• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ผลสำรวจเงินเดือนของไทย ผู้บริหาร สูงกว่าพนักงาน 10 เท่า

ผลสำรวจเงินเดือนของไทย ผู้บริหาร สูงกว่าพนักงาน 10 เท่า

วันที่ 16 กรกฎาคม 2552 ศ.ดร.ประพันธ์  ชัยกิจอุราใจ 
ผู้อำนวยการหลักสุตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต 
สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์  คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม 
เปิดเผยว่า  ส.อ.ท.ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม 
จัดทำรายงานผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการปี 2552/2553 
ซึ่งเป็นผลการศึกษาค่าจ้างและสวัสดิการของสมาชิก ส.อ.ท. จำนวน 360 ราย 28
กลุ่มอุตสาหกรรม โดย 71.1% เป็นกิจการของคนไทย
ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากที่สุด   

โดยภาคอุตสาหกรรมจ่ายค่าจ้างแก่ผู้บริหารระดับสูง เฉลี่ยที่รายละ 80,034
บาทต่อเดือน สูงกว่าตำแหน่งพนักงานปฎิบัติการ ที่เฉลี่ย 9,457 บาท ถึง
70,577 บาท หรือ 8.5 เท่า 
อุตสาหกรรมที่พบว่าผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ 
ได้รับค่าจ้างมากที่สุด

ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมีค่าจ้าง 170,963 บาทต่อเดือน 
ขณะที่พนักงานระดับผู้ปฏิบัติงาน ได้รับค่าจ้าง 15,384 บาทต่อเดือน 
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีค่าจ้างต่ำที่สุดได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า โดยผู้บริหารระดับสูงมีค่าจ้าง 38,378 บาทต่อเดือน
และพนักงานปฏิบัติการ ได้รับค่าจ้าง 6,679  บาทต่อเดือน

“ผลการสำรวจยังพบว่า
ความเหลื่อมล้ำระหว่างเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง กับพนักงานระดับปฏิบัติการ โดยเฉลี่ยห่างกันถึง 10 เท่า  ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างกันมาก และยอมรับว่าเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของระบบทุนนิยม
หากเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น
สหรัฐอเมริกา จะมีช่องว่างห่างกันถึง 400 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก
ซึ่งหลาย ๆ ประเทศ มีการเรียกร้องให้ผู้บริหารลดเงินเดือนของตนเอง

สำหรับประเทศไทยเอง ยังไม่เคยเห็น แต่ก็ยอมรับว่า ช่องว่างที่ห่างกันถึง
10 เท่านี้ เป็นความไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่งในสังคม
และยังมีอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น เซรามิกส์ที่มีความแตกต่างกันถึง 20
กว่าเท่า ”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามวุฒิการศึกษาพบว่า ค่าจ้างพนักงานใหม่ ระดับ
ปวช. อยู่ที่เดือนละ  6,410 บาท  ปวส. 7,422 บาท ปริญญาตรี 10,964 บาท
ปริญญาโท 16,844 บาท และปริญญาเอก 27,021 บาท

นายทวีศักดิ์ หมัดเนาะ 
รองประธานกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมขีดความสามารถของมนุษย์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ระบุว่า 
นโยบายการการจ้างงานปกติในช่วง 8  เดือนหลัง(พ.ค.-ธ.ค.2552)
มีการจ้างงานลดลง 5% อยู่ที่  65.3%  จาก 4
เดือนแรก(ม.ค.-เม.ษ.)ที่มีการจ้างงานตามนโยบายว่าจ้างปกติที่  70% 

ขณะที่การรับคนงานเพิ่มอยู่ที่ 13.6%  ลดลงจากช่วง 4 เดือนแรกที่มีการรับคนงานเพิ่มราว 23.6% นอกจากนี้ยังพบว่าหลาย ๆ บริษัทมีการปรับลดโบนัสลงในช่วง 8 เดือนหลังราว
4.2%  จากในช่วง 4 เดือนแรกที่ 9.2%  โดยหลาย ๆ
บริษัทเลือกใช้แนวทางการลดโบนัส เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเป็นอันดับต้น ๆ
ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

“การจ่ายโบนัสโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.78 เดือน  ซึ่งจ่ายสูงสุด 7 เดือน
ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ 
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ่ายโบนัสต่ำสุด คือ
0.25 เดือน โดยผลการสำรวจทั้ง 360 ราย พบว่า 90%  หรือคิดเป็น 253 ราย
ที่มีการจ่ายโบนัส  ส่วนที่เหลือราว 10%
ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี จึงงดจ่ายโบนัส”

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ