จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายน 2566

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 146 เดือนกันยายน 2566

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1. หลักเกณฑ์และวิธีการในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปฏิบัติตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ

     กฎกระทรวงกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/485EX6e

     2. หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรูปแบบการส่งข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ เพื่อปฏิบัติตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรูปแบบการส่งข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินที่เป็นสถาบันการเงินในไทยตามมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรูปแบบการส่งข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3Z5JPUV

     3. ยกเว้นภาษีให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สถานศึกษา

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 768) พ.ศ.2566 กำหนดมาตรการเพื่อยกเว้นภาษีให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือหรือทรัพย์สินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สถานศึกษาที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก http://bit.ly/448ejqh

     4. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 770) พ.ศ.2566 กำหนดมาตรการเพื่อยกเว้นภาษีให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/47wXyIh

     5. ยกเว้นภาษีให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สภากาชาดไทยหรือมูลนิธิด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 771) พ.ศ.2566 กำหนดมาตรการเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สภากาชาดไทยหรือมูลนิธิด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3QBmfgJ

     6. ยกเว้นภาษีให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกรมพลศึกษา

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 772) พ.ศ.2566 กำหนดมาตรการเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกรมพลศึกษาที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3OXdiNk

     7. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากภาครัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 773) พ.ศ.2566 กำหนดมาตรการเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากภาครัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3qCKW1y

     8. ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 775) พ.ศ.2566 กำหนดมาตรการเพื่อลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ออกตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเงินได้ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศไว้เพื่อการออกตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ถือตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3OXNK2N

     9. ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 779) พ.ศ.2566 กำหนดมาตรการเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อันเนื่องมาจากการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่เสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มาตรการภาษีในการออกและเสนอขายโคเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนมีภาระที่เท่าเทียมกับการโอนหลักทรัพย์

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3KHuC6E

 

ข่าวภาษี

          –

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่    850/2547

ระหว่าง                      บริษัท ป.                                       โจทก์

                      กรมสรรพากร                                  จำเลย

เรื่อง    รายจ่ายต้องห้าม กรณีรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว

ประเด็นข้อพิพาท         : การจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงาน ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามไม่ให้นำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

คำพิพากษา                : โจทก์ได้จ่ายเงินโบนัสให้พนักงานปีละครั้งโดยไม่คำนึงถึงค่าผลประกอบการของโจทก์ว่าจะมีกำไรหรือขาดทุน เป็นการจ่ายเพื่อจูงใจและให้กำลังใจการทำงานของพนักงาน โดยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงาน นั้น ปรากฏว่าโจทก์จะจ่ายเงินโบนัสทุกปีมากน้อยขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ถ้าโจทก์มีผลการดำเนินงานกำไรมากก็จะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานมาก โดยที่หัวหน้าฝ่ายจะพิจารณาจากผลการดำเนินงานของโจทก์ว่ามีกำไรมากน้อยเพียงใดและพิจารณาจากผลการทำงานของพนักงานแต่ละคน พนักงานที่มีผลงานดีอาจมีโบนัสจำนวน 3 เท่าของเงินเดือน บางคนอาจได้โบนัส 1 เท่าของเงินเดือน และปรากฏว่า เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมถึงวันที่ 30 เมษายนของปีถัดไป) และโจทก์ทราบผลกำไรแล้ว ต่อมาประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี รองกรรมการผู้จัดการของโจทก์จะเสนอเรื่องไปยังกรรมการผู้จัดการเพื่อขออนุมัติจ่ายโบนัสแก่พนักงาน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าการจ่ายโบนัสเป็นรายจ่ายที่กำหนดว่าเป็นรายจ่ายที่โจทก์จะต้องจ่ายให้แก่พนักงานหรือเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน ดังนี้ จึงฟังได้ว่ารายจ่ายของโจทก์ที่จ่ายเป็นค่าโบนัสจำนวน 1,570,610 บาท เป็นรายจ่ายที่จ่ายจากผลกำไรเมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (19) โจทก์ไม่สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิได้

ความเห็นของผู้เขียน     : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากโดยทั่วไปภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวข้องกับรายได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หลักในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจึงเป็นการจัดเก็บจากฐานกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ซึ่งหากมีการกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายใด ๆ มาหักภายหลังจากทราบกำไรสุทธิแล้ว ก็เท่ากับยอมให้หักรายจ่ายอันจะเป็นการลดทอนกําไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ส่งผลให้ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนนี้น้อยลง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะเหตุนี้ประมวลรัษฎากรจึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีของประเทศ

     จากคำพิพากษาฎีกาข้างต้น เห็นได้ว่า การจ่ายเงินโบนัสของโจทก์เป็นรายจ่ายใด ๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี เพราะเป็นการใช้ผลกำไรเป็นฐานในการกำหนดการจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงาน ซึ่งโจทก์ไม่สามารถนำรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เนื่องจากถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นข้อที่กฎหมายกำหนดห้ามไว้อย่างชัดแจ้ง

     แต่อย่างไรก็ดี หากโจทก์มีการกำหนดจำนวนเงินโบนัสที่จ่ายให้แก่พนักงานโดยไม่ได้อิงหรือคิดมาจากฐานกำไรสุทธิของบริษัทที่ได้คำนวณผลประกอบการแล้ว กรณีก็ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชี จึงไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร

     อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

ณัฏฐณิชา ศรีเจริญวณิชกุล

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725