• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนตุลาคม 2558

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนตุลาคม 2558

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 59 เดือนตุลาคม 2558

กฎหมายใหม่ล่าสุด

สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน

ครม.ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 594) และ (ฉบับที่ 593) พ.ศ. 2558 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ และให้แก่โครงการรวมใจไทยต้านค้ามนุษย์ ดังนี้

1. กรณีบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเท่าจำนวนเงินที่บริจาคแต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น เงินที่บริจาคให้แก่สถานพยาบาล เป็นต้น ต้องไม่เกินร้อยละ 10

2. กรณีนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดและให้มีผลตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/8byt7N และ http://goo.gl/V3yGFA

ขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1 ปี

ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 92/2557 ให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากอัตราร้อยละ 10 เป็นอัตราร้อยละ 6.3 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีนั้น

ครม.ได้ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 592) พ.ศ. 2558 คงอัตราดังกล่าวต่อไปโดยจากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2558 ขยายเป็นวันที่ 30 กันยายน 2559 จากนั้นให้ใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/sBvtlB

หมายเหตุ แม้ว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะกำหนดว่าเสียอัตราร้อยละ 6.3 ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติผู้เสียภาษีต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก 1 ใน 9 ของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราที่แท้จริงคือเสียในอัตราร้อยละ 7 มิใช่ร้อยละ 6.3

ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นิติบุคคลในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

                ครม.ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 591) พ.ศ.2558 ให้สิทธิประโยชน์ แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิสำหรับเงินได้ที่เกิดจากการผลิตสินค้า ให้บริการและมีการใช้บริการนั้น ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยลักษณะ คุณสมบัติ ของสถานประกอบกิจการและการนับรอบระยะเวลาบัญชีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนด

                ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/NyyfJK

คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่องการเสียภาษีเงินได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชา

ตามที่ได้มีการยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ เงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากกิจการโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชาเนื่องจากมีการออกพรฎ. (ฉบับที่ 588) พ.ศ. 2558 และกฎกระทรวงฉบับที่ 307 (พ.ศ.2558) แก้ไขหลักเกณฑ์ที่เคยยกเว้นเงินได้ดังกล่าว

กรมสรรพากรได้ออกคำชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว  ดังนี้

กรณีผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดา

1. ให้ผู้มีเงินได้จากการประกอบกิจการดังกล่าวนำเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้และให้หักรายจ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับเงินได้ดังกล่าวไปหักจากเงินได้นั้น ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิและมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม

2. ให้ผู้มีเงินได้ประเภทเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาซึ่งจ่ายตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2558 นำเงินดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้โดยไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ แต่หากไม่สามารถแยกส่วนของผลกำไรที่เกิดขึ้นก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับ ให้เฉลี่ยเงินได้ดังกล่าวตามสัดส่วนของกำไรของรอบระยะเวลาที่โรงเรียนกวดวิชานั้นจ่ายเงินดังกล่าวนั้น

  กรณีผู้มีเงินได้เป็นนิติบุคคล

1. ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับจากกิจการตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและให้นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้ดังกล่าวมาหักจากรายได้นั้น ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 65 ทวิ และ มาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร

2. ให้ผู้มีเงินได้นำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ตนได้รับจากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาเฉพาะเงินที่จ่ายจากกิจการที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2558 มาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเงินนั้นจ่ายจากกำไรในช่วงเวลาใด ให้เฉลี่ยตามสัดส่วนของกำไรของรอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้น ทั้งนี้ภายใต้บังคับหลักเกณฑ์ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

3. ให้มูลนิธิหรือสมาคมนำรายได้ก่อนหักรายจ่ายที่ได้รับจากการประกอบกิจการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2558 มารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/3Q70IG

 เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ยกเว้นภาษีเงินได้กรณีจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 261) แก้ไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194) บางส่วนในสาระสำคัญคือเดิมผู้มีเงินได้และเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญตามประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 194) ข้อ 2 (1) (2) และ (3)  ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท แก้ไขเป็นอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

นอกจากที่แก้ไขข้างต้นแล้วยังคงเป็นไปตามประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 194 ) ทุกประการ

ทั้งนี้ ให้มีผลในวันที่ 11 กันยายน 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/UmdqkE

ผ่อนผันให้ยื่นภ.ง.ด. 2 และภ.ง.ด. 2 ก ด้วยกระดาษและสื่อบันทึก Format เดิม ถึงปี 2559

อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 260) แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 255) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 58) ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การยื่นแบบภ.ง.ด. 2 และภ.ง.ด. 2 ก โดยให้มีผลดังนี้

                1. การยื่นแบบภ.ง.ด. 2

                1.1 ผ่อนผันให้ยื่นแบบโดยวิธีใช้แบบพิมพ์ตามแบบที่กรมสรรพากรกำหนด (ยื่นกระดาษ) ต่อไปได้ถึงเดือนภาษีมิถุนายน 2558 ซึ่งเดิมผ่อนผันถึงเดือนภาษีสิงหาคม 2558 เท่านั้น

                1.2 ผ่อนผันให้ยื่นแบบโดยวิธียื่นสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ตามรูปแบบของข้อมูลเดิมยื่นต่อไปได้ถึงเดือนภาษีมิถุนายน 2559 ซึ่งเดิมผ่อนผันถึงเดือนภาษีธันวาคม 2558 เท่านั้น

                2. การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2 ก

                2.1 ผ่อนผันให้ยื่นแบบโดยวิธีใช้แบบพิมพ์ตามแบบที่กรมสรรพากรกำหนด (ยื่นกระดาษ) ต่อไปได้ถึงปีภาษี 2559 ซึ่งเดิมผ่อนผันถึงปีภาษี 2557 เท่านั้น

                2.2 ผ่อนผันให้ยื่นแบบโดยวิธียื่นสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ตามรูปแบบของข้อมูลเดิมยื่นต่อไปได้ถึงปีภาษี 2559

                ทั้งนี้ ให้มีผลในวันที่ 7 กันยายน 2558 เป็นต้นไป

                ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/NpxCgP

แนวทางพิจารณาเหตุอันสมควรกรณียื่นภ.ง.ด. 54 ขาดไปเกินร้อยละ 25

อธิบดีกรมสรรพากรออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.152/2558 กำหนดกรณีดังต่อไปนี้ถือเป็นเหตุอันสมควรตามมาตรา 67 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร

1.กรณีบริษัทฯจัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบเสียภาษีครึ่งปีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบเมื่อรอบบัญชีที่แล้ว

2.กรณีบริษัทฯจัดทำประมาณการกำไรสุทธิที่ได้หรือจะได้กระทำในรอบบัญชีนั้นไม่น้อยกว่ากำไรสุทธิที่ได้ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบบัญชีที่แล้ว แต่ได้ยื่นแบบเสียภาษีครึ่งปีน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบในรอบบัญชีที่แล้ว เนื่องจากได้รับยกเว้นหรือลดอัตราภาษี

ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทฯซึ่งมีรอบบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/Lg4mdm

 

ข่าวภาษี

ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนใหม่

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไขใหม่ให้สิทธิลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิม 8 ปีเป็น 13 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 90% เป็นเวลา 10 ปี จากเดิมลด 50% เป็นเวลา 5 ปี

                ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/Sv2pZC

ครม.เห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายกรณีเก็บภาษีซ้ำซ้อน

                โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลโดยให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการบัญญัติเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ กรมสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง

                ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/tXSVZ0

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 8306/2557

ระหว่าง                    นาย ถ                                               โจทก์

กับ                          กรมสรรพากร                                     จำเลย

เรื่อง                       เงินได้พึงประเมิน การตีราคาทรัพย์สิน การคิดดอกเบี้ย

การที่โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการอิสระของบริษัท ช ได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญจากบริษัท ช ในราคาหุ้นละ 4.50 บาท โดยไม่คำนึงว่าหุ้นสามัญจะมีราคาสูงกว่านี้หรือไม่ เมื่อเป็นกรณีที่บริษัท ช ให้สวัสดิการแก่โจทก์ย่อมเป็นประโยชน์ใดๆเนื่องจากการจ้างแรงงานหรือเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำให้ อีกทั้ง ใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกันได้ก็ย่อมจะต้องคิดคำนวณได้เป็นเงินด้วย ดังนั้น จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

การที่จำเลยตีราคาใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญโดยวิธีเทียบเคียงกับราคาหุ้นสามัญของบริษัท ช ที่เป็นราคาในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตลอดเดือนเมษายน 2547 ซึ่งเป็นเดือนที่โจทก์ได้รับใบสำคัญดังกล่าว แล้วหักด้วยจำนวนเงินที่โจทก์ต้องชำระในการใช้สิทธิซื้อหุ้นตามใบสำคัญ คงเหลือเท่าใดย่อมเป็นมูลค่าที่ตีราคาใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นนั้น วิธีการดังกล่าวย่อมชอบแล้ว เนื่องจาก แม้ราคาหุ้นสามัญกับราคาใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของบริษัทเป็นหลักทรัพย์คนละประเภทก็ตาม แต่ใบสำคัญดังกล่าวก็เป็นหลักฐานแสดงสิทธิในการจะซื้อหุ้นสามัญได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ผู้ที่ได้รับใบสำคัญดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ในส่วนต่างของราคาหุ้นสามัญหักลบด้วยจำนวนเงินที่จะต้องชำระในการใช้สิทธิซื้อหุ้น ประกอบกับเมื่อจำเลยใช้ราคาปิดเฉลี่ยของหุ้นสามัญตลอดเดือนเมษายน 2547 กรณีจึงไม่ใช่การนำเอาราคาหุ้นสามัญในตลาดเพียงราคาใดราคาหนึ่งที่เคยซื้อขายมาใช้ตีราคาใบสำคัญแสดงสิทธิอันจะเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 9 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร

การคืนเงินดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามมาตรา 4 ทศแห่งประมวลรัษฎากรนั้น เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการมูลค่าใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ปรากฏว่าโจทก์มีภาษีที่ชำระไว้เกิน ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรตามข้อ 1 (2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) มิใช่นับแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการ นอกจากนี้ แม้ศาลภาษีอากรกลางจะมิใช่อธิบดีกรมสรรพากรก็ย่อมมีอำนาจพิพากษากำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

การสั่งคืนดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีนั้น แม้ว่ามาตรา 4 ทศแห่งประมวลรัษฎากรจะกำหนดให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจสั่ง แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดตัวผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวเท่านั้น หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายในการสั่งคืนภาษีต้องสั่งคืนดอกเบี้ยเท่านั้นซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) บุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจพิเศษที่จะมีดุลยพินิจเห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อผู้เสียภาษีได้ฟ้องร้องคดีนี้ขึ้นสู่ศาล เมื่อศาลเป็นผู้หนึ่งที่มีอำนาจใช้กฎหมายจึงย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายด้วยเช่นกัน ผู้เขียนจึงเห็นว่าคำพิพากษาศาลฎีกาในประเด็นดังกล่าวนั้นชอบแล้ว

นายธรดล  จันทรศัพท์
ที่ปรึกษาภาษีอากร

                หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนน วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

สุรีย์ลักษณ์ ธนากิจไพศาล

+662 680-9753

sureelukt@dlo.co.th