จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 125 เดือนธันวาคม 2564
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดอำนาจอธิบดีกรมสรรพากรในการแลกเปลี่ยนข้อมูล
2. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้แก่ SMEs สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์
3. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ
4. สิทธิประโยชย์ทางภาษีให้แก่บุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
5. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
6. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายในการซื้อชุดตรวจ ATK ให้แก่พนักงาน
7. สิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับองค์กรการเงินชุมชนและสถาบันการเงินประชาชน
8. สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม
9. สิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีการขาย / โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนหรือได้มาโดยวิธีการซื้อขาย
10. เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคำนวณส่วนของหนี้สูญ เพื่อนำมาหักออกจากภาษีขาย
ข่าวภาษี
1. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เพื่อสนับสนุนการบริจาคด้านสาธารณสุข
2. ผู้เสียภาษีสามารถยื่นเอกสารให้กรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2562
ระหว่าง
นาย ส. จำกัด
โจทก์
บริษัท อ.
จำเลย
เรื่อง
รายจ่ายต้องห้าม กรณีรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดอำนาจอธิบดีกรมสรรพากรในการแลกเปลี่ยนข้อมูล
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 54 พ.ศ. 2564 กำหนดอำนาจอธิบดีกรมสรรพากรในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้มาโดยหน้าที่ราชการ เพื่อการปฏิบัติตามพันธกรณีตามความตกลงหรือ DTA และเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันการเลี่ยงภาษีอากร
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3H6A3IW
2. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้แก่ SMEs สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 725) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้แก่ SMEs สำหรับเงินได้จำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 1 แสนบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
รายละเอียดตาม https://bit.ly/30dOcDm
3. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 726) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาท / คน / เดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
รายละเอียดตาม https://bit.ly/30ga555
4. สิทธิประโยชย์ทางภาษีให้แก่บุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
พระราชกฤษฎีกากำหนดสิทธิประโยชย์ทางภาษีให้แก่บุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สรุปได้ดังนี้
4.1 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 727) พ.ศ. 2564 กำหนดสิทธิประโยชย์ทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ รวมทั้งผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3knwS62
4.2 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 728) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จำนวนร้อยละ 100 ของเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3H66kjb
4.3 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 729) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการให้ดีขึ้นตามจำนวนที่จ่ายจริง ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3kkiZoP
4.4 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 730) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ SMEs รายใหม่ สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายและตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3n3mK48
4.5 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 731) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อยู่นอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจที่ลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายจริง
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3H8eA2f
5. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 732) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3qwX7ui
6. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายในการซื้อชุดตรวจ ATK ให้แก่พนักงาน
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 733) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าซื้อชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID -19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID -19 Antigen test self-test kits) เพื่อใช้สำหรับพนักงานหรือลูกจ้างของตนเอง ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกาประกาศกำหนด
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3qmqI9Z
7. สิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับองค์กรการเงินชุมชนและสถาบันการเงินประชาชน
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 734) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ เพื่อลดภาระต้นทุนในการเปลี่ยนสถานะขององค์กรการเงินชุมชนในการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินประชาชน และส่งเสริมการออมทรัพย์และบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่สมาชิกของสถาบันการเงินประชาชน
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3F1yjyS
8. สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 735) พ.ศ. 2564 กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3qlqY9a
9. สิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีการขาย / โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนหรือได้มาโดยวิธีการซื้อขาย
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 736) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์หรือการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนหรือได้มาโดยวิธีการซื้อขายเพื่อบรรเทาภาระภาษีและจูงใจให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตกลงทำสัญญาซื้อขาย
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3qqSKRE
10. เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคำนวณส่วนของหนี้สูญ เพื่อนำมาหักออกจากภาษีขาย
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 242) กำหนดให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคำนวณส่วนของหนี้สูญ เพื่อนำมาหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/11 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ใช้บังคับสำหรับการดำเนินการที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ของเดือนภาษีถัดจากวันที่ประกาศในประกาศนี้เป็นต้นไป (เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป)
รายละเอียดตาม https://bit.ly/3104rnV
ข่าวภาษี
1. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เพื่อสนับสนุนการบริจาคด้านสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร กรณี
ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ให้แก่ ศิริราชมูลนิธิ หรือมูลนิธิจุฬาภรณ์ และยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิดังกล่าวที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3lJmHJJ
2. ผู้เสียภาษีสามารถยื่นเอกสารให้กรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ออกตามความในประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือบุคคลใด อาจยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบยื่นรายการนำส่งภาษี แบบยื่นรายการภาษี แบบนำส่งภาษี รายงาน บัญชีพิเศษ บัญชีงบดุลหรือบัญชีอื่น ๆ ประกอบแบบแสดงรายการ คำร้องคืนภาษีอากร คำอุทธรณ์ คำร้อง คำขอ หรือเอกสารหรือหนังสืออื่นใดให้กรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3lJmHJJ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2562
ระหว่าง
นาย ส. จำกัด
โจทก์
บริษัท อ.
จำเลย
เรื่อง
รายจ่ายต้องห้าม กรณีรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง
ประเด็นข้อพิพาท : มูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อตอบแทนในการที่โจทก์ช่วยจำเลยหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคลขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่
ข้อเท็จจริง : นาย อ กรรมการคนหนึ่งของจำเลยเรียกโจทก์ไปพบบอกว่า จำเลยจะออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เมื่อวางตลาดแล้วจำเลยจะมีกำไรประมาณปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งมีผลให้จำเลยต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 30 ล้านบาท ขอให้โจทก์หาทางเสียภาษีอย่างประหยัด
โจทก์แจ้งนาย อ ว่า โจทก์สามารถทำให้จำเลยเสียภาษีอย่างถูกต้องและน้อยลงได้ หลังจากนั้นโจทก์ได้ตรวจสอบบัญชีของจำเลยกับบริษัทอื่น ๆ ในเครือของจำเลยอีก 4 บริษัท พบว่า หากสามารถบันทึกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้อีกปีละ 39 ล้านบาท ทำให้ภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยลดลงได้ปีละ 11 ล้านบาท
จำเลยตกลงกับโจทก์ว่า จะออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 23 ล้านบาท ให้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขว่า จะจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ ถ้าการทำหลักฐานประกอบการลงบัญชีให้เสียภาษีน้อยลงได้ผลและไม่ถูกกรมสรรพากรตรวจพบ
เพื่อให้จำเลยเสียภาษีน้อยลง จำเลยต้องช่วยจ่ายผลขาดทุนให้กับบริษัท ธ และบริษัท ส จำเลยจึงร่วมกับบริษัท พ สร้างหลักฐานว่า ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัท ธ เพื่อวางแผนการขายเป็นเงิน 30 ล้านบาท และให้บริษัท พ จ่ายเงินจ้างบริษัท ส ทำการวิจัยเกี่ยวกับสินค้าเป็นเงิน 9 ล้านบาท ซึ่งไม่มีการจ้างกันจริง จากการทำเช่นนี้ทำให้กำไรของบริษัท พ. ลดลงไป 39 ล้านบาท สามารถหลบเลี่ยงภาษีในปี 2542 ได้จำนวน 11 ล้านบาท โจทก์จึงเรียกให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 23 ล้านบาทดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยปฏิเสธการชำระเงิน
คำพิพากษา : ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยสามารถลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเนื่องจากโจทก์ทำหลักฐานว่ามีรายจ่ายซึ่งโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงและนำไปหักออกจากกำไรจากการประกอบกิจการของจำเลย นั้น ถือว่าผิดกฎหมาย ตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ฉะนั้น โจทก์จึงไม่อาจนำเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่โจทก์กำหนดขึ้นเองไปหักออกจากกำไรสุทธิของจำเลยได้ ซึ่งโจทก์และจำเลยควรรู้ได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น การที่จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 23 ล้านบาท ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนในการที่โจทก์ช่วยจำเลยหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่าตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์
ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องด้วยการเสียภาษีถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ก็ล้วนแต่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการ หรือรายจ่ายที่กฎหมายกำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดและไม่มีลักษณะเป็นการหลบเลี่ยงการเสียภาษี
การที่โจทก์และจำเลยร่วมกันในการสร้างรายจ่ายค่าวางแผนการขายและค่าทำวิจัยให้แก่บริษัท ธ และบริษัท พ โดยไม่มีการจ่ายเงินกันจริง ถือเป็นการสร้างรายจ่ายอันเป็นเท็จหรือรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง อันเป็นข้อที่กฎหมายกำหนดห้ามไว้อย่างชัดแจ้งตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อนำรายจ่ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ย่อมส่งผลให้การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยลง อันเป็นการหลบเลี่ยงการเสียภาษีและกระทบต่อผลประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีของประเทศ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินจำนวน 23 ล้านบาท ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอันเกิดจากการกระทำดังกล่าว
นางสาวเมษยา สีลาวรรณ
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: Maysayas@dlo.co.th