จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายน 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 134 เดือนกันยายน 2565

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

  1. การมอบอำนาจให้สรรพากรพื้นที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร
  2. การมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกองบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร
  3. หลักเกณฑ์และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์
  4. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการบริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  5. คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าและบริจาคสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  6. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ของคนต่างด้าวประเภทผู้พำนักระยะยาว

ข่าวภาษี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่   9687/2559

ระหว่าง                    บริษัท ร.                            โจทก์

               กรมสรรพากร                       จำเลย

เรื่อง    ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนิติบุคคลให้บริการการประกอบโรคศิลปะ

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1.การมอบอำนาจให้สรรพากรพื้นที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร

     คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.346/2565 มีสาระสำคัญเป็นการมอบอำนาจให้สรรพากรพื้นที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรในการพิจารณาคำขอของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ขออนุมัติเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรตามคำร้องขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการใหม่ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 413)

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3xxtDit

     2.การมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกองบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร

     คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.347/2565 มีสาระสำคัญเป็นการมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกองบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ในเรื่องดังต่อไปนี้

     1) พิจารณาคำร้องขอขยายกำหนดเวลาในการยื่นแสดงรายการภาษี การชำระภาษี การนำส่งภาษี หรือการยื่นรายการ บัญชีหรือรายงานตามประมวลรัษฎากรผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์

     2) ลงนามในหนังสือแจ้งผลการพิจารณา

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3YCftsl

     3.กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 42) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานการบริจาคต่อพนักงานประเมินและให้ใช้ข้อมูลการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3IxQmBq

     4.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการบริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 43) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการบริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น โดยการบริจาคผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์หรือสินค้า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3IsK06b

     5.กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าและบริจาคสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 44) กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าและบริจาคสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องระบุในใบขนสินค้าขาเข้าโดยมีข้อความว่า “บริจาค COVID-19” และมีเอกสารเป็นหนังสือจากผู้รับบริจาคซึ่งพิสูจน์การรับบริจาคสินค้านำเข้าจากผู้บริจาคได้ เว้นแต่ ผู้รับบริจาคได้ทำการรับบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้ใช้ข้อมูลการบริจาคที่ปรากฏในระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3Ix4PgX

     6.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ของคนต่างด้าวประเภทผู้พำนักระยะยาว

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 427) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ของคนต่างด้าวประเภทผู้พำนักระยะยาว โดยจะได้รับสิทธิลดอัตราหรือยกเว้นภาษีเงินได้ต่อเมื่อเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย และยื่นแบบ ภ.ง.ด. 95 สำหรับปีภาษีที่ประสงค์จะใช้สิทธิลดอัตราหรือยกเว้นภาษีเงินได้ตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือที่ได้รับการขยายกำหนดเวลา

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3YCbFXZ

ข่าวภาษี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9687/2559

ระหว่าง                    บริษัท ร.                                  โจทก์

               กรมสรรพากร                            จำเลย

เรื่อง     ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนิติบุคคลให้บริการการประกอบโรคศิลปะ

ประเด็นข้อพิพาท       :  นิติบุคคลประกอบกิจการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากการให้บริการการประกอบโรคศิลปะ ตามมาตรา 81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

ข้อเท็จจริง               : โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับฟอกไต ล้างไต ให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โจทก์มีสถานประกอบการ 2 แห่ง ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลโดยมีสัญญาเปิดศูนย์ไตเทียม และสัญญาเช่าเครื่องไตเทียม โจกท์ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ชำระเกินต่อจำเลย แต่เจ้าพนักงานของจำเลย เห็นว่าการประกอบกิจการของโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2551 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2551

คำพิพากษา              : ศาลฎีกาเห็นว่า ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเมื่อพิจารณาจากนิยามของผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดไว้ว่า “บุคคลซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ…” แสดงให้เห็นว่าความประสงค์จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพจากผู้ประกอบการ โดยไม่คำนึงว่าผู้ประกอบการนั้นเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคล เมื่อการให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชีและการว่าความที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้จำกัดเฉพาะผู้ประกอบโรคศิลปะ ผู้สอบบัญชีและผู้ว่าความ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ให้บริการการประกอบโรคศิลปะ จึงเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคล เช่นนี้โจทก์จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเป็นการให้บริการการประกอบโรคศิลปะ ตามมาตรา 81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร

ความเห็นของผู้เขียน : ที่ปรึกษาเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ว่าบุคคลผู้ประกอบกิจการโรคศิลปะไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้นที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถึงแม้โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิอาจประกอบวิชาชีพหรือโรคศิลปะตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นประกอบโรคศิลปะ เพราะเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของบุคคลธรรมดาที่จะขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากนิยามของผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดไว้ว่า “บุคคลซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ…” แล้ว หากจะตีความให้บุคคลหมายถึงเฉพาะบุคคลธรรมดาอย่างเดียว ย่อมขัดต่อความประสงค์จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพจากผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง และอาจก่อให้เกิดปัญหาในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลได้ เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลก็ย่อมมีฐานะเป็นบุคคลหรือผู้ประกอบการอันอาจบริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพได้เช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าการให้บริการรักษาคนไข้กระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรมการวิชาชีพโดยตรงอันเป็นวัตถุประสงค์หลักที่กำหนดให้กิจการประกอบโรคศิลปะเป็นสำคัญแล้วและการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการให้บริการการประกอบโรคศิลปะอันมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากรจากการประกอบกิจการดังกล่าวได้

อนึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

ศุภชัย สังข์มงคล

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725

Email: wannipas@dlo.co.th