เราจะทำเช่นไรหากตกอยู่ในภยันตรายอันเกิดจากสัตว์

นางสาวณัฐพร พูลโภคา

ทนายความ

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

Email : nattapornp@dlo.co.th

เราจะทำเช่นไรหากตกอยู่ในภยันตรายอันเกิดจากสัตว์

                  จากกรณีที่มีสื่อมวลชนเสนอข่าวสุนัข 3 ตัวหลุดออกจากบ้านมารุมขย้ำเด็กน้อยวัยเพียง 4 ขวบที่          ขี่จักรยานเล่นอยู่บริเวณนั้นจนเด็กได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา สร้างความหวาดกลัวให้แก่ครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ และบรรดาพ่อแม่ที่ไม่สามารถดูแลลูกของตนได้ตลอดเวลา เหตุการณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนภัยเงียบที่ไม่มีใครคาดคิดซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเหตุอันตรายที่อาจสร้างความสูญเสียให้กับใครก็ได้ที่ต้องประสบเหตุโชคร้ายดังกล่าว อีกทั้งเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย ดังนั้นหากเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว หรือพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เราจะทำอะไรได้บ้าง

                 สุนัขที่มีเจ้าของและเจ้าของปล่อยปละละเลยให้สุนัขวิ่งออกมาไล่เห่า ไล่กัดคนถือเป็นภยันตรายที่เกิดจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าของสุนัข เป็นการกระทำโดยละเมิดต่อกฎหมายของคนซึ่งเป็นเจ้าของสุนัข ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวได้แล้ว กฎหมายได้ให้สิทธิแก่เราที่จะสามารถป้องกันตนเองได้ เราสามารถไล่สุนัข ตีสุนัขหรือกระทำการใดๆให้เราพ้นจากภัยอันตรายที่เกิดจากสุนัข หรือท้ายที่สุดเราสามารถฆ่าสุนัขได้หากเกิดความจำเป็นถึงขนาดที่ถ้าเราไม่ดำเนินการดังกล่าวแล้วอาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิตเราแทน รวมถึงกรณีหากเราพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้อื่น เราสามารถทำการป้องกันเพื่อให้ผู้อื่นพ้นจากภัยอันตรายได้เช่นกันซึ่งการกระทำดังกล่าวในทางกฎหมายจะถือว่าเป็นการป้องกันโดยเป็นการกระทำเพื่อป้องกันภัยอันตรายอันจะเกิดต่อชีวิตของมนุษย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 อันถือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามระดับของการป้องกันต้องดูเหตุการณ์ความร้ายแรงเป็นกรณีๆไปและต้องมั่นใจด้วยว่า เราไม่ได้เป็นต้นเหตุทำให้เกิดภัยอันตรายนั้น เช่น เราไม่ใช่บุคคลที่ไปยั่วยุให้สัตว์โมโหแล้วสัตว์มาทำร้ายเรา เพราะถ้าหากเราไปยั่วยุจนสัตว์โมโหแล้วสุดท้ายเราไปฆ่าสัตว์ เราจะอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิป้องกันตามกฎหมายไม่ได้และอาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ได้

                หากเป็นกรณีสุนัขที่ไม่มีเจ้าของออกมาไล่เห่า ไล่กัดคนนั้น เราจะสามารถกระทำการป้องกันภยันตรายดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ได้หรือไม่ ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ขึ้นโดยประชาชนส่วนใหญ่รู้จักในนามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ซึ่งมีชื่อเต็มว่า พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ซึ่งคนส่วนใหญ่ทราบเพียงว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวให้ความสำคัญต่อการปกป้องคุ้มครองสัตว์ไม่ให้ถูกทารุณกรรมจากมนุษย์ เนื่องด้วยสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่สามารถสื่อสารแสดงออกได้เช่นมนุษย์ จึงจำต้องมีกฎหมายช่วยคุ้มครองสัตว์จากการกระทำของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ดีเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ครอบคลุมไปถึงกรณีที่สัตว์ไม่สามารถควบคุมการกระทำ อารมณ์ความรู้สึกของมันเองจนก่อให้เกิดภัยอันตรายและความเสียหายต่อมนุษย์ดั่งเช่นกรณีที่สุนัขออกมาไล่เห่าหรือไล่กัด มนุษย์ก็สามารถใช้สิทธิป้องกันตนเองหรือฆ่าสัตว์ดังกล่าวได้ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันภัยอันตรายอันจะเกิดต่อชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นกรณียกเว้นให้การกระทำการป้องกันดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ตามมาตรา 21 (6) แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้นพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 จึงจัดเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ให้สิทธิเราในการป้องกันตัวได้ หากตกอยู่ในเหตุการณ์อันตรายจากสัตว์โดยเฉพาะหากสัตว์นั้นไม่มีเจ้าของ และเราไม่สามารถอ้างเรื่องการป้องกันภัยอันเกิดจากการที่เจ้าของสัตว์ปล่อยปละละเลยสัตว์อันจะเข้ากรณีการป้องกันตามมาตรา 68 ได้

                สรุปได้ว่า หากเราต้องตกอยู่ในเหตุการณ์ภยันตรายอันเกิดจากสัตว์หรือแม้แต่เราพบเห็นบุคคลอื่นตกอยู่ในเหตุการณ์ภยันตรายอันเกิดจากสัตว์ เราสามารถกระทำการใดๆให้เราพ้นจากภยันตรายจากสัตว์นั้นได้ซึ่งกฎหมายถือเป็นการป้องกันโดยชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 และตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 21 (6) ดังนั้น การไล่สุนัข ตีสุนัขหรือกระทำการใดๆให้พ้นภยันตรายจากสุนัข หากเรากระทำพอสมควรแก่เหตุย่อมไม่ถือเป็นการทำละเมิดหรือทารุณกรรมสัตว์อันจะถือว่าเราเป็นบุคคลผู้กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด