จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนธันวาคม 2566

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 149 เดือน ธันวาคม 2566

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และระยะเวลา เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการลงทุนในระบบอัตโนมัติ

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 439) แก้ไขเพิ่มเติมความใน (1) ข้อ 1 และ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 421) เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และระยะเวลา เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการลงทุนในระบบอัตโนมัติ ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/33YSX

     2. หลักเกณฑ์ การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

     คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.162/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรค 2 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เพิ่มเติมวรรค 2 ของข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 โดยกำหนดให้ความในข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 ที่กำหนดให้ผู้อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง และเป็นผู้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยไม่ว่าในปีภาษีใด บุคคลนั้นต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ในปีภาษีที่ได้มีการนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยนั้น ไม่ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/33Z66

     3. คุณลักษณะ และหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 253) กำหนดให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรที่มีความประสงค์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วจากการซื้อสินค้าที่เป็นอัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน หรือของรูปพรรณ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา โทรศัพท์แบบพกพาหรือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แบบพกพา กระเป๋าถือรวมทั้งกระเป๋าใส่ธนบัตรหรือเหรียญหรือกระเป๋าอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน (โดยไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัดที่มีมูลค่าการซื้อชิ้นละสี่หมื่นบาทขึ้นไป หรือสินค้าที่สามารถนำติดตัวไปพร้อมกับการเดินทางที่มีมูลค่าการซื้อสินค้าต่อชิ้นตั้งแต่หนึ่งแสนบาทขึ้นไป ให้ผู้ประกอบการประทับข้อความ “Item No……. must also be presented to Revenue Officer” ลงในคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ทั้งนี้ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/34fqy

     4.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้ว ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) กำหนด หลักเกณฑ์ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ โดยผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้ว ต้องนำสินค้าและคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) พร้อมใบกำกับภาษีไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากรในขณะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพื่อให้เจ้าพนักงานศุลกากรประทับรับรองในคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือตรวจรับคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/34fuF

ข่าวภาษี

     1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนใน TESG ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575

     และกำหนดให้ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีที่เงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กล่าวมา ทั้งนี้ ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/33SCQ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่    2646/2566

ระหว่าง                     บริษัท อ.                                                 โจทก์

                           กรมสรรพากร                                           จำเลย

เรื่อง การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าความนิยมคงเหลือ ณ วันแจ้งเลิกประกอบกิจการ

ประเด็นข้อพิพาท         : ค่าความนิยมคงเหลือ ณ วันแจ้งเลิกประกอบกิจการ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ อย่างไร

คำพิพากษา                : ค่าความนิยมคงเหลือ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ถือเป็นการขายที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77/2 (1) และมาตรา 77/1 (8) (ฉ) แต่หลักเกณฑ์สำคัญในการได้รับยกเว้นรัษฎากรตามกฎหมายดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากันหรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันเท่านั้น ซึ่งการที่โจทก์ทำสัญญาขายธุรกิจและต่อมาโจทก์ยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แจ้งเลิกประกอบกิจการระบุว่าโอนกิจการบางส่วนและได้จดทะเบียนเลิกกิจการต่อนายทะเบียน แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีเจตนาเพียงแจ้งเลิกกิจการ เนื่องจากมีการโอนกิจการบางส่วนเท่านั้น มิได้ยื่นเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีอากรในกรณีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ดังนั้น การขายกิจการของโจทก์จึงไม่เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 สัญญาขายและโอนกิจการระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อเป็นการซื้อขายกิจการและโอนกิจการบางส่วน หาใช่การควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 77/1 (8) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีของโจทก์จึงเป็นกรณีที่มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกกิจการ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ความเห็นของผู้เขียน     : ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77/1 (8) บัญญัติไว้ว่า ““ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์ หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง… (ฉ) มีสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากันหรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากัน หรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3

     จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้ค่าความนิยมจะเข้าลักษณะเป็นสินค้าตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77/1 (9) และการมีค่าความนิยมคงเหลือ ณ วันเลิกประกอบกิจการ จะถือเป็นการขายที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77/2 (1) และมาตรา 77/1 (8) (ฉ) ก็ตาม แต่บัญญัติในช่วงท้ายของมาตรา 77/1 (8) (ฉ) ที่ว่า “แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากันหรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๒/๓” ก็ได้กำหนดข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็นการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่ผู้รับโอนกิจการที่เป็นผู้ประกอบกิจการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

     สำหรับในประเด็นดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเดียวที่พิจารณากันว่า โจทก์โอนกิจการทั้งหมดให้แก่ผู้ซื้อหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาจากการที่โจทก์ยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) ว่า แจ้งเลิกประกอบกิจการ ระบุว่าโอนกิจการบางส่วนแล้วเห็นว่าโจทก์มีเจตนาเพียงแจ้งเลิกกิจการเนื่องจากมีการโอนกิจการบางส่วนเท่านั้น มิได้ยื่นเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีอากรในกรณีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน จึงไม่ได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

     โดยความคารพ ผู้เขียนมีความเห็นว่า คดีนี้ปรากฏว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้เลิกกิจการและโอนพนักงานและกิจการทั้งหมดที่มีอยู่ ณ วันที่มีมติดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 82/3 และตามงบแสดงฐานะการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่โอนขายกิจการ สัญญาซื้อขายและโอนกิจการ ก็ปรากฏสอดคล้องต้องกันเป็นที่ยุติได้ว่า โจทก์ขายกิจการและโอนกิจการทั้งหมดแก่ผู้ซื้อ แม้การยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) อาจจะระบุไว้โดยคลาดเคลื่อนว่า โอนกิจการบางส่วนก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่า กรณีต้องดูตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและถือได้ว่าโจทก์เลิกกิจการและโอนกิจการทั้งหมดให้แก่ผู้รับโอนกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น รายการทรัพย์สินค่าความนิยมคงเหลือ ณ วันเลิกกิจการที่พิพาทในคดีนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการขายที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามถ้อยคำของบทบัญญัติประมวลรัษฎากรที่บัญญัติยกเว้นไว้ในตอนท้ายของมาตรา 77/1 (8) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยเหตุนี้ทรัพย์สินค่าความนิยมคงเหลือ ณ วันที่เลิกกิจการในประเด็นพิพาทดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นการขายอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

     กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น โดยกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามการตีความตัวบทกฎหมายตามมุมมองที่แตกต่างกันออกไปภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน ทั้งการหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ก็เพียงเพื่อต้องที่จะนำเสนอมุมมองให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

วรินทร สะรุโณ

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725