จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤศจิกายน 2566

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 148 เดือน พฤศจิกายน 2566

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และระยะเวลา เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ออกเสนอขายต่อประชาชน

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และระยะเวลา เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ออกเสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก http://bit.ly/48pYCxn

     2. กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นสำนักงานบัญชีตัวแทน

     ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นสำนักงานบัญชีตัวแทน กำหนดให้สำนักงานบัญชีตัวแทนซึ่งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี หรือดำเนินการอื่นใดตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดในนามของผู้มีหน้าที่เสียภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ (Web site) ของกรมสรรพากร http://rd.go.th ได้

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/4asLp8D

 

ข่าวภาษี

     1. มาตรการปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันเบนซิน

     เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ ปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันเบนซินลง 1 บาทต่อลิตร โดยให้อนุพันธ์ของน้ำมันดังกล่าวมีการปรับลดอัตราภาษีตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันที่ผสมอยู่ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566  ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 และหลังจากนั้นให้อัตราภาษีกลับสู่อัตราเดิมก่อนการปรับลด ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในการลดค่าครองชีพประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศผ่านการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3tlWOqd

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่    5654/2560

ระหว่าง                      กรมศุลกากร กับพวก                                  โจทก์

                      นาย ส.                                                    จำเลย

เรื่อง ผู้นำเข้า

ประเด็นข้อพิพาท         : ชิปปิ้ง หรือตัวแทนออกของ ถือเป็น “ผู้นำของเข้า” อันอยู่ในบังคับต้องเสียอากรศุลกากรหรือไม่

คำพิพากษา                : ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า “ผู้นำของเข้า” หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า “ผู้ส่งของออก” ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า “ผู้นำเข้า” หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า

ความเห็นของผู้เขียน     : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาข้างต้น โดยมีความคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้

     เดิม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 กำหนดนิยามคําว่า “ผู้นําของเข้า” หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองหรือมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นําของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคําว่า “ผู้ส่งของออก” ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม ต่อมามีการปรับปรุงพระราชบัญญัติศุลกากรให้มีความทันสมัยมากขึ้น จนกลายมาเป็นพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ที่บังคับใช้ในปัจจุบันซึ่งในมาตรา 4 กำหนดนิยามคำว่า “ผู้นําของเข้า” ให้หมายความรวมถึง เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้มีส่วนได้เสียในของใดๆ นับแต่เวลาที่นําของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจนถึงเวลาที่พนักงานศุลกากรได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากอารักขาของพนักงานศุลกากร

     จากบทบัญญัติทั้งในพระราชบัญญัติศุลกากรฉบับ พ.ศ. 2469 และฉบับ พ.ศ. 2560 จะเห็นได้ว่านิยามของ “ผู้นำของเข้า” ยังคงมีความสอดคล้องต้องกัน หากแต่ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีการกำหนดนิยามของ “ผู้ส่งของออก” ไว้เป็นการเฉพาะแยกต่างหากจาก “ผู้นำของเข้า” เพื่อลดปัญหาในการตีความตัวบทกฎหมาย อย่างไรก็ดี สำหรับผู้มีส่วนได้เสียในของใด ๆ ยังคงบัญญัติในลักษณะคล้ายเดิม ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ชิปปิ้ง หรือตัวแทนออกของ จึงถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในของใด ๆ อันหมายความรวมอยู่ใน “ผู้นำของเข้า” ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ด้วย อย่างไรก็ดี การพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นผู้นำของเข้าหรือไม่ อาจต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป เช่น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าลายมือชื่อที่ลงไว้ในเอกสารการผ่านพิธีการศุลกากรมิใช่ลายมือชื่อของชิปปิ้ง และชิปปิ้งไม่ได้เป็นผู้ยื่นใบขนขาเข้า และดำเนินพิธีการทางศุลกากร กรณียังถือไม่ได้ว่าชิปปิ้งเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในสินค้าที่นำเข้า ชิปปิ้งจึงไม่เป็นผู้นำเข้าตามความหมายดังกล่าว

     กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น โดยกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามการตีความตัวบทกฎหมายตามมุมมองที่แตกต่างกันออกไปภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน ทั้งการหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ก็เพียงเพื่อต้องที่จะนำเสนอมุมมองให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

นภัทร วงศ์ลิมปิยะรัตน์

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725