จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนสิงหาคม 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 133 เดือนสิงหาคม 2565

กฎหมายใหม่ล่าสุด

  1. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
  2. ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  3. ขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าซื้อชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits)
  4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน (REIT Buy-back)
  5. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่มูลนิธิที่กฎหมายกำหนด
  6. ขยายเวลายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้สำหรับการนำเข้าสินค้าต้าน COVID-19 เพื่อการบริจาค
  7. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวภาษี

  1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
  2. มาตรการลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
  3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคด้านสาธารณสุข
  4. ความคืบหน้าในการดำเนินการในฐานะสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Information for Tax Purposes (Global Forum)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่      2871/2564

ระหว่าง                       กรมศุลกากร ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน          โจทก์

                บริษัท ค.                                          จำเลย

เรื่อง      การส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่บริษัทที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 426) กำหนดคุณสมบัติของผู้มีเงินได้ที่เป็นแรงงานฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 731) พ.ศ. 2564 และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายจริงสำหรับเงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 731) พ.ศ. 2564

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3d6LPZA

     2. ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 751) พ.ศ. 2565 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้า ให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3DgkwGZ

     3. ขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าซื้อชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits)

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 752) พ.ศ. 2565 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าซื้อชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) เพื่อใช้สำหรับพนักงานหรือลูกจ้างของตนเองตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3eLmntd

     4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน (REIT Buy-back)

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 753) พ.ศ. 2565 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืนภายใน 2 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายทรัพย์สินที่ทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืนได้ซื้อมาดังกล่าวคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้ซื้อทรัพย์สินนั้น

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3eDKWrL

     5. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่มูลนิธิที่กฎหมายกำหนด

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 754) พ.ศ. 2565 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวน 2 เท่า และยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ หรือมูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนฯ หรือมูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช หรือมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี หรือมูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า หรือมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ฯ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3xiHaLc

     6. ขยายเวลายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้สำหรับการนำเข้าสินค้าต้าน COVID-19 เพื่อการบริจาค

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 755) พ.ศ. 2565 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค COVID-19 เพื่อบริจาคให้แก่สถานพยาบาลที่กำหนด และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้าอันเนื่องมาจากการบริจาคสินค้าต้าน COVID-19 ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3qykKld

     7. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์

     กฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำและยื่นเอกสารหลักฐานหรือหนังสือที่ใช้ในการติดต่อกับกรมสรรพากรของผู้เสียภาษีอากรที่ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3RxMDWp

ข่าวภาษี

     1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

     เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับมาตรการภาษีที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

  1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าอบรมสัมมนาภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นที่อธิบดีกำหนด และจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตท้องเที่ยวอื่นที่อธิบดีกำหนด
  2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดนิทรรศการงานแสดงสินค้าภายในประเทศ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่จ่ายไปเป็นค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในงานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายจริง

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3qynJKr

     2. มาตรการลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

     เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้ลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 ลงร้อยละ 80 เป็นระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียน

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3RFnEAB

     3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคด้านสาธารณสุข

     เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 คณะรัฐมนตรีรับทราบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริจาคด้านสาธารณสุข และมีมติอนุมัติหลักการให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศฯ และมูลนิธิรามาธิบดีฯ และยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิดังกล่าวที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3RFnEAB

     4. ความคืบหน้าในการดำเนินการในฐานะสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Information for Tax Purposes (Global Forum)

     เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการในฐานะสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Information for Tax Purposes (Global Forum) ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการ ดังนี้

  1. เข้าเป็นพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี ซึ่งมีผลผูกพันเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 โดยมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2564 รองรับการเข้าเป็นภาคีดังกล่าวแล้ว
  2. อยู่ระหว่างการเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดส่งคำแถลงการณ์ผ่านช่องทางการทูตให้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD)
  3. เข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการ The Asia Initiative ระหว่างปี 2565 ถึงปี 2569 แล้ว
  4. อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อเข้ารับการประเมินการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ (Exchange of Information on Request Peer Reviews: EOIR Peer Reviews) ระหว่างเดือนกันยายน 2565 ถึงเดือนเมษายน 2566

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3RFnEAB

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่      2871/2564

ระหว่าง                       กรมศุลกากร ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน          โจทก์

                บริษัท ค.                                         จำเลย

เรื่อง การส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่บริษัทที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน

ประเด็นข้อพิพาท : การส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่บริษัทที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้วเป็นการส่งแบบแจ้งการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ข้อเท็จจริง : เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2551 จำเลยนำเข้าวุ้นเส้นจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจปล่อยสินค้าทั้งหมดแล้ว ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2552 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เข้าตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย ณ สถานประกอบการของจำเลย และพบว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริงและมีสินค้าที่จำเลยไม่ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงออกแบบแจ้งการประเมินเพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระขาด พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่จำเลยถูกขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนและเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้ว

คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จำเลยจึงสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/3 และจะกลับคืนฐานะนิติบุคคลได้อีกครั้งเมื่อศาลมีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4 ซึ่งการที่จะถือเสมือนว่าจำเลยคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกนั้นก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียน การที่โจทก์ที่ 1  ออกแบบแจ้งการประเมินภายหลังจากที่จำเลยถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเกือบสามปี โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อตรวจสอบสภาพนิติบุคคลของจำเลยและดำเนินการให้มีการจดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนก่อนมีการออกแบบแจ้งการประเมินและส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลย ทั้ง ๆ ที่มีระยะเวลานานที่จะดำเนินการได้และการตรวจสอบสภาพนิติบุคคลกระทำได้ไม่ยาก แม้ในขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินจะมีผู้ลงลายมือชื่อรับตามไปรษณีย์ตอบรับ แต่ขณะนั้นศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยจึงยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลในขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าว ดังนั้น การส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยซึ่งสิ้นสภาพนิติบุคคลในขณะนั้นจึงไม่สามารถทำได้และยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้แจ้งการประเมินแก่จำเลยแล้ว และเมื่อการส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยไม่ได้อุทธรณ์การประเมิน การประเมินจึงเป็นที่ยุติแล้วไม่ได้

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากแบบแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้รับแบบแจ้งการประเมิน หากผู้รับแบบแจ้งการประเมินไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว ผู้รับแบบแจ้งการประเมินจะต้องยื่นอุทธรณ์การประเมินภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ดังนั้น หากผู้รับแบบแจ้งการประเมินไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในขณะที่ได้รับแบบแจ้งการประเมิน ผู้รับแบบแจ้งการประเมินย่อมไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายได้ การออกแบบแจ้งการประเมินและการส่งแบบแจ้งการประเมินจึงต้องกระทำในขณะที่ผู้รับแบบแจ้งการประเมินยังมีสภาพบุคคลอยู่ คำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวชอบแล้ว

นางสาววรรณนิภา สงวนราษฎร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725

Email: wannipas@dlo.co.th