จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนเมษายน 2566

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 141 เดือนเมษายน 2566

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1. ยกเว้นเงินได้พึงประเมิน ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดจากภาครัฐ

     กฎกระทรวง ฉบับที่ 388 (พ.ศ. 2566) ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดให้เงินได้พึงประเมินดังต่อไปนี้ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณภาษีเงินได้ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับในปีภาษี 2565

     1) เงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ค่าสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ ค่ารถเช่าหรือเรือเช่าเพื่อการท่องเที่ยว หรือค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน ตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

     2) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าเดินทางและค่าซื้อแพ็กเกจทัวร์จากผู้ประกอบการนำเที่ยวตามโครงการทัวร์เที่ยวไทย

     3) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าซื้อสินค้าหรือบริการที่ได้ใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5

     4) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5

     5) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 2 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3

     6) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ได้ใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ

     7) ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

     8) ค่าตอบแทนในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

     9) ค่าตอบแทนในการให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกสถานพยาบาล ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/417RvG9

     2. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการให้บริการศูนย์ข้อมูลของผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 251) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการให้บริการศูนย์ข้อมูลของผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล ที่ยื่นคำขอตามแบบแนบท้ายประกาศนี้พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และได้รับหนังสือแจ้งผลการอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3Gkt0O8

     3. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 760) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีประกาศกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3mbQiPj

     4. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กรมป่าไม้

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 761) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กรมป่าไม้ เพื่อสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีประกาศกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3KGkQC6

     5. กำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 762) กำหนดให้ “กิจการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เฉพาะรายรับจากการให้กู้ยืมเงินตามโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป” เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/40UW5rK

     6. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร

     พระราชกำหนด การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยมีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งนี้ภายใต้พันธะสัญญา ของความตกลงหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยได้เข้าผูกพัน

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3nNG87P

 

ข่าวภาษี

     1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์

     เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

     1) ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น ทั้งนี้ เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด

     2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/40NNbMx

     2. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package)

     เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน 3 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

     1) ร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ) ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักร และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรในระบบอัตโนมัติ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม จากเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

     2) ร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง) ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ) สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่การจ้างงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

     3) ร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง) ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม หรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้างในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/40NNbMx

     3. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม

     เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญ เป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อสนับสนุนการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือรายจ่ายที่บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 (รวม 3 ปีภาษี)

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/40NNbMx

     4. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา

     เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการกีฬาให้หน่วยงานที่ประกาศกำหนด โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินบริจาค สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 (รวม 2 ปีภาษี)

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/40NNbMx

     5. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษ

     เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งรับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าทำงาน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (รวม 4 ปีภาษี)

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/40NNbMx

     6. การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจากโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงการลงทุน (Investment Token)

     เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

     1) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนต่อประชาชน (ในตลาดแรก) สำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษีอันเนื่องมาจากการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ออกเสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

     2) ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ตลาดรอง) ให้แก่บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ในตลาดรอง)
ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีประกาศกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/40NNbMx

     7. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR)

     เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

     1) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งเป็นผู้ออกและเสนอขายตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สำหรับเงินได้ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศไว้เพื่อการออกตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องไม่นำเงินได้ดังกล่าวที่ได้จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นผู้ถือตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

     2) ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเหลือร้อยละ 10 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ถือตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ 1)

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3GpnSIj

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่   123/2540
ระหว่าง            บริษัท บ.                   โจทก์
                กรมสรรพากร                จำเลย

เรื่อง สวัสดิการอาหารฟรี

ประเด็นข้อพิพาท        : การที่โจทก์ให้พนักงานของโจทก์รับประทานอาหารฟรี ถือเป็นประโยชน์เพิ่มจากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนที่พนักงานจะได้รับหรือไม่

คำพิพากษา                 : การให้บริการรับประทานอาหารฟรีแก่พนักงานของโจทก์บนเรือขุดแร่ ถือว่าพนักงานได้รับประโยชน์ในทางทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้นเนื่องจากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนที่พนักงานจะได้รับ ถือเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงาน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงถือเป็นเงินได้ของพนักงานของโจทก์ซึ่งได้รับอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่ง ประมวลรัษฎากร และเงินได้ในส่วนดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อจำเลย

ความเห็นของผู้เขียน  : โดยความเคารพ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากในการพิจารณาประโยชน์เพิ่ม นอกจากจะพิจารณาถึงความมั่งคั่งเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นของผู้มีเงินได้แล้ว ยังต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นประกอบด้วย ซึ่งในกรณีนี้ คือ เงื่อนไขในการทำงานของพนักงาน

     ในเงื่อนไขการทำงานปกติทั่วไป หากพนักงานได้รับสวัสดิการอาหารฟรี กรณีดังกล่าวย่อมถือเป็นประโยชน์เพิ่มอันเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมารวมคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อกรมสรรพากร
     อย่างไรก็ดี ในเงื่อนไขการทำงานในสถานการณ์พิเศษ เช่น การทำงานนอกชายฝั่งที่ต้องใช้เวลาในการทำงานยาวนานหลายวัน นายจ้างไม่สามารถรับส่งพนักงานแบบไปกลับ เช้า – เย็นได้ รวมถึงนายจ้างก็ไม่อาจจัดเฮลิคอปเตอร์ หรือเรือ รับ – ส่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมากได้ ดังนั้น พนักงานจึงไม่มีทางเลือก ต้องพักในที่อยู่อาศัยที่นายจ้างจัดให้ในเรือที่ไปทำงาน รับประทานอาหารที่นายจ้างจัดให้ จะเห็นว่าในกรณีนี้พนักงานไม่สามารถจัดหาที่พัก หรืออาหารได้เอง ในเชิงหลักการการตีความประโยชน์เพิ่ม กรณีเช่นนี้จะถือว่าประโยชน์ของนายจ้างเหนือกว่าประโยชน์ของพนักงาน ดังนั้น การให้สวัสดิการของนายจ้างในเงื่อนไขการทำงานในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ จึงไม่น่าจะถือเป็นประโยชน์เพิ่ม ซึ่งจะต้องนำมารวมเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงาน
     อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

นภัทร วงศ์ลิมปิยะรัตน์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725