การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ

                   ในอดีตสมัยเมื่อผู้เขียนได้เริ่มศึกษากฎหมายเครื่องหมายการค้าเมื่อหลายสิบปีก่อน ผู้เขียนมักจะมีคำถามเสมอๆ ว่า เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยจะได้รับความคุ้มครองในต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือหากเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในประเทศไทยก็ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นหากคนไทยประสงค์จะให้เครื่องหมายการค้าของตนได้รับความคุ้มครองในประเทศใดก็จะต้องไปติดต่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศนั้นๆ

ในทางปฏิบัติหากคนไทยประสงค์จะดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศนั้น ก่อนอื่นจะต้องหาผู้ติดต่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศให้ได้ก่อน ผู้ติดต่อควรต้องเป็นผู้ที่มีทักษะทางกฎหมาย มีความรู้ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร การเจรจาประสานงานระหว่างประเทศ รวมทั้งรู้ขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่จะมีนักกฎหมายซึ่งรับทำงานในด้านนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้จะต้องค้นหาตัวแทนเครื่องหมายการค้าผู้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นผู้ที่เชื่อถือได้แล้ว ตัวแทนเครื่องหมายการค้าจะต้องเป็นผู้มีความสามารถในตรวจตราเฝ้าระวังเครื่องหมายการค้าของคนไทยในประเทศนั้นๆ ในแต่ละประเทศด้วยซึ่งผู้ขอจดทะเบียนจะต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ค่าดำเนินงานและค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แก่ผู้ติดต่อ และตัวแทนเครื่องหมายการค้า รวมทั้งหน่วยงานที่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในแต่ละประเทศไป จะเห็นได้ว่านอกจากมีขั้นตอนยุ่งยากแล้วยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงอีกด้วย

ภายหลังจากนั้น ผู้เขียนได้ทำการศึกษาเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศและทราบว่ามีระบบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศได้ หมายความว่า คนไทยสามารถที่จะดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนผ่านหน่วยงานของรัฐไปยังประเทศเป้าหมายได้โดยตรงโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยและกระบวนการไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่มีเงื่อนไขว่าประเทศไทยจะต้องเข้าเป็นภาคีขององค์กรหนึ่งชื่อว่า “สมาชิกพิธีสารมาดริด” ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของสำนักงานระหว่างประเทศ (International Bureau) โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เสียก่อน จึงจะดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศได้ ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีขององค์การดังกล่าว แต่ผู้เขียนพบว่ามีหลายประเทศในอาเซียนได้เข้าเป็นภาคีแล้ว เช่น สิงคโปร์เป็นภาคีเมื่อปี 2543, ฟิลิปปินส์เข้าเป็นภาคีเมื่อปี 2547, เวียดนาม เข้าเป็นภาคีเมื่อปี 2549 ซึ่งต่อมาก็มีประเทศเพื่อนบ้านเราได้ทยอยเข้าเป็นภาคีดังกล่าวเช่น กัมพูชา เข้าเป็นภาคีเมื่อปี 2558 ลาวเข้าเป็นภาคีเมื่อปี 2559 เป็นต้น (http://www.wipo.int/export/sites/www/treaties/en/documents/pdf/madrid_marks.pdf)

ผู้เขียนได้ติดตามข่าวการเป็นภาคีของประเทศไทยตลอดมา ในที่สุดเมื่อไม่นานมานี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้แจ้งข่าวว่าประเทศไทยก็ได้เข้าเข้าเป็นภาคีสมาชิกพิธีสารมาดริดเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นภาคีลำดับที่ 99 สามารถทำหน้าที่เป็นสำนักงานต้นกำเนิด และสำนักงานปลายทาง โดยสามารถรับตรวจสอบและส่งคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา และทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีหน่วยงานและระบบงานพร้อมที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศได้ตั้งแต่วันดังกล่าวซึ่งนับเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีความประสงค์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง ส่วนขั้นตอนและรายละเอียดในการดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศนั้น หากท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซด์ของกรมทรัพย์สินปัญญาได้ที่ www.ipthailand.go.th