จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกรกฎาคม 2566

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 144 เดือนกรกฎาคม 2566

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 763) พ.ศ. 2566 กำหนดให้ ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2566 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/UdNv

     2. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 764) พ.ศ. 2566 กำหนดให้ ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลเพื่อชดเชยเงินต้น ดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และสำรองเพื่อการดำเนินงานในส่วนที่เกินจากรายรับแต่ละปี โดยพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/UdQs

     3. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 765) พ.ศ. 2566 กำหนดให้ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ สำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนจากสถาบันการเงิน และยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งในกรณีของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นให้มีผลตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป โดยพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/UdTL

     4. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปในการพัฒนาระบบการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ และนำส่งภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 766) พ.ศ. 2566 กำหนดให้ ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปในการพัฒนาระบบการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ และนำส่งภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/UdVg

     5. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น

     พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 767) พ.ศ. 2566 กำหนดให้ กิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นเฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อชำระหนี้ให้แก่กระทรวงการคลังตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/UdXr

     6. หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษี หรือใบรับ โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในการลงลายมือชื่อ

     ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษี หรือใบรับ โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในการลงลายมือชื่อ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษี หรือใบรับ โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในการลงลายมือชื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้มีหน้าที่ออกใบรับ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการดังกล่าวข้างต้นให้สอดคล้องกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565) ฯ

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก  https://bitly.ws/UdZo

     7. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในระบบการจัดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 435) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในระบบการจัดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระบบการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการนำส่งภาษี และค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้รับบริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ให้บริการนำส่งเงิน ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในระบบการจัดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ฯ ตามประกาศฉบับดังกล่าว โดยประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/PRkJ

 

ข่าวภาษี

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่    7952/2551

ระหว่าง                      นาย พ. ที่ 1, นาย ธ. ที่ 2                              โจทก์

                      กรมสรรพากร                                             จำเลย

เรื่อง ขายอสังหาริมทรัพย์ต่ำกว่าราคาประเมิน

ประเด็นข้อพิพาท         : การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาเป็นฐานในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษา                : มาตรา 91/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ฐานภาษีสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร คือรายรับก่อนหักรายจ่าย ใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตามมาตรา 91/16 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะกำหนดราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันที่มีการโอนทรัพย์สินในกรณีที่การโอนทรัพย์สินมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร คดีนี้แม้โจทก์ทั้งสองทำสัญญาซื้อขายที่ดินระบุว่าได้รับเงินเพียง 7,000,000 บาท แต่เมื่อราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้นเป็นจำนวนเงิน 12,629,200 บาท และโจทก์ทั้งสองลงชื่อในบันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร ยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ โดยรับรองรายการว่าทุนทรัพย์ที่ถือเป็นเงินได้สำหรับคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์เป็นเงิน 12,629,200 บาท ประกอบกับโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบว่าที่ดินแปลงอื่นในบริเวณใกล้เคียงมีราคาต่ำกว่าราคาประเมินดังกล่าว จึงฟังได้ว่าราคาขายที่ดินแปลงพิพาทตามสัญญา 7,000,000 บาท นั้น ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นเงิน 12,629,200 บาท เป็นฐานภาษีประเมินให้โจทก์ทั้งสองเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงชอบแล้ว

ความเห็นของผู้เขียน   : ผู้เขียนเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/16 (6) บัญญัติให้ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดราคาทรัพย์สินให้เป็นไปตามราคาตลาดในวันที่โอนสำหรับกรณีที่มีการโอนทรัพย์สินต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งราคาตลาด นั้น หมายถึง ราคาที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำสืบได้ว่าราคาที่ดินแปลงอื่นบริเวณใกล้เคียงที่มีการซื้อขาย ณ ช่วงเวลาเดียวกันมีราคาต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าราคาที่ดินแปลงพิพาทเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปหรือที่เรียกว่า “ราคาตลาด” เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสองให้เป็นไปตามราคาตลาดโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งถือเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดอย่างยิ่งมาเป็นฐานภาษีในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของโจทก์ทั้งสองได้ คำวินิจฉัยของศาลจึงชอบแล้ว

     อย่างไรก็ดี หากโจทก์ทั้งสองสามารถนำสืบได้ว่าราคาที่ดินแปลงอื่นบริเวณใกล้เคียงที่มีการซื้อขาย ณ ช่วงเวลาเดียวกันมีราคาต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือสามารถพิสูจน์ได้ว่าราคาที่ดินแปลงพิพาทจำนวน 7,000,000 บาทนั้นเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าการขายที่ดินของโจทก์เป็นไปตามราคาตลาดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10443/2550

     อนึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

 มัญจา บุญช่วย

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725