้นคนไทยจำเป็นจะต้องแถลงแหล่งที่มาของเงินทุนของตนในการซื้อหุ้นในบริษัทในบางกรณี ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว          กฎเกณฑ์ข้อนี้กำหนดให้ผู้ถือหุ้นคนไทยต้องนำส่งหลักฐานแสดงวิธีการที่ตนสามารถซื้อหุ้นได้ ซึ่งในทางปฏิบัติสิ่งที่จำเป็นก็คือหนังสือเป็นทางการจากธนาคารเพื่อแสดงว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีทุนที่จำเป็นอยู่ในอยู่ในบัญชีธนาคารของตนในการซื้อ/จองซื้อหุ้นของตนในบริษัท โดยกฎเกณฑ์ข้อนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดผู้ถือหุ้นแทนที่เป็นคนไทยซึ่งพยายามหาทางหลบเลี่ยงบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
  3. ความรับผิดของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหม่ – หากหุ้นของบริษัทใหม่มีการชำระค่าหุ้นไม่เต็มมูลค่า เมื่อนั้นผู้ถือหุ้นจะรับผิดชำระจำนวนยอดค่าหุ้นคงค้าง หากกรรมการบริษัทเรียกชำระยอดที่ยังเหลืออยู่
  4. ข้อพิจารณาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ข้างมากที่เป็นของคนต่างด้าว – หากบริษัทใหม่เป็นกรรมสิทธิ์ข้างมากของคนต่างด้าว (ซึ่งไม่ใช่คนไทย) เมื่อนั้นบริษัทอาจจำเป็นต้องได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากรัฐบาลไทยเพื่อจะได้ประกอบกิจกรรมธุรกิจในประเทศไทย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมธุรกิจของบริษัทด้วย ซึ่งการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษดังกล่าวนี้อาจอยู่ในรูปใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นต้น
  5. หนังสืออนุญาตหรือใบอนุญาต – บริษัทใหม่ยังอาจจำเป็นต้องได้หนังสืออนุญาตหรือใบอนุญาตพิเศษเพื่อประกอบกิจการของบริษัทในประเทศไทยอีกด้วย โดยขึ้นอยู่กับกิจกรรมธุรกิจของบริษัทใหม่ ซึ่งตัวอย่างหนังสืออนุญาตดังกล่าวนี้ได้แก่ หนังสืออนุญาตจัดหางานภายในประเทศ หนังสืออนุญาตนำเข้า/ส่งออก ใบอนุญาตโรงงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม ใบอนุญาตประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ใบอนุญาตจำหน่ายสุราและใบอนุญาตประกอบกิจการท่องเที่ยว หนังสืออนุญาตแต่ละฉบับจะมีข้อกำหนดของตัวเองและในบางกรณีหนังสืออนุญาตบางฉบับก็ตั้งเงื่อนไขเพื่อบังคับการมีกรรมสิทธิ์ในหุ้นของคนต่างด้าว การเป็นกรรมการ และข้อกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำ ดังนั้น เมื่อจดทะเบียนบริษัทใหม่ จึงเป็นการชอบด้วยเหตุผลหากจะพิจารณาหนังสืออนุญาตและใบอนุญาตที่บริษัทจำเป็นจะต้องมีในการประกอบกิจการของบริษัทและเงื่อนไขที่จะใช้บังคับแก่ใบอนุญาตดังกล่าวนั้นเพื่อผู้ถือหุ้นและกรรมการจะได้ปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าวได้
  6. ใบหุ้น – ควรจะส่งมอบใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายสำหรับหุ้นที่ผู้ถือหุ้นนั้นถืออยู่ ใบหุ้นทุกใบต้องมีกรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท ใบหุ้นทุกใบต้องระบุชื่อบริษัท จำนวนหุ้นที่ใบหุ้นนั้นเกี่ยวข้องอยู่ จำนวนเงินค่าหุ้นแต่ละหุ้น และจำนวนเงินค่าหุ้นแต่ละหุ้นที่ชำระแล้ว

 

ผู้เขียน: ไรอัน คราว์ลีย์ กรรมการและผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ

 

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330

โทร. (66) 2680 9777

โทรสาร (66) 2680 9711

อีเมล phatcharawadib@dlo.co.th