• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2559

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2559

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 63 เดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2559

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

คงอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 600)  พ.ศ. 2559 ให้คงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่ได้รับในปี 2559   ดังต่อไปนี้

เงินได้สุทธิ

อัตราภาษี

ไม่เกิน            300,000 บาทร้อยละ   5
300,001    –    500,000 บาทร้อยละ 10
500,001    –    750,000 บาทร้อยละ 15
750,001    –   1,000,000 บาทร้อยละ 20
1,000,001 –   2,000,000 บาทร้อยละ 25
2,000,001 –   4,000,000 บาทร้อยละ 30
4,000,001 บาท ขึ้นไปร้อยละ 35

 

ทั้งนี้ เงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก ยังคงได้รับยกเว้นภาษีตั้งแต่ปี 2551 ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 เฉพาะกรณีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/bp0iEr, https://www.dlo.co.th/node/891 และ https://www.dlo.co.th/node/894

สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีผู้ลงทุนเปลี่ยนแปลงหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นใบทรัสต์

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 599) พ.ศ.2559 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีผู้ลงทุนเปลี่ยนแปลงหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นใบทรัสต์ ดังนี้

1. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นใบทรัสต์ อันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

2. ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สำหรับมูลค่าฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากการแปลงสภาพเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกากำหนดและใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/lyFLrx

สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนี้

1. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายเพื่อทำการวิจัยฯให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

2. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นจากข้อ 1. อีก 1 เท่า (รวมเป็น 3 เท่า) ของรายจ่ายที่จ่ายเพื่อทำการวิจัยฯตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ เมื่อรวมรายจ่ายส่วนที่เป็น 2 เท่าและ 3 เท่า ต้องไม่เกินอัตราส่วนของรายได้ของกิจการในรอบบัญชีเดียวกัน ดังนี้

2.1 ค่าวิจัยฯต้องไม่เกิน 60% ของรายได้ส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท

2.2 ค่าวิจัยฯต้องไม่เกิน 9 % ของรายได้ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท

2.3 ค่าวิจัยฯต้องไม่เกิน 6% ของรายได้ส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท

3. ผู้ใช้สิทธิยกเว้นต้องไม่นำรายจ่ายดังกล่าวไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/lyFLrx และ https://www.dlo.co.th/node/895

สิทธิที่ประโยชน์ทางภาษีของบริษัทซึ่งประกอบกิจการร่วมลงทุนและทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 597) พ.ศ.2559 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนจากการลงทุนในบริษัทที่ประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน (บริษัทเป้าหมาย) เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้

1. ได้รับยกเว้นภาษีจากเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทเป้าหมาย

2. ได้รับยกเว้นภาษีจากกำไรจากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย โดยบริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนที่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมทุนได้รับรายได้จากการโอนหุ้น

นอกจากนี้ บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ถือหุ้นในบริษัทซึ่งประกอบกิจการร่วมลงทุนหรือถือหน่วยทรัสต์ในทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนก็ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในลักษณะเดียวกับที่กล่าวข้างต้นด้วยเช่นกันและยังได้รับสิทธิยกเว้นรายได้จากการที่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมทุนหรือทรัสต์เลิกกันตามสัดส่วนซึ่งตีราคาเงินได้เกินกว่าเงินทุน

ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกากำหนดและให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/BWrmHK

สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเพื่อการสนับสนุนทางกีฬา

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 596) พ.ศ.2559 ขยายเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเพิ่มความชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขสำหรับการบริจาคให้แก่หน่วยงานทางการกีฬา เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” เป็นต้น ดังนี้

1. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนจำนวน 2 เท่า ของจำนวนเงินที่บริจาคแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

2. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายสนับสนุนการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบและรายจ่ายจัดสร้างสนามเด็กเล่น ฯลฯ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิก่อนหักรายจ่ายการกุศลและการกีฬา

3. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาค

ทั้งนี้ ต้องเป็นการบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่พระราชกฤษฎีกากำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/VX7SZg

ยกเลิกการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินบางประเภท

รมว.คลังออกกฎกระทรวงฉบับที่ 312 (พ.ศ.2559) ยกเลิกการยกเว้นเงินได้พึงประเมินจากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน

ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/KdDNDb และ https://goo.gl/2Qerff

กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติมตามกฎหมายภาษีการรับมรดก

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติออกพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 นั้น ต่อมาได้มีการออกกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ดังนี้

1. กฎกระทรวงกำหนดประเภททรัพย์สินที่อยู่ในไทยซึ่งต้องเสียภาษีการรับมรดก

2. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การหักภาระที่ถูกรอนสิทธิเพื่อคำนวณมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดก

3. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก

4. ประกาศกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยกรณีได้รับมรดกที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศ

5. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่องกำหนดแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60)

6. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการขอคืนภาษีการรับมรดก

7. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่องกำหนดแบบคำอุทธรณ์และสถานที่ยื่นคำอุทธรณ์การประเมินภาษีการรับมรดก

ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/11pfmT, http://goo.gl/3tBPs7, http://goo.gl/3Jz6iW, http://goo.gl/E62GlK, http://goo.gl/CgFqcZ, http://goo.gl/ime1FQ และ http://goo.gl/o52R3n

 

ข่าวภาษี

สนช.รับหลักการร่างกฎหมายลดอัตราภาษีนิติบุคคล

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับร่างพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเรื่อง การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลืออัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิโดยให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/SBmEDs

อียูให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สินค้าไทยเพิ่มเติม

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกประกาศระเบียบปรับปรุงรายการสินค้าฝ่ายเดียวเป็นการชั่วคราว (Autonomous Tariff Suspension) ยกเว้นภาษีนำเข้าของไทยเพิ่มเติมหลายรายการ เป็นผลให้มีสินค้าที่ได้รับยกเว้นและลดหย่อนภาษีกว่า 2,000 รายการ

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/U11cTt

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 13936/2555

ระหว่าง                  นาย อ.                                                  โจทก์

กับ                        กรมสรรพากร                                         จำเลย

เรื่อง                      เงินได้พึงประเมินประเภทเงินปันผล

การพิจารณาว่าเงินได้ประเภทใดเป็นเงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งจะได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ต้องได้ความว่าเงินได้นั้นต้องเป็นส่วนแบ่งกำไรจากการทำมาค้าได้ที่ห้างหุ้นส่วนจ่ายตอบแทนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนตามส่วนแห่งการลงหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1084 หากเป็นกำไรที่ยังไม่ได้แบ่งหรือเหลือจากการแบ่งย่อมไม่อาจถือเป็นเงินปันผลตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. จำนวน 66,188.86 บาท โจทก์จึงยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) โดยใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล แล้วขอคืนเงินภาษีจำนวน 12,436.44 บาท แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. เลิกห้างและอยู่ระหว่างยื่นคำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เงินได้นั้นจึงมิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1084 แต่เป็นเงินได้จากการเฉลี่ยแจกกำไรในระหว่างการชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1062 เงินที่โจทก์ได้รับจึงมิใช่เงินปันผลที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์ลงทุน อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคดีข้างต้น มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เดิมทีห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. ประกอบกิจการขาดทุน ต่อมาห้างฯเลิกกัน และแบ่งกำไรที่เกิดขึ้นระหว่างการชำระบัญชีให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับดังกล่าว เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรอันสามารถนำมาเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรได้หรือไม่

ผู้เขียนเห็นว่าส่วนแบ่งกำไรที่สามารถนำมาเครดิตภาษีได้นั้นต้องเกิดจากการทำมาหาค้าได้ตามมาตรา 1084 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ มาจากการประกอบกิจการจนมีกำไรเกิดขึ้น และแบ่งกำไรตามสัดส่วนที่ได้ลงทุนในกิจการ แต่หากกิจการขาดทุน กรณีจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรได้เลย

ในกรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. เลิกกิจการและมีกำไรจากขั้นตอนสุดท้ายของการชำระบัญชี โดยการคืนทุนทรัพย์ตามที่หุ้นส่วนได้ลงหุ้นไว้นั้นกำไรที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นผลที่งอกเงยมาจากการขายทรัพย์สินที่หุ้นส่วนได้ลงทุน ไม่ใช่เกิดจากการดำเนินงานหรือประกอบกิจการของห้างฯ โดยตรงแต่อย่างใด ซึ่งกำไรที่เกิดขึ้นถือเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากห้างฯเลิกกิจการตาม มาตรา 40 (4) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สามารถนำไปเครดิตภาษีได้

ดังนั้น หากห้างหุ้นส่วนของท่านมีแผนที่จะเลิกกิจการในขณะที่กิจการยังมีกำไรท่านก็ควรที่จะจ่ายส่วนแบ่งกำไรแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนให้หมดก่อนเลิกกิจการ เพื่อผู้เป็นหุ้นส่วนจะได้นำเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นมาเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนำไปแยกคำนวณต่างหากจากเงินได้พึงประเมินที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเดือนมีนาคมเพื่อเป็นการประหยัดการเสียภาษีอีกทางหนึ่ง

นางสาวชัชวลี  ไมตรี
ที่ปรึกษาภาษีอากร

                หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนน วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

สุรีย์ลักษณ์ ธนากิจไพศาล

+662 680-9753

sureelukt@dlo.co.th