กทช. อนุมัติ เกณฑ์ “ถือหุ้นไขว้” ปรับแผน USO

"กทช." อนุมัติร่างประกาศหลักเกณฑ์วิธีควบรวมและถือหุ้นไขว้ หวังตีกรอบยักษ์สื่อสารผูกขาดตลาด พร้อมเตรียมปรับวิธีบริหารจัดการกองทุน "USO" ใหม่ เลิกระบบ "ประชาสงเคราะห์" ตั้งธงขยายบริการทั่วถึงเทียบเคียงประเทศเพื่อนบ้าน และสอดคล้องแผนพัฒนาประเทศ ทั้งเรียกเอไอเอสแจงกรณีตัดโรมมิ่งทีโอที 3 จี- ขีดเส้นเปิดใช้เบอร์เดียวทุกระบบภายใน 31 ส.ค.นี้

นายสุรนันท์ วงศ์วิทยะกำจร คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ กทช. ที่ผ่านมา (21 เม.ย. 2553) ได้อนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ…….. คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ หลังจากก่อนหน้านี้ กทช. ได้มีการออกประกาศเรื่องนิยามของตลาดและมาตรการคุ้มครอง เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม อีกทั้ง กทช. ยังมีมติยืนยันให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายต้องเปิดให้ บริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability) ภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้

"เรา จะมีหนังสือแจ้งไปยังทุกโอเปอเรเตอร์ให้รับรู้โดยทั่วกัน เรื่องที่มีการอุทธรณ์ขอยืดเวลาออกไปอีกนั้น เราก็พิจารณาแล้วเห็นว่าได้ให้เวลาทำงานมาพอสมควรแล้ว จึงควรที่จะขีดเส้นเพื่อให้เสร็จ เพราะในแง่ผู้บริโภคก็รอมานานแล้ว ไม่ควรที่จะช้าไปกว่านี้อีกแล้ว"

นายสุรนันท์ กล่าวด้วยว่า กำลังพิจารณาที่จะปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และเพื่อสังคม หรือ USO ใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการวางเป้าหมายในการขยายการเข้าถึงบริการพื้นฐานของประชาชนควรสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ เช่น การกำหนดให้โรงเรียน 100% ทั่วประเทศ มีบริการบรอดแบนด์ใช้ เป็นต้น เพราะประชาชนจะได้รู้ว่าภายในเมื่อไหร่ถึงจะได้รับบริการครบถ้วนทั่วถึง ซึ่งตนเห็นว่าวิธีการดำเนินการให้ได้ตามเป้าเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน

"คำว่าบริการทั่วถึง ตีความได้กว้างไกลมาก จึงควรจะมีการกำหนดกรอบการทำงานให้ชัดเจน โดยอาจนำสิ่งที่ประเทศอื่นทำไว้มาเป็นตัวอย่างได้ เช่น ในสิงคโปร์กำหนดว่าทุกบ้านต้องมีบรอดแบนด์ 40 หรือ 80 เม็กโน่นเลย ของบ้านเราไม่จำเป็นต้องขนาดนั้น แต่จะเป็นเท่าไร ภายในกี่ปี ก็ต้องมาดูกัน การทำ USO ต้องเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการใหม่ ต้องเลิกระบบประชาสงเคราะห์ ถ้าใช้วิธีอุดหนุนเงินให้เท่าไหร่ก็ไม่พอ โดยดึงภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยกันทำ เราอาจนำ USO ผนวกเข้าไปกับการกำหนดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตก็ได้"

ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กทช.มีมติให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เร่งชี้แจงข้อเท็จจริงว่าได้ตัดสัญญาณโรมมิ่ง ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการโครงข่ายทีโอที 3 จีใช้งานไม่ได้จริงหรือไม่ เนื่องจากทีโอทีและลูกค้าทีโอที 3 จีได้ทำหนังสือร้องเรียนมา

"กทช. มีมติยืนยันให้สอบถามทางเอไอเอส เพื่อฟังความ 2 ด้าน เนื่องจากขณะนี้มีลูกค้าทีโอทีเพียงรายเดียวที่ร้องเรียนมาว่าใช้งานไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มีเลขหมายเปิดใช้บริการแล้วหลายหมื่นเบอร์ จึงต้องให้เอไอเอสชี้แจงเป็นทางการว่ามีการตัดสัญญาณหรือไม่ เพราะได้สอบถามอย่างไม่เป็นทางการไป เอไอเอสยืนยันว่าไม่ได้ตัดสัญญาณ แต่ลูกค้าใช้ไม่ได้เอง และหากตัดสัญญาณจริง กทช. จะมีคำสั่งให้เปิดโครงข่ายให้ลูกค้าใช้งาน เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และถือว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม"

และในวันที่ 26 เม.ย.นี้ กทช. จะยื่นเรื่องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …….. (กสทช.) ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาเป็นวาระแรก เนื่องจากไม่เห็นด้วยหลายประเด็น อาทิ การสรรหากรรมการ กสทช.ที่เปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่ง เพื่อให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งได้ทันที เพราะหากกระบวนการสรรหาไม่สามารถดำเนินการได้ เท่ากับเปิดโอกาสให้อำนาจการเมืองเข้าแทรกแซงการสรรหา ทั้งคัดค้านการตั้งหน่วยงานตรวจสอบการดำเนินงาน และการบริหารทรัพย์สินขององค์กรใหม่เพิ่มขึ้น

และคัดค้านการกำหนด ความผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ กสทช. ที่ระบุว่า หากเกิดการทับซ้อนของคลื่นความถี่ แม้เจ้าพนักงานจะไม่ได้กระทำผิดฐานละเว้น หรือปฏิบัติงานโดยมิชอบตาม ม.157 ประมวลกฎหมายอาญา ก็ต้องรับผิดตามโทษ จำคุก 5 ปี เท่ากับว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ ต้องผิด

และจะเสนอให้ วุฒิสภาพิจารณาหามาตรการเยียวยา กทช. ชุดใหม่ 4 คนที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งในกรณีที่ไม่อาจดำรงตำแหน่งครบ 6 ปี จากการตั้ง กสทช.ตาม เพราะถือว่าเสียโอกาสหลายประการ

"หวังว่า ส.ว.จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาบ้าง เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไข อย่างกรณี่ทีโอที กสทฯ คัดค้านการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ตามสัมปทานแต่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็น เช่นไร ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงอายุของสภาด้วย"