จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมกราคม 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 126 เดือนมกราคม 2565

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 10 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร (แลกเปลี่ยนข้อมูลตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล)
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในระบบการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการนำส่งภาษี และค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ให้บริการนำส่งเงินภาษี
3. กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ
4. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
5. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation)
6. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูง STEM
7. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาลูกจ้างให้มีทักษะสูงขึ้นในด้าน STEM
8. ยกเว้นภาษีเงินได้ 2 เท่า สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่ศิริราชมูลนิธิหรือมูลนิธิจุฬาภรณ์
9. กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สําหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติมทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม
10. ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2)
11. ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือนำส่งภาษีในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติ (ฉบับที่ 5)
12. ขยายกำหนดเวลาการแจ้งข้อความตามรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report)
13. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีอากร สำหรับกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม
14. กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
15. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย
16. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
17. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม

ข่าวภาษี
1. การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์
2. มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565
3. มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
4. การดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการเกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting: MLI)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 10701/2555
ระหว่าง    นาย พ. กับพวก        โจทก์
        กรมสรรพากรกับพวก     จำเลย
เรื่อง      เงินที่ได้มาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (การพนัน) ต้องเสียภาษีหรือไม่

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 10 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร (แลกเปลี่ยนข้อมูลตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล)
     กระทรวงการคลังได้ออกระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 10 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2564 เพื่อให้อธิบดีกรมสรรพากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้ปฏิบัติในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 10 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3FzHc2g

2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในระบบการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการนำส่งภาษี และค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ให้บริการนำส่งเงินภาษี
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 410) แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 406) ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 2 มกราคม 2562 แต่ไม่เกินวันที่ 4 สิงหาคม 2563 แจ้งรายละเอียดการลงทุนและการจ่ายเงินหลังการยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 718) พ.ศ. 2564
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3fvzmw9 และ https://bit.ly/33i0Y5D

3. กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 409) กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 726) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
     1. รับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัว เข้าทำงาน
     2. จัดทำรายงานเกี่ยวกับการรับผู้พ้นโทษเข้าทำงานที่จะนำมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเป็นรายเดือน ตามแบบที่กำหมายกำหนด และเก็บรักษารายงานดังกล่าว รวมทั้งเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานไว้ ณ สถานประกอบการ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
     3. ต้องมีหลักฐานประกอบการปล่อยตัวของผู้พ้นโทษดังต่อไปนี้
          1) หนังสือสำคัญการปล่อยตัว (ร.ท.25)
          2) หนังสือสำคัญปล่อยตัวลดวันต้องโทษจำคุก (ล.ว.ท.3)
          3) หนังสือสำคัญพักการลงโทษ (พ.7)
          4) หนังสือสำคัญพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ (พ.8)
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3fsQClG และ https://bit.ly/33LUkEA

4. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 737) พ.ศ. 2564 ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 699) พ.ศ. 2563 ที่มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม ๔.๐ ที่จัดตั้งโดยสถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไป
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3IhmE0x

5. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation)
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 738) พ.ศ. 2564 ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation) ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 710) พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรในระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงต่อไป
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3rqoc1m

6. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูง STEM
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 739) พ.ศ. 2564 ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูง STEM ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 711) พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงาน ให้แก่ลูกจ้างซึ่งมีทักษะสูง STEM ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อเดือนต่อไป
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3FMjmAN

7. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาลูกจ้างให้มีทักษะสูงขึ้นในด้าน STEM
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 740) พ.ศ. 2564 ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาลูกจ้างให้มีทักษะสูงขึ้นในด้าน STEM ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 712) พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือในการจัดฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่อธิบดีประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้าอบรมต่อไป
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3FAG6DJ

8. ยกเว้นภาษีเงินได้ 2 เท่า สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่ศิริราชมูลนิธิหรือมูลนิธิจุฬาภรณ์
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 741) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ (จำนวน 2 เท่าของเงินที่บริจาค) ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่ศิริราชมูลนิธิหรือมูลนิธิจุฬาภรณ์ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 37) กำหนด
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3qxnAYh และ https://bit.ly/3Gzqvpe

9. กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สําหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติมทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 411) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 729) พ.ศ. 2564 สำหรับการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทําให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ ที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร สําหรับทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
     1. เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์
     2. โปรแกรมคอมพิวเตอร์
     3. ยานพาหนะที่จดทะเบียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่มิใช่ได้มาเพื่อนําออกให้เช่า
     4. อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย
     ต้องปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 411) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3FBilLI

10. ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2)
     กระทรวงการคลังได้ประกาศ ขยายกําหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีมูลค่าเพิ่ม สําหรับแบบ P.P. 30.9 ที่จะต้องยื่นภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป ดังนี้
     1. ขยายกําหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีมูลค่าเพิ่ม สําหรับเดือนภาษีกันยายน 2564 ซึ่งต้องยื่นภายในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 29ตุลาคม พ.ศ. 2564
     2. ขยายกําหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีมูลค่าเพิ่ม สําหรับเดือนภาษีตุลาคม 2564 ซึ่งต้องยื่นภายในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
     3. ขยายกําหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีมูลค่าเพิ่ม สําหรับเดือนภาษีพฤศจิกายน 2564 ซึ่งต้องยื่นภายในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3qB9SUB

11. ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือนำส่งภาษีในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติ (ฉบับที่ 5)
     กระทรวงการคลังได้ประกาศ ขยายกำหนดเวลายื่นรายการและชําระภาษีอากรหรือนําส่งภาษีภายในกําหนดเวลาที่ประมวลรัษฎากรกําหนด ให้แก่ท้องที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติอุทกภัยบางจังหวัดทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังต่อไปนี้
     1. ท้องที่ความรับผิดชอบของสํานักงานสรรพากรภาค 4
     1) สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสํานักงานสรรพากรพื้นที่ลพบุรี
     2) สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในสังกัดสํานักงานสรรพากรพื้นที่อ่างทอง จํานวน 5 สาขา ได้แก่ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาป่าโมก สามโก้ เมืองอ่างทอง ไชโย และแสวงหา
     2. ท้องที่ความรับผิดชอบของสํานักงานสรรพากรภาค 9
     1) สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในสังกัดสํานักงานสรรพากรพื้นที่นครราชสีมา 1 จํานวน 3 สาขา ได้แก่ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาพิมาย โนนไทย และโนนสูง
     2) สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในสังกัดสํานักงานสรรพากรพื้นที่นครราชสีมา 2 จํานวน 1 สาขา ได้แก่ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาด่านขุนทด
     3) สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในสังกัดสํานักงานสรรพากรพื้นที่ชัยภูมิ จํานวน 4 สาขา ได้แก่ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเมืองชัยภูมิเกษตรสมบูรณ์ บําเหน็จณรงค์ และจัตุรัส
     โดยสามารถตรวจสอบกำหนดเวลายื่นรายการและชําระภาษีอากร หรือนําส่งภาษี ที่ขยายออกไปได้ที่ https://bit.ly/3A7YF0B

12. ขยายกำหนดเวลาการแจ้งข้อความตามรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report)
     กระทรวงการคลังได้ประกาศขยายกำหนดเวลาการแจ้งข้อความตามรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report) ตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 408) สําหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ดังต่อไปนี้
     1. สําหรับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลําดับสูงสุด และตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลําดับสูงสุดที่ต้องแจ้งพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ให้ขยายออกไปเป็นภายใน 12 เดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
     2. สําหรับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทํากิจการในประเทศไทยที่ต้องแจ้งพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ให้ขยายออกไปเป็นภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความให้แจ้งข้อความจากเจ้าพนักงานประเมิน
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3Fzsatz

13. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีอากร สำหรับกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 38) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ให้วิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมปฏิบัติ หากต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 735) พ.ศ. 2564
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3qyEm9x และ https://bit.ly/325YC9h

14. กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 412) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นสําหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตามมาตรา 4 (1) และมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 732) ดังนี้
     1. การบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 732) จะต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น
     2. การบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตามมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 732) จะบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าก็ได้ แต่การบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3FBJiyN และ https://bit.ly/3KjVmrW

15. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 413) กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจสําหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายปฏิบัติ หากต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 730) พ.ศ. 2564
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3nypk1B และ https://bit.ly/3IcRAic

16. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 414) ได้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ข้อ 8 ข้อ 8/1 ข้อ 9 วรรคสอง และข้อ 10 วรรคหนึ่ง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401) และให้ใช้ข้อความที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 414) กำหนดแทน
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3Gw4lUG

17. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 415) ได้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับเงินได้ เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม ข้อ 5 ข้อ 5/1 และข้อ 7 วรรคหนึ่ง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 369) และให้ใช้ข้อความที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 415) กำหนดแทน
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3nwDosJ

ข่าวภาษี
1. การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์
     เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3KsLzA6

2. มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565
     เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และผู้ประกอบกิจการการผลิตสินค้าท้องถิ่น (OTOP) โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3KsLzA6

3. มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
     เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการด้านภาษี จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 (5 ปี) และมาตรการด้านค่าธรรมเนียม กำหนดให้มาตรการลดค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3KsLzA6

4. การดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการเกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting: MLI)
     เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
     1. ให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการเกี่ยวกับอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting: MLI) (อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI)
     2. เห็นชอบร่างท่าทีอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI (ฉบับภาษาอังกฤษ)
     3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงความจำนงการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI และให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นผู้ลงนามในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็มตามรูปแบบที่กำหนดโดย OECD ให้แก่เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นผู้ลงนามในอนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI และจัดส่งหนังสือดังกล่าวต่อ OECD รวมทั้งให้ยื่นสัตยาบันสารและดำเนินการตามกระบวนการให้สัตยาบันเพื่อแสดงเจตนาให้อนุสัญญาพหุภาคีฯ MLI มีผลผูกพันต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3IbehU5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10701/2555
ระหว่าง    นาย พ. กับพวก        โจทก์
        กรมสรรพากรกับพวก     จำเลย
เรื่อง      เงินที่ได้มาจากการเล่นพนันหวยใต้ดิน ต้องเสียภาษีหรือไม่

ประเด็นข้อพิพาท : เงินที่โจทก์ทั้งสามได้จากการเล่นพนันหวยใต้ดิน เป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่

ข้อเท็จจริง : จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) แก่โจทก์ทั้งสาม ประจำปีภาษี 2545 (ครึ่งปี) ประจำปีภาษี 2545 และประจำปีภาษี 2546 (ครึ่งปี) เลขที่ 11830010-25481129-001-00004 ถึง 11830010-25481129-001-00006 โดยประเมินเงินได้จากการพนันหวยใต้ดินรวมสามฉบับคิดเป็นค่าภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,980,005 บาท โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.3 (อธ.1.2)/148/2549 ถึง สภ.3 (อธ.1.2)/150/2549 ให้เรียกเก็บภาษีและเบี้ยปรับรวมทั้งสามฉบับคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 18,301,740.91 บาท โจทก์ทั้งสามไม่เห็นด้วยจึงนำมาฟ้องเป็นคดีนี้

คำพิพากษาย่อ : มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามประการแรกว่า เงินที่โจทก์ทั้งสามได้จากการเล่นพนันหวยใต้ดิน เป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า เงินได้ที่จำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บภาษีได้ต้องเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย หากจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีจากเงินได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นการรับส่วนแบ่งจากกิจการที่ผิดกฎหมายนั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 39 บัญญัติว่า เงินได้พึงประเมิน หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดภาษีเงินได้ ซึ่งการเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) บัญญัติว่า เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) เมื่อโจทก์ทั้งสามยอมรับแล้วว่ามีเงินได้จากการเล่นพนันสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) แม้เงินได้ดังกล่าวจะเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ตามมาตรา 40 (1) ถึง (7) จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น

ความเห็น : คำพิพากษาศาลฏีกาฉบับนี้แสดงให้เห็นหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรได้เป็นอย่างดีว่า ภาษีเงินได้เป็นภาษีที่จัดเก็บจาก “เงินได้” หรือ “ความมั่งคั่ง” ที่เกิดขึ้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่ามีเงินได้หรือความมั่งคั่งเกิดขึ้นหรือไม่ โดยไม่คำนึงว่าเงินได้หรือความมั่งคั่งนั้นจะได้มาโดยวิธีใด จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังจะเห็นได้จากบทวิเคราะห์ประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ที่ให้คำนิยาม “เงินได้พึงประเมิน หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา 40 และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ ด้วย” โดยไม่มีการกล่าวถึงความชอบด้วยกฎหมายของเงินได้แต่อย่างใด
     ซึ่งหากจะตีความว่าเงินได้ที่จะเสียภาษีเงินได้ ต้องเป็นเงินได้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การตีความดังกล่าวก็ดูจะเป็นการตีความกฎหมายที่แคบเกินไป และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้มีเงินได้ที่ทำงานหาเงินด้วยความสุจริต อีกทั้งยังเป็นการตีความกฎหมายเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนกระทำผิดกฎหมายอย่างแท้จริงอีกด้วย เพราะเท่ากับว่าบุคคลใดก็ตามที่ไม่ต้องการเสียภาษีเงินได้ก็จะไปกระทำการที่ผิดกฎหมาย และบุคคลนั้นก็จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ทันที ซึ่งการตีความกฎหมายลักษณะนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมาก
     การที่ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า เงินได้จากการเล่นพนันสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) ถือเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ต้องเสียภาษีเงินได้ ผู้เขียนจึงเห็นด้วย และการตีความลักษณะนี้ก็ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการกระทำผิดกฎหมาย แต่เป็นการป้องกันและปราบปรามไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายมากกว่า เพราะเมื่อมีเงินได้เกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมาย นอกจากผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษทางอาญาแล้ว ผู้กระทำผิดยังต้องรับโทษทางภาษีเพิ่มเติมอีกด้วย อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายทางหนึ่งของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน ที่ต้องพิจารณาถึงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้มานำเสนอ ก็เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

นายรัฐวุฒิ จิตร์ชนะ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9753, 0-2680-9777
Email: Rattawutc@dlo.co.th