จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤษภาคม 2564

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 118 เดือนพฤษภาคม 2564

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. การยกเว้นภาษีเงินได้ตามโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์เพิ่มจากภาครัฐ

ข่าวภาษี
1. มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่     2137/2561
ระหว่าง              บริษัท บ. จำกัด     โจทก์
                  กรมสรรพากร       จำเลย
เรื่อง การขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. การยกเว้นภาษีเงินได้ตามโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์เพิ่มจากภาครัฐ

     กฎกระทรวง (ฉบับที่ 372) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากภาครัฐ ดังนี้

     1. เงินสนับสนุนที่ได้รับตามมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) โครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง และโครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ของกระทรวงแรงงาน

     2. เงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

     3. ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าซื้อแพกเกจทัวร์จากผู้ประกอบการนำเที่ยว ตามโครงการกำลังใจ

     4. ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการคนละครึ่ง

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2Rs2Q5h

ข่าวภาษี

1. มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน

     เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีอันเกี่ยวกับสถาบันการเงินประชาชน ดังนี้

     1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสถานะขององค์กรการเงินชุมชนไปเป็นสถาบันการเงินประชาชน

     2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่สมาชิกของสถาบันการเงินประชาชน สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากสถาบันการเงินประชาชนทุกบัญชีรวมกันของสมาชิกแต่ละราย รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษี

     3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่สมาชิกของสถาบันการเงินประชาชน สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่ได้รับจากการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินประชาชน

     4. ยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับตราสารที่สถาบันการเงินประชาชนออกให้กับสมาชิกใน การทำธุรกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่     2137/2561
ระหว่าง              บริษัท บ. จำกัด     โจทก์
                  กรมสรรพากร       จำเลย
เรื่อง : การขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง

ประเด็นข้อพิพาท : คำสั่งอนุมัติให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังมีผลเมื่อใด

ข้อเท็จจริง : โจทก์มีรายรับเกิน 1.8 ล้านตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 ในเดือนธันวาคมโจทก์ได้มีการออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ แต่โจทก์ยังไม่ได้ไปยื่นขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเดือนดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557 โจทก์ได้ไปยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังพร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.พ. 30 สำหรับเดือนธันวาคม 2556 เจ้าพนักงานสรรพากรรับคำขอและให้โจทก์ชำระค่าปรับเนื่องจากการยื่นคำขอย้อนหลังด้วย แต่วันที่ 8 มีนาคม 2557 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม อ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำภาษีตามใบกำกับภาษีซื้อมาใช้ได้ ต้องรับผิดค่าภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้งดเบี้ยปรับจากการประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

     ต่อมา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 โจทก์ยื่นหนังสือขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตามมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 กรมสรรพากรก็ได้อนุมัติให้โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2556

     กรมสรรพากรอ้างว่า คำสั่งอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังนั้น เป็นคำสั่งที่ออกมาภายหลังที่กรมสรรพากรได้ออกหนังสือแจ้งการประเมินและภายหลังที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินแล้ว จึงไม่มีผลลบล้างการประเมินและการพิจารณาอุทธรณ์ได้ โจทก์จึงยื่นแบบภ.พ. 30 โดยยังไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ยังคงต้องรับผิดตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์

คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 85 วรรคสี่ ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้ประกอบกิจการโดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยได้มีการออกใบกำกับภาษี จัดทำรายงาน ยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลา สามารถขออนุมัติเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง จำเลยพิจารณาแล้วอนุมัติให้โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2556 ดังนั้น ผลของการอนุมัติถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันดังกล่าว จึงมีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีได้ โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (1) แห่งประมวลรัษฎากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย พิพากษาให้งดเบี้ยปรับทั้งหมดแก่โจทก์

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา แม้ว่าขณะที่โจทก์ออกใบกำกับภาษีและยื่นแบบภ.พ.30 โจทก์ยังไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะมีสิทธินำภาษีซื้อไปหักกับภาษีขายและยื่นแบบแสดงภ.พ.30 ก็ตาม แต่ในเมื่อภายหลัง โจทก์ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนย้อนหลัง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2556 แล้ว การใด ๆ ที่โจทก์ได้กระทำขึ้นภายหลังที่ได้รับอนุมัติดังกล่าวก็ต้องถือว่าโจทก์ได้กระทำไปโดยมีสิทธิตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่เกิดจากการประเมินภาษีและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยอีก

     แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีของกรมสรรพากรว่าไม่ถูกต้องตั้งแต่ชั้นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่โจทก์เพียงอุทธรณ์เพื่อของดเบี้ยปรับเท่านั้น จึงทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินได้ ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะเพิกถอนการประเมินภาษีได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนก่อนที่จะนำมาฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งถ้าหากโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีว่าไม่ถูกต้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ศาลก็อาจจะเพิกถอนการประเมินของกรมสรรพากร เป็นเหตุให้โจทก์สามารถขอค่าภาษีที่ได้ชำระตามหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวคืนได้อีกด้วย

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: achirayas@dlo.co.th