• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนเมษายนและพฤษภาคม 2562

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนเมษายนและพฤษภาคม 2562

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 100 เมษายนและพฤษภาคม 2562

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญาให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
2. กำหนดให้สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
3. ยกเว้นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนบางกรณี
4. หลักเกณฑ์การให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
5. สิทธิลดหย่อนและหักรายจ่ายสำหรับการบริจาคให้แก่พรรคการเมือง
6. ยกเว้นอากรแสตมป์ สำหรับใบรับกรณีโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์บางกรณี
7. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนบางกรณี
8. แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากเงินฝาก

ข่าวภาษี
1. ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่     867/2561
ระหว่าง                          บริษัท ค.              โจทก์
กรมสรรพากร       จำเลย
เรื่อง การนำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้โดยไม่มีเจตนาทุจริต ไม่เป็นเหตุลดเบี้ยปรับ

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญาให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
พระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากรและความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ หรือที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้วแต่ไม่ถูกต้อง
ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม สำหรับภาษีอากรและรอบระยะเวลาบัญชี หรือเดือนภาษี หรือประเภทตราสารตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะต้องยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินหรือหนังสือแจ้งให้เสียอากรและค่าเพิ่มอากรแล้ว
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ข้างต้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย ซึ่งมีกำหนดครบ 12 เดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561 ไม่เกิน 500 ล้านบาท
(2) ได้มีการยื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตาม (1) ไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(3) ไม่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้ใช้ใบกำกับภาษีที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับใบกำกับภาษีตามประมวลกฎหมายอาญาไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
สำหรับการดำเนินการเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์นั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องดำเนินการดังนี้
(1) ลงทะเบียนต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562
(2) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรหรือยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงิน พร้อมทั้งชำระภาษีอากรที่ยังไม่ได้ชำระหรือยังชำระไม่ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562
(3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรทุกประเภทตามประมวลรัษฎากรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่หักหรือนำส่ง สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ พร้อมทั้งนำส่งภาษีอากรที่ยังไม่ได้นำส่งหรือยังนำส่งไม่ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2UxKVpB

2. กำหนดให้สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 กำหนดให้สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่รายงานข้อมูลของบุคคลที่มีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมดังกล่าวรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาท ขึ้นไป ในปีที่ล่วงมาเฉพาะที่อยู่ในความครอบครองต่อกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2DrKCXO

3. ยกเว้นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนบางกรณี
กฎกระทรวง ฉบับที่ 343 (พ.ศ. 2562) กำหนดให้การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มูลนิธิพระดาบส มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2KVFmlg

4. หลักเกณฑ์การให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 50) พ.ศ. 2562 กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติม (5) ของมาตรา 65 ทวิ โดยกำหนดให้เงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

(ก) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจาก (ข) ให้เลือกใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรือวิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตราหรือทรัพย์สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และคำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หรือวิธีการอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ เมื่อใช้วิธีการใดในการคำนวณค่าหรือราคาดังกล่าวแล้ว ให้ใช้วิธีการนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้

(ข) กรณีธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้
เงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น

2. เพิ่มเติมมาตรา 76 ตรี โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทย
ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน จะแจ้งต่ออธิบดีเพื่อใช้เงินตราสกุลดังกล่าวในการจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย รวมถึงการคำนวณกำไรสุทธิหรือยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ และการคำนวณจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องเสียก็ได้
เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้แจ้งต่ออธิบดีแล้ว ให้ใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานนั้นเพื่อการตามวรรคหนึ่งตั้งแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้แจ้ง และต้องใช้ตลอดไปจนกว่าจะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้

การแจ้งตามวรรคหนึ่งและการอนุมัติตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศก าหนดในราชกิจจานุเบกษา

การประเมินเงินภาษีและการแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ต้องชำระเพิ่มเติม หรือได้รับคืนรวมทั้งการคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม และการปฏิบัติการอื่นใดของเจ้าพนักงานประเมินกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ให้ดำเนินการโดยใช้เงินตราสกุลที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

3. เพิ่มเติมมาตรา 76 จัตวา โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ได้แจ้งหรือได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามมาตรา 76 ตรี แล้ว ในการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน และรายการอื่น ๆ ในงบการเงิน ในวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน หรือจากการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน และบรรดารายการอื่นใดรวมทั้งผลขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (12) ที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ที่เหลืออยู่ ณ วันนั้น ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ดังนี้
(1) เงินตรา ทรัพย์สิน หนี้สิน และรายการอื่น ๆ ในงบการเงิน ให้คำนวณค่าหรือราคาตามหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(2) บรรดารายการอื่นใดรวมทั้งผลขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (12) ที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ ให้คำนวณค่าหรือราคาตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน หรือของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน แล้วแต่กรณี

4. เพิ่มเติมมาตรา 76 เบญจ โดยกำหนดมิให้นำมาตรา 65 ทวิ (5) มาใช้บังคับกับการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรา 76 ตรี แต่ให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินดังกล่าวเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ดังนี้
(1) การคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้เลือกใช้วิธีการคำนวณอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) ใช้อัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คคำนวณไว้ แต่ในกรณีมีส่วนใดที่ไม่อาจคำนวณตามอัตราดังกล่าว ให้ขออนุมัติต่ออธิบดีเพื่อใช้อัตราอื่นเฉพาะส่วนนั้นได้
(ข) ใช้วิธีการอื่นซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามวิชาการบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อใช้วิธีการใดในการคำนวณค่าหรือราคาดังกล่าวแล้ว ให้ใช้วิธีการนั้นตลอดไป เว้นแต่ จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
การขอและการอนุมัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(2) การคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น

5. เพิ่มเติมมาตรา 76 ฉ โดยกำหนดให้การชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ และมาตรา 68 และการคืนเงินภาษีในกรณีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน
ตามมาตรา 76 ตรี ให้ใช้เงินตราไทย โดยให้คำนวณค่าตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้ายก่อนวันชำระภาษีหรือก่อนวันที่ผู้มีอำนาจอนุมัติให้คืนเงินภาษี

6. เพิ่มเติมมาตรา 76 สัตต โดยกำหนดให้ผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน หรือจากการคำนวณค่าของสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นเงินตราไทยเพื่อชำระภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราสกุลอื่นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรา 76 ตรี โดยกำหนดไม่ให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

7. ให้ยกเลิก (8) ของมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (8 เมษายน 2562)
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2ZscZ1t

5. สิทธิลดหย่อนและหักรายจ่ายสำหรับการบริจาคให้แก่พรรคการเมือง
พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 51) พ.ศ. 2562 กำหนดให้การบริจาคให้พรรคการเมืองได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังนี้
1. สำหรับบุคคลธรรมดา ให้นำเงินที่บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง หรือเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่บริจาคเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับการคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมินประจำปี 2561 ที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการในปี 2562 เป็นต้นไป
2. สำหรับนิติบุคคล ให้นำรายจ่ายที่บริจาคให้แก่พรรคการเมือง มาหักเป็นรายจ่ายได้ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับการคำนวณกำไรสิทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริมในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2XGuk58

6. ยกเว้นอากรแสตมป์ สำหรับใบรับกรณีโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์บางกรณี
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 678) พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) โดยกำหนดให้ยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับใบรับกรณีโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเกิดจากโครงการการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดเพื่อใช้อยู่อาศัยจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี สำหรับโครงการประชารัฐสวัสดิการ เฉพาะการโอนให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาดที่ได้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐและได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ สำหรับการขายทอดตลาดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2UyCD0P

7. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนบางกรณี
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 679) พ.ศ. 2562 กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มูลนิธิพระดาบส มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ทั้งนี้ สำหรับ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2562
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2GxQBLt

8. แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากเงินฝาก
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และผลตอบแทนเงินฝากตามหลักวะดีอะฮ์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
1. ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกัน มีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น
2. ชื่อบัญชีเงินฝากและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝากจะต้องเป็นของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากนั้น
3. ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก ต้องยินยอมให้ธนาคารทุกธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากของผู้มีเงินได้ต่อกรมสรรพากรตามรูปแบบที่ธนาคารกำหนด โดยให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดังกล่าวต่อกรมสรรพากร และเก็บหลักฐานการยินยอมไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบต่อไป
4. ผู้มีเงินได้ต้องไม่นำดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 3 ผู้มีเงินได้นั้นไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และให้ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 50 (2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร
หากธนาคารไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่ง ให้ธนาคารนำส่งภาษีที่ต้องนำส่งพร้อมกับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำส่ง ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2IB680o

ข่าวภาษี

1. ยกเลิกมาตรการเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters หรือ ROH) สำนักงานใหญ่ ข้ามประเทศ (International Headquarters หรือ IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center หรือ ITC) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย อันเป็นการปฏิบัติตามโครงการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร (BEPS) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ทั้งนี้ มาตรการภาษีเกี่ยวกับ ROH2 IHQ และ ITC สิ้นสุดลงในวันที่ 1 มิถุนายน 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ ROH
1.1.1 ROH1 (ยุติการจดแจ้งรายใหม่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561)
1.1.2 ROH2 (ยุติการจดแจ้งรายใหม่ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558)
1.1.3 ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป
1.1.4 ยกเลิกการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ ดอกเบี้ยที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือและเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562
1.1.5 ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ ROH2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
1.1.6 ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ROH2 แต่ยังคงยกเว้นสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2562 และจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563
1.2 ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ IHQ (ยุติการอนุมัติรายใหม่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561)
1.2.1 ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IHQ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยคนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IHQ
1.2.2 ยกเลิกการลดอัตราและการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ เงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ รายได้จากการโอนหุ้นของวิสาหกิจในเครือ รายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศและรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป
1.1.1 ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลและดอกเบี้ยที่ได้รับจาก IHQ แต่ยังคงยกเว้นสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2562 และจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563
1.2 ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ IHQ (ยุติการอนุมัติรายใหม่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561)
1.2.1 ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ ITC ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
1.2.2 ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ ITC สำหรับรายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศและรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป
1.2.3 ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในไทยสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ITC แต่ยังคงยกเว้นสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ITC ซึ่งจ่ายจากรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2562 และจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2XBxPcU

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่    867/2561
ระหว่าง                        บริษัท ค.          โจทก์
กรมสรรพากร   จำเลย
เรื่อง การนำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้โดยไม่มีเจตนาทุจริต ไม่เป็นเหตุลดเบี้ยปรับ

ข้อเท็จจริง : โจทก์ประกอบกิจการให้บริการและรับเหมาจัดงานพิธีและงานรื่นเริงต่าง ๆ โดยเมื่อโจทก์ได้รับงานแล้วโจทก์จะต้องรีบดำเนินการจัดงานด้วยความรวดเร็ว จึงต้องจัดซื้อวัสดุต่าง ๆ ผ่านนายหน้า โดยการซื้อขายวัสดุดังกล่าวโจทก์จะชำระด้วยเงินสด หลังจากนั้นนายหน้าก็จัดนำใบกำกับภาษีตามรายการวัสดุมามอบให้โจทก์ และโจทก์นำใบกำกับภาษีดังกล่าวมาใช้เป็นภาษีซื้อในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยไม่ทราบว่าใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีปลอม หรือออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ซึ่งโจทก์เห็นว่า โจทก์ไม่มีเจตนาทุจริต อีกทั้งเมื่อเจ้าพนักงานประเมินภาษีมาโจทก์ก็ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบและนำภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มไปชำระครบถ้วนคงเหลือเพียงแต่เบี้ยปรับ จึงขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ

ประเด็นที่ต้องพิจารณา : มีเหตุให้ลดเบี้ยปรับแก่โจทก์กึ่งหนึ่งของเบี้ยปรับตามกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกา : กรณีโจทก์ได้นำภาษีซื้อจากการซื้อสินค้าตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบหลายฉบับมายื่นแบบคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหลายเดือนและหลายรายผู้ประกอบการ ประกอบกับโจทก์ไม่สามารถอธิบายถึงเรื่องการชำระราคาวัสดุ และไม่สามารถพิสูจน์ผู้ออกใบกำกับภาษีให้แก่โจทก์ได้ จึงถือว่าโจทก์นำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบมาเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม อันมีลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากใบกำกับภาษีเป็นเอกสารสำคัญในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม การใช้ใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกย่อมเป็นการทำลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ กรณีจึงสมควรต้องเสียเบี้ยปรับสองเท่าตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด ให้ยกฟ้องโจทก์

ความเห็น : จากกรณีข้างต้น ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจาก ในการประกอบกิจการต่าง ๆ ทั้งการขายสินค้า หรือให้บริการ หรือนำเข้า ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่เป็นกรณีได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการขายสินค้า หรือให้บริการ หรือนำเข้า และมีรายได้จากการประกอบกิจการดังกล่าวรวมกันเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) พร้อมกับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน โดยในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งนั้น ให้นำภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี หากมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อก็ให้ชำระค่าภาษีเท่ากับส่วนต่างนั้น แต่หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายก็ให้เป็นเครดิตภาษีและผู้ประกอบการมีสิทธิขอคืนได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 มาตรา 81/1 มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยเหตุนี้ ในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนหากมีภาษีซื้อไปหักจากภาษีขายก็ย่อมทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระลดลง ประมวลรัษฎากรจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดลักษณะของภาษีซื้อต้องห้ามไว้เพื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำภาษีซื้อที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการประกอบกิจการและชอบด้วยกฎหมายมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง ดังนั้น เมื่อมีการนำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมทำให้รัฐต้องเสียหายและเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจได้

จากกรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แม้ผู้ประกอบการจะนำภาษีซื้อมาใช้โดยไม่มีเจตนาทุจริตก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้บรรเทาโทษดังที่คำพิพากษาได้วินิจฉัยไม่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจึงควรใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าภาษีซื้อที่ตนนำมาใช้นั้น ไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยการตรวจสอบสถานะของผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ทำธุรกรรมด้วยจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ตลอดถึงตรวจสอบความถูกต้องและเกี่ยวข้องกันของสินค้าหรือบริการที่ได้รับว่าสอดคล้องกับการประกอบกิจการหรือไม่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างกรณีดังกล่าว

นายวรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760