• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม 2563

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม 2563

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 114 เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม 2563

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”
2. การปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
3. การกำหนดจำนวนรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 71 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
4. ยกเว้นภาษีเงินได้ของวิสาหกิจชุมชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8942/2560
ระหว่าง         บริษัท ด. จำกัด     โจทก์
             กรมสรรพากร       จำเลย
เรื่อง การออกใบลดหนี้ และใบกำกับภาษี

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”
     กฎกระทรวง ฉบับที่ 368 (พ.ศ. 2563) กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักรให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินสามหมื่นบาท ระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2XjQagn

2. การปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
     กฎกระทรวง ฉบับที่ 369 (พ.ศ. 2563) กำหนดลักษณะที่เชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไรของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และกำหนดหลักเกณ์และวิธีการสำหรับให้เจ้าพนักงานประเมินปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทดังกล่าว
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2XlufWh

3. การกำหนดจำนวนรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 71 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
     กฎกระทรวง ฉบับที่ 370 (พ.ศ. 2563) กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการไม่เกิน 200 ล้านบาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 71 ตรี โดยให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีหลังวันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/38rnXuo

4. ยกเว้นภาษีเงินได้ของวิสาหกิจชุมชน
     กฎกระทรวง ฉบับที่ 371 (พ.ศ. 2563) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ของวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลซึ่งมีเงินได้ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี และได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึง 31 ธันวาคม 2565
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3s5wOKh

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8942/2560
ระหว่าง         บริษัท ด.     โจทก์
             กรมสรรพากร   จำเลย
เรื่อง : การออกใบลดหนี้ และใบกำกับภาษี

ประเด็นข้อพิพาท : การส่งมอบสินค้าเพื่อทดแทนที่เสียหาย จะต้องออกใบกำกับภาษีหรือไม่

ข้อเท็จจริง : โจทก์ขายสินค้าให้กับบริษัท ท. โดยได้รับชำระเงินและออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น พบว่ามีสินค้าบางส่วนที่เสียหาย โจทก์จึงนำเข้าสินค้าตัวใหม่มาเพื่อทดแทนสินค้าที่เสียหายไป โดยไม่ได้มีการออกใบลดหนี้สำหรับการรับคืนสินค้าที่เสียหายและไม่ได้ออกใบกำกับภาษีสำหรับการส่งมอบสินค้าใหม่เพื่อทดแทน โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89 (5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยโจทก์อ้างว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่ได้โอนไปยังผู้ซื้อ เนื่องจากตามสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ในสินค้าจะโอนต่อเมื่อมีการติดตั้ง ตรวจรับ และออกใบตรวจรับงานขั้นสุดท้ายเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องออกใบลดหนี้และใบกำกับภาษีฉบับใหม่

คำพิพากษา : ศาลฎีกา เห็นว่า ตามมาตรา 77/1 (8) และมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น หากผู้ขายได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ โดยส่งมอบสินค้าหรือได้รับชำระราคาสินค้าหรือได้ออกใบกำกับภาษีแล้ว ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมเกิดขึ้นแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาถึงการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาซื้อขายตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ผู้ซื้อย่อมนำใบกำกับภาษีไปใช้สำหรับการขอคืนภาษีหรือเครดิตภาษีในเดือนภาษีนั้นได้ และผู้ขายที่ออกใบกำกับภาษีมีหน้าที่นำภาษีขายไปเสียภาษีในเดือนภาษีนั้น และในทางบัญชีสินค้าคงเหลือของผู้ขายก็ต้องมีการตัดยอดสินค้าที่ขายไปออกจากบัญชีสินค้าคงเหลือให้ตรงกับยอดสินค้าที่มีอยู่จริง เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่

     เมื่อโจทก์ได้มีการส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ และออกใบกำกับภาษีพร้อมกับใบ Delivery note เพื่อนำมาเรียกเก็บเงินนั้น ย่อมเกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ที่โจทก์ส่งมอบสินค้า รับชำระราคาสินค้า หรือออกใบกำกับภาษีแล้ว และโจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นการออกใบกำกับภาษีเพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บเงินอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวกับการใช้ในทางระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

     นอกจากนี้ ใบกำกับภาษีดังกล่าวต้องใช้กับสินค้าจำนวนนั้นเท่านั้น หากภายหลังพบว่า สินค้าเสียหายซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชอบเปลี่ยนของใหม่ให้และรับคืนสินค้าที่เสียหายกลับมา โจทก์มีหน้าที่ต้องออกใบลดหนี้สำหรับสินค้าที่เสียหายนั้นและนำภาษีขายที่คำนวณจากสินค้าที่เสียหายมาหักออกจากภาษีขายในเดือนภาษีที่มีการออกใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 ประกอบมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.80/2542 และเมื่อมีการนำสินค้าใหม่มาทดแทนในส่วนที่เสียหายก็ต้องมีการออกใบกำกับภาษีสำหรับสินค้าใหม่ที่นำมาทดแทนเพื่อให้ตรงกับการเสียภาษีซื้อจากการนำเข้าสินค้าใหม่ดังกล่าว และนำไปตัดยอดจากบัญชีสินค้าคงเหลือเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน

     เมื่อปรากฏว่า โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าจำนวนใหม่ทดแทนที่เสียหายซึ่งได้มีการออกใบกำกับภาษีไปก่อนหน้านี้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีตั้งแต่เมื่อมีการส่งมอบสินค้าใหม่โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ การประเมินภาษีของจำเลยจึงชอบแล้ว

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบพยานในชั้นศาลได้ความว่า โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าและเรียกชำระราคาสินค้าจากผู้ซื้อแล้ว อีกทั้งได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการขายสินค้าย่อมเกิดขึ้นแล้วตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ต้องพิจารณาว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้าจะโอนไปตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาหรือไม่ หากภายหลังมีการรับคืนสินค้าเพราะว่าเกิดความเสียหาย โจทก์ก็ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ การออกใบลดหนี้ เนื่องจากเกิดกรณีที่มีเหตุให้โจทก์สามารถออกใบลดหนี้ได้ ตามมาตรา 82/10 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และหากโจทก์ส่งมอบสินค้าใหม่ให้ผู้ซื้อทดแทนที่เสียหาย โจทก์ก็ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการส่งมอบสินค้าเพื่อทดแทนนั้น เนื่องจากเข้าลักษณะเป็นการขาย ตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ไม่ได้ออกใบกำกับภาษี จึงต้องรับผิดตามมาตรา 89 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

     แต่หากเป็นกรณีที่โจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้า หรือรับชำระราคาสินค้า หรือออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งยังไม่เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วในระหว่างนั้นพบว่าสินค้าที่นำเข้ามาชำรุดเสียหาย โจทก์จึงได้นำเข้าสินค้าใหม่มาทดแทนสินค้าที่เสียหายเพื่อส่งมอบให้ผู้ซื้อต่อไปนั้น โจทก์ก็ไม่มีหน้าที่ต้องออกใบลดหนี้แต่อย่างใด โดยโจทก์จะต้องออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อเมื่อความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า หรือรับชำระราคาสินค้า หรือออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ ตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร

     สำหรับสินค้าที่เสียหายนั้น หากโจทก์ได้ทำลายสินค้าซึ่งเสียหายนั้นตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดแล้ว จะไม่ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าที่ได้ทำลาย และมีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้รับอนุมัติให้ทำลายของเสียหรือสินค้าหรือเศษซากจากผู้มีอำนาจอนุมัติให้ทำลายสินค้าแล้วให้มีบุคคลอย่างน้อยประกอบด้วย ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย หรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) ร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลายเพื่อใช้เป็น หลักฐานในการบันทึกบัญชี พร้อมทั้งเชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/2541 เรื่อง แนวทางปฏิบัติ กรณีการทำลายของเสีย สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิสินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: achirayas@dlo.co.th