จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกรกฎาคม 2561

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 91 กรกฎาคม 2561

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. หลักเกณฑ์การยื่นขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับคนพิการซึ่งเป็นคนต่างด้าว

3. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

4. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อ จ้างทำ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์

5. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการหรือค่าที่พักสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง

6. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าอบรมสัมมนาให้ลูกจ้างในจังหวัดท่องเที่ยวรอง

 

ข่าวภาษี

1. ร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 กรณีให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ)

2. เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เพื่อให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

3. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เกี่ยวกับมาตรการกำหนดให้ใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินไทยในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

4. ร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (ปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ในส่วนค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ)

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2636/2560

 

ระหว่าง            นาย ก                   โจทก์

กรมสรรพากร       จำเลย

 

เรื่อง  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (6) แห่งประมวลรัษฎากร

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. หลักเกณฑ์การยื่นขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 221) กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประสงค์จะยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.04) กรณีใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ภายใน 15 วันนับแต่ทราบเหตุแห่งการขอ ซึ่งสามารถขอรับได้ทั้งในรูปแบบกระดาษ และด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2M7CL4j

 

2. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับคนพิการซึ่งเป็นคนต่างด้าว

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 319) กำหนดให้ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการซึ่งเป็นคนต่างด้าว และเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และมีหนังสือรับรองความพิการจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 190,000 บาท

 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2M40eDv

 

3. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 320) กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 5 รอบระยะเวลาบัญชีสำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย สามารถยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากร (แบบ ร.ม.1) ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว หากประสงค์จะขอเพิ่มกิจการ หรือประเภทสินค้าหรือบริการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็สามารถยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากร (แบบ ร.ม.2) โดยยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2tgeKQF

 

4. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อ จ้างทำ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 321) กำหนดหลักเกณฑ์ในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของ SMEs 2 เท่าของรายจ่าย แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อ จ้างทำ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่รวมค่าบำรุงรักษารายปี เฉพาะภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะต้องถูกสร้างและพัฒนาขึ้นในประเทศไทย เพื่อใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจด้านต่างๆ

2. เป็นโปรแกรมที่สามารถนำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ พร้อมทั้งจะต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จ่ายไป

3.ไม่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

4.จะต้องไม่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเภทเดียวกันกับที่เคยใช้ในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้านั้น

 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2M8uFHS

 

5. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการหรือค่าที่พักสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 322) กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล) สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการหรือค่าที่พักสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นที่กำหนด เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ที่ได้จ่ายไประหว่างวันที่ 1 มกราคม 2561- 31 ธันวาคม 2561

 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2IfhO4u

6. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าอบรมสัมมนาให้ลูกจ้างในจังหวัดท่องเที่ยวรอง

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 323) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อจัดสัมมนาให้แก่ลูกจ้าง โดยจ่ายเป็นค่าห้องสัมมนาค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่กำหนด โดยยกเว้นภาษีเงินได้เป็น 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2tiiv8f

 

ข่าวภาษี
1. ร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 กรณีให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ)

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … กำหนดให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 โดยให้ใช้บังคับต่อไปสำหรับการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศจนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศ เพื่อให้ระยะเวลาของสัญญากู้ยืมในต่างประเทศที่ได้มีการต่อสัญญาหรือมีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ

 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2JkXU9u

2. เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เพื่อให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

เมื่อวันที่  5 – 20 มิถุนายน 2561 กรมสรรพากร ได้เปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เกี่ยวกับการใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน อัตราแลกเปลี่ยนสำหรับการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สิน และวิธีการคำนวณ รวมทั้งการชำระภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานสามารถดำเนินงานได้อย่างครบถ้วนในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นขั้นตอนการชำระภาษีที่กำหนดให้ใช้เงินตราไทย และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2JvP1y1

 

3. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เกี่ยวกับมาตรการกำหนดให้ใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินไทยในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

เมื่อวันที่  7 – 25 มิถุนายน 2561 กรมสรรพากร เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เกี่ยวกับมาตรการกำหนดให้ใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินไทยในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดยกำหนดให้บริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินตราต่างประเทศสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานสามารถใช้เงินสกุลดังกล่าวในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ พร้อมทั้งกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณเงินตรา หนี้สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานการบัญชี

 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2MmTLUg

 

4. ร่างพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (ปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ในส่วนค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ)

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (ปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ในส่วนค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ) กำหนดเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของบริษัทของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters หรือ IHQ) จากเดิมซึ่งเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับรายได้ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ เป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่กระทำขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าการวิจัยและพัฒนานั้นจะกระทำโดย IHQ หรือโดยการจ้างผู้อื่น

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2yzrO96

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2636/2560

 

ระหว่าง            นาย ก                   โจทก์

กรมสรรพากร      จำเลย

 

เรื่อง  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (6) แห่งประมวลรัษฎากร

 

เงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (2) เป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ส่วนมาตรา 40 (6) เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระรวมถึงการบัญชี ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้ประเภทต่าง ๆ กฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่ายไม่เหมือนกัน เมื่อเงินได้เกี่ยวกับการรับทำงานให้ของผู้ประกอบวิชาชีพล้วนเป็นการรับจ้างบริการในลักษณะเดียวกัน การจะพิจารณาว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด นอกจากจะต้องพิจารณาถึงลักษณะของงานที่ทำว่าเป็นการประกอบวิชาชีพโดยตนเองอาศัยความรู้ความชำนาญและได้รับเงินตามปริมาณผลงานที่ทำหรือไม่แล้ว ยังต้องพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้ของผู้ประกอบวิชาชีพประกอบกันด้วย เพราะหากไม่พิจารณาจากค่าใช้จ่ายด้วยแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีเงินได้จากลักษณะงานที่มีค่าใช้จ่ายน้อยก็จะอ้างว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) เพื่อหักค่าใช้จ่ายมากเกินกว่าค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดเงินได้จริง

เมื่อเงินได้พึงประเมินที่บริษัท ห. จ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าที่ปรึกษาวางระบบบัญชี มาจากการรับทำงานให้ที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนโดยไม่เกี่ยวกับปริมาณงาน และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีค่าใช้จ่าย เงินได้ดังกล่าวจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) หาใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (6) ไม่

ความเห็น

ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาข้างต้นด้วยเหตุว่า เงินได้พึงประเมินในแต่ละประเภทมีหลักการพิจารณาที่แตกต่างกันและกฎหมายภาษีอากรได้กำหนดให้มีการหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของเงินได้ เนื่องจากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพต่างกัน ย่อมมีต้นทุนหรือลักษณะความยากง่ายของงานแตกต่างกัน หากไม่พิจารณาถึงประเภทเงินได้อย่างเคร่งครัด อาจเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้ที่ตั้งใจที่จะหลบเลี่ยงภาษีอากรเบี่ยงเบนให้เงินได้ที่ตนเองได้รับให้เป็นเงินได้ประเภทอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อให้สามารถหักค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้เสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะต้องเสียจริง อันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้มีเงินได้ที่มีเงินได้ในลักษณะเดียวกัน

ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกานี้ แม้ว่าโจทก์จะรับจ้างเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางระบบบัญชี อันเป็นลักษณะของงานตามวิชาชีพบัญชี เงินได้ที่โจทก์ได้รับจึงน่าจะพอถือได้ว่า เป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30 ไม่จำกัดจำนวน หรือหักค่าใช้จ่ายได้ตามจำเป็นและสมควร มาตรา 44 แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนของเงื่อนไขการรับค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนในอัตราคงที่ โดยไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่ทำ และโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการประกอบวิชาชีพอิสระดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40 (2) (เดิม) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท [1] เงินได้ของโจทก์จึงไม่ใช่เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระทางบัญชี ไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 44

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประมวลรัษฎากรในการจัดเก็บภาษี ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องพิจารณาถึงประเภทของเงินได้พึงประเมิน ข้อเท็จจริง ตลอดจนเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

 เมษยา  สีลาวรรณ


[1] ปัจจุบันหักได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยเริ่มบังคับใช้ในปีภาษี 2560 ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ.2560

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: budhimak@dlo.co.th

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

   

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th