• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤษภาคม 2559

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤษภาคม 2559

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 65 เดือนพฤษภาคม 2559

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SME ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 602) พ.ศ. 2559 ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคลซึ่งมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการจากกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

  1. ต้องจดทะเบียนตั้งนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559
  2. มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
  3. มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชี
  4. ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
  5. ไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
  6. ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

ทั้งนี้ สภาพของกิจการ หลักเกณฑ์การได้สิทธิ การถูกเพิกถอนต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาและประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดและให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/zAJrQ9, https://goo.gl/cvW4TB

ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SME

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 603) พ.ศ. 2559 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 โดยลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท (SME) ดังนี้

กำไรสุทธิ

รอบบัญชีที่เริ่มระหว่าง 1 ม.ค. 58-31 ธ.ค. 59

รอบบัญชีที่เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 60

0-300,000

ยกเว้น

ยกเว้น

300,001-3,000,000

10%

15%

3,000,001 ขึ้นไป

20%

 

อนึ่ง สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท SME ยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554

ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/BAfBxP

สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีนิติบุคคลจ่ายเงินเพื่อการลงทุน

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน ต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการแต่ต้องไม่ใช่เป็นการซ่อมแซม เป็นจำนวน 100% (1 เท่า) ของรายจ่ายนั้นโดยต้องเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559

ทั้งนี้ ลักษณะทรัพย์สิน หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่จะได้รับยกเว้นต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) กำหนด และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/44S5i0 , https://goo.gl/nGJWun และ https://goo.gl/86HUqH

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีจ่ายเงินเข้ากองทุนการออมฯและรับประโยชน์จากกองทุนการออมฯ

รมว. คลังออกกฎกระทรวงฉบับที่ 314 (พ.ศ. 2559) กำหนดให้เงินได้พึงประเมินดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  1. เงินได้เท่าที่สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 500,000 บาทในปีภาษีหนึ่งๆ
  2. เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนการออมแห่งชาติเนื่องจากสมาชิกกองทุนทุพพลภาพ หรือสิ้นสมาชิกภาพเนื่องจากอายุครบกำหนด

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่จะได้รับยกเว้นต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวและประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/rP8nnK

กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

กระทรวงการคลังออกประกาศเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 391) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

  1. ต้องเป็นรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับการประกาศกำหนดจากอธิบดีกรมสรรพากร
  2. ต้องเป็นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีลักษณะตามประกาศฉบับนี้
  3. ต้องยื่นโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือหน่วยงานอื่นที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศกำหนด เพื่อให้ตรวจสอบและรับรองว่าเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี
  4. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจได้รับสิทธิโดยไม่ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามข้อ 3 หากว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

ทั้งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/hn5AIb

กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับยกเว้นภาษีกรณีการบริจาคเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬา

ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 596) พ.ศ. 2559 ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬานั้นอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้รับยกเว้นเพิ่มเติม โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

  1. กรณีบุคคลธรรมดาจะต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น
  2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า
  3. ผู้จะขอใช้สิทธิต้องมีเอกสารหลักฐานจากผู้รับบริจาค เพื่อประกอบการยกเว้นภาษีดังกล่าว เช่น ใบเสร็จรับเงิน หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ เป็นต้น

อนึ่ง ต้องเป็นการบริจาคตามเงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกากำหนดและให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/zoxUp0 และ https://goo.gl/SrfD99

กำหนดหลักเกณฑ์ยื่นคำขอเป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 ให้สิทธินำรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามที่อธิบดีประกาศกำหนดลงเป็นรายจ่ายได้ 3 เท่าตามที่จ่ายจริงนั้น

อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอเป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับหน่วยงานที่ประสงค์เป็นผู้รับทำวิจัยโดยให้ยื่นคำขอที่สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สำนักงานตั้งอยู่

ทั้งนี้ ลักษณะงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม แบบคำขอ เอกสารประกอบการยื่นและเงื่อนไขอื่นๆ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/E7q4W8

แก้ไขหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 209) แก้ไขหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ไม่ต้องพิจารณาเงื่อนไขเรื่องจำนวนเงินทุนจดทะเบียนและมีความมั่นคงต่อเนื่องในการประกอบกิจการและมีประวัติการเสียภาษีอากรที่ดีอีกต่อไป

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/xUgW2k

คำชี้แจงกรมสรรพากรเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายกรณีที่จ่ายเงินให้แก่นิติบุคคลประเภท SME ที่ได้จดแจ้งตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2559

ตามที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาท (SME) ซึ่งได้จดแจ้งตามเงื่อนไขที่พระราชกำหนดกำหนดซึ่งอาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 นั้น

กรมสรรพากรออกคำชี้แจงว่าผู้จ่ายเงินได้ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้นั้น เนื่องจากขณะจ่ายเงินยังไม่แน่ชัดว่า SME ดังกล่าวจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาหรือไม่

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/PsgDBR

 

ข่าวภาษี

รัฐเตรียมออกกฎหมายยึด อายัดทรัพย์สินคนโกงภาษี

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 ครม. มีมติอนุมัติหลักการให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของ Financial Action Task Force (FATF) โดยให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวได้ หากมีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/UjmQCb

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 687/2550

ระหว่าง     บริษัท ก                             โจทก์

กับ           กรมสรรพากร ที่ 1 กับพวก     จำเลย

เรื่อง         การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้เพิ่มทุนโดยออกหุ้นใหม่ โดยโจทก์ระบุว่าได้เรียกชำระเงินค่าหุ้นครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี 2533 แต่ยังไม่มีการเรียกรับเงินจริงและในงบการเงินปี 2535 และ 2536 กลับปรากฏว่าโจทก์ได้แสดงรายการในลักษณะที่ให้กรรมการและบุคคลอื่นกู้ยืมเงินดังกล่าวทุกปี อย่างไรก็ดีการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวแม้จะเป็นการกู้ยืมเงินหลายครั้งแต่การกู้แต่ละครั้งเนื่องมาจากการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่เพียงครั้งเดียว จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ให้กรรมการและผู้อื่นกู้ยืมเงินเป็นปกติแต่อย่างใด ดังนั้นโจทก์จึงมิได้ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคดีข้างต้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ให้กรรมการและผู้อื่นกู้ยืมเงินหลายคราวถือเป็นการกรณีที่โจทก์ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์อันจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ ในเรื่องนี้ศาลฎีกาฟังว่าแม้จะเป็นการกู้ยืมกันหลายครั้งก็ตาม แต่เมื่อเหตุแห่งการกู้ยืม ( หนี้ที่เกิดจากการเพิ่มทุน) เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว การที่โจทก์แสดงรายการบันทึกบัญชีว่าให้กรรมการและบุคคลอื่นกู้ยืมหลายครั้งก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์อันจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

สำหรับในเรื่องนี้นั้น ผู้เขียนเห็นว่าการที่จำเลยต่อสู้คดีโดยอ้างว่าการที่โจทก์ให้กรรมการและบุคคลอื่นกู้ยืมเงินหลายคราว เป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์อันจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ผู้เขียนเห็นว่าการที่จะพิจารณาว่าการให้กู้ยืมลักษณะใดเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หรือไม่นั้น นอกจากจะพิจารณาถึงจำนวนครั้งแล้วกรณียังต้องพิจารณาว่าผู้ให้กู้ให้กู้เงินเป็นปกติหรือไม่ ซึ่งคำว่า “ปกติ” เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 702/2552 วินิจฉัยว่า คำว่า “โดยปกติ” มีความหมายว่าได้ประกอบกิจการดังกล่าวเช่นปฏิบัติมา ซึ่งเมื่อปรับใช้กับกรณีการให้กู้ยืมย่อมมีความหมายว่าเคยมีการให้กู้ยืมเงินกันมาหลายครั้ง ซึ่งคำว่าหลายครั้งนั้น ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะหมายถึงมูลเหตุแห่งการกู้ยืม ( มูลหนี้) เกิดขึ้นหลายครั้งด้วย เพราะนอกจากให้กู้ยืมโดยปกติแล้ว ประมวลรัษฎากรมาตรา 91/2 (5) ยังกำหนดว่าต้องเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งธรรมชาติของการให้กู้ยืมเงินของกิจการธนาคารพาณิชย์ย่อมเกิดมาจากการให้กู้ยืมเงินจากหลายมูลหนี้ไม่ใช่มูลหนี้เดียว เมื่อข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่าเป็นการให้กู้ยืมจากมูลหนี้เพียงครั้งเดียว การให้กู้ยืมของโจทก์จึงไม่น่าจะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์อันจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาชอบแล้ว

นายธรดล จันทรศัพท์
ที่ปรึกษาภาษีอากร

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

สุรีย์ลักษณ์ ธนากิจไพศาล

+662 680-9753

sureelukt@dlo.co.th