จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกุมภาพันธ์ 2566

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 139 เดือนกุมภาพันธ์ 2566

กฎหมายใหม่ล่าสุด

  1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ
  2. การคำนวณค่าหรือราคาเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ปี 2565
  3. ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับติดต่อกรมสรรพากร พ.ศ. 2566
  4. มาตรฐานเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการส่ง การเก็บรักษา เอกสารหลักฐานหรือหนังสือ และความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ สำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์
  5. กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
  6. กำหนดข้อความอื่นในใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 (7) แห่งประมวลรัษฎากร
  7. กำหนดข้อความอื่นในใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 (7) แห่งประมวลรัษฎากร
  8. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ของวิสาหกิจชุมชน
  9. การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ข่าวภาษี

  1. ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
  2. กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
  3. ค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต
  4. ชนิดและลักษณะของแสตมป์สรรพสามิตและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ
  5. การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคด้านสาธารณสุข
  6. การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่   5897/2550

ระหว่าง                    บริษัท ล.                                     โจทก์

               กรมสรรพากร                                จำเลย

เรื่อง    รายจ่ายต้องห้าม กรณีการลดทุนของบริษัท ตามมาตรา 65 ทวิ (1) และมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 431) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรบางประเภทให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบรับตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3IdO6h5

     2.การคำนวณค่าหรือราคาเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ปี 2565

     ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณค่าหรือราคาเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2566 แจ้งอัตราการคำนวณค่าหรือราคาเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามอัตราถัวเฉลี่ยในวันสุดท้ายของปี พ.ศ. 2565 ที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อขายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้เพื่อปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (5)

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3xxXJlQ

     3.ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับติดต่อกรมสรรพากร พ.ศ. 2566

     ประกาศกรมสรรพากร กำหนดให้เว็บไซต์ www.rd.go.th/rdeservice เป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับให้บริการรับยื่นคำร้อง คำขอ หรือเอกสารหลักฐานอื่น เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3Z6I4Wz

     4.มาตรฐานเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการส่ง การเก็บรักษา เอกสารหลักฐานหรือหนังสือ และความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ สำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 48) กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเอกสาร วิธีการยื่นหรือส่งเอกสารหลักฐานหรือหนังสือ โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น รวมถึงกำหนดวิธีการเก็บรักษาใบกำกับภาษีหรือใบรับที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจัดทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3KlXD8p

     5.กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 247) กำหนดให้เพิ่มข้อความในข้อ 10 และข้อ 11 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39) โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

     ข้อ 10 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีเต็มรูปแทนใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ระบุข้อความไว้ในใบกำกับภาษีเต็มรูปว่า “เป็นการยกเลิกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อย่างย่อเลขที่ … วันเดือนปีที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ … และออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ใหม่แทน”

     ข้อ 11 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีเต็มรูปโดยวิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยการใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์และส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ให้ระบุข้อความไว้ในใบกำกับภาษีว่า “เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” ด้วย

     6.กำหนดข้อความอื่นในใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 (7) แห่งประมวลรัษฎากร

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 248) กำหนดให้เพิ่มข้อความในข้อ 1/1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 194) โดยมีหลักเกณฑ์ว่า กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบเพิ่มหนี้โดยวิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยการใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์และส่งมอบใบเพิ่มหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ให้ระบุข้อความไว้ในใบเพิ่มหนี้ว่า “เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” ด้วย

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3kiAIQN

     7.กำหนดข้อความอื่นในใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 (7) แห่งประมวลรัษฎากร

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 249) กำหนดให้เพิ่มข้อความในข้อ 1/1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 195) โดยมีหลักเกณฑ์ว่า กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบลดหนี้โดยวิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยการใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์และส่งมอบใบลดหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ให้ระบุข้อความไว้ในใบลดหนี้ว่า “เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” ด้วย

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3lNvmgS

     8.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ของวิสาหกิจชุมชน

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 432) กำหนดหน้าที่ของวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ให้ต้องจดทะเบียนและได้รับใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจากกรมส่งเสริมการเกษตรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และให้จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161) รวมทั้งกำหนดให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 31 ธันวาคม 2568

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3Sev0vZ

     9.การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 250) กำหนดให้เพิ่มข้อความเป็นข้อ (ฐ) และ (ฑ) ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) วรรคสองของ (4) ของข้อ 4 ดังนี้

     (ฐ) การโอนหลักทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ของลูกหนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ได้ออกตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่    721) พ.ศ. 2564 และได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

     (ฑ) การขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสดีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ได้ออกตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่         753) พ.ศ. 2565 และได้กระทำตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/413By4J

ข่าวภาษี

     1.ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

     เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่สิ่งปลูกสร้างของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ในโครงการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งก่อสร้างโดยใช้เงินจากการระดมทุนด้วยวิธีการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เฉพาะส่วนที่ให้กรมธนารักษ์เช่าเพื่อจัดให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติราชการ และส่วนที่ใช้เป็นสาธารณูปโภคที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ประโยชน์

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3SeJUlP

     2.กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต

     เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการดังนี้

     1) กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าสุราแช่ที่ผลิตโดยมิใช่เพื่อการค้าขึ้นใหม่ ได้แก่ เบียร์ ไวน์และสปาร์คกลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น และสุราแช่ชนิดอื่น ๆ และสำหรับสินค้าสุรากลั่นที่ผลิตโดยมิใช่เพื่อการค้า ได้แก่ สุราขาวและสุรากลั่นชนิดอื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565

     2) ให้เสียภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 และเสียภาษีในอัตราตามปริมาณเท่ากับสินค้าสุราชนิดเดียวกันที่ผลิตเพื่อการค้าตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3SeJUlP

     3. ค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต

     เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตที่มีการจัดเก็บจริงสำหรับการอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้าและการอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้าให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 และกำหนดค่าธรรมเนียมกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งโรงงานผลิตสุรา

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3SeJUlP

     4.ชนิดและลักษณะของแสตมป์สรรพสามิตและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ

     เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการอันจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดชนิดและลักษณะของแสตมป์สรรพสามิตและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ พ.ศ. 2563 ข้อ 8 (2) เพื่อกำหนดลักษณะและรูปแบบของแสตมป์สุราสำหรับสุราแช่และสุรากลั่นให้สอดคล้องกับถ้อยคำในกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 จากเดิมที่ใช้คำว่า “แสตมป์สุราสำหรับสุราแช่หรือสุรากลั่นที่ผลิตในชุมชน” เปลี่ยนเป็น “แสตมป์สุราสำหรับสุราแช่หรือสุรากลั่นที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กที่ใช้เครื่องจักร… และโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางที่ใช้เครื่องจักร…”

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3SeJUlP

     5.การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคด้านสาธารณสุข

     เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อสนับสนุนการบริจาคด้านสาธารณสุขให้แก่หน่วยรับบริจาครวม 10 แห่ง และให้เพิ่มเติมหน่วยรับบริจาครวม 3 แห่ง รวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่หน่วยรับบริจาคทั้ง 13 แห่งดังกล่าว โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3I8bpZI

     6. การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

     เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขยายระยะเวลาตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 718) พ.ศ. 2564 ซึ่งจะสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 373 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ ซึ่งจะสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดยเห็นควรปรับลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax เหลือร้อยละ 1 จากเดิมร้อยละ 2 เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหักและนำส่งภาษีผ่านระบบ e-Withholding Tax มากขึ้น

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3I8bpZI

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่   5897/2550

ระหว่าง                     บริษัท ล.                                             โจทก์

                กรมสรรพากร                                      จำเลย

เรื่อง     รายจ่ายต้องห้าม กรณีการลดทุนของบริษัท ตามมาตรา 65 ทวิ (1) และมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร         

ประเด็นข้อพิพาท : การลดทุนโดยวิธีลดจำนวนหุ้นของบริษัท ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ ตามมาตรา 65 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

ข้อเท็จจริง : โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท ส. โดยโจทก์เข้าถือหุ้นในลักษณะทรัพย์สินเพื่อรับผลประโยชน์จากเงินปันผล ต่อมาที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. มีมติพิเศษให้ลดทุนของบริษัทลงเนื่องจากต้องการล้างผลขาดทุนสะสมของบริษัทและเพื่อให้สามารถจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนได้ ทำให้จำนวนหุ้นที่โจทก์ถืออยู่ลดลงตามอัตราส่วนการถือหุ้นของโจทก์ในบริษัทดังกล่าวต่อจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ลดลง โจทก์จึงไม่ได้รับเงินค่าหุ้นสำหรับหุ้นที่ถูกลดลงคืน โจทก์จึงบันทึกเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์

เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยเห็นว่า รายจ่ายของโจทก์ซึ่งเท่ากับมูลค่าหุ้นที่ถูกลดลงดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อปรับปรุงกำไรสุทธิใหม่ทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีเพิ่มเติม เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงมีหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิและ แจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

คำพิพากษา : มาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร มีเจตนารมณ์ห้ามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงมายังมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง ในกรณีนี้รายจ่ายจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้วได้มูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่ลงทุนซื้อทรัพย์สินนั้นมา ตามข้อเท็จจริง การลดทุนของบริษัท ส. ไม่ว่าจะเป็นการลดมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นให้ต่ำลงหรือลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่ให้น้อยลงเพื่อนำไปลดผลขาดทุนของบริษัท ส. มีผลเพียงทำให้มูลค่าหุ้นรวมของโจทก์ลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดมูลค่าหรือลดจำนวนหุ้นซึ่งเป็นผลให้มูลค่าของเงินลงทุนในหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์มีมูลค่าลดลง การลดทุนของบริษัท ส. จึงเข้าลักษณะเป็นค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ซึ่งต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ ตามมาตรา 65 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร

ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากการลดทุนโดยวิธีลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่ให้น้อยลง ไม่ใช่การขายหุ้นอันจะทำให้ผู้ถือหุ้นมีกําไรหรือขาดทุนแต่อย่างใด หากแต่เป็นการขาดทุนจากเงินลงทุนที่ไม่ได้มีการขายออกไป ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากหลักดังกล่าว โจทก์ในฐานะบริษัทผู้ถือหุ้นจะนำมูลค่าของเงินลงทุนในหุ้นที่ลดลงมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้ อย่างไรก็ดี หากภายหลังมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวออกไปแล้วมีผลขาดทุนเกิดขึ้น โจทก์จะมีสิทธินำผลเสียหายจากการลดทุนที่ได้รับจากการลดจำนวนหุ้นมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ทั้งนี้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร

อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

ณัฏฐณิชา ศรีเจริญวณิชกุล

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725

Email: wannipas@dlo.co.th