ธุรกิจต่างด้าวต้องปฏิบัติอย่างไรในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย

ธุรกิจต่างด้าวต้องปฏิบัติอย่างไรในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย

“บริษัทเอ เป็นนิติบุคคลต่างด้าวจดทะเบียนที่ประเทศญี่ปุ่น และมีการจำหน่ายสินค้าให้แก่ บริษัทบี ซึ่งเป็นนิติบุคคลไทยที่มีผู้ถือหุ้นข้างมากเป็นต่างด้าว และเป็นผู้ซื้อในประเทศไทย โดยบริษัทเอ ได้นำสินค้าเข้ามาฝากไว้ที่จัดเก็บสินค้าของบริษัท บี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร (Free Zone)ในประเทศไทย แต่สินค้าดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท เอ และเมื่อบริษัทบี ได้เบิกสินค้าจากโกดังเก็บสินค้าพร้อมชำระเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัท เอ ซึ่งทำให้กรรมสิทธิ์ในสินค้าจะโอนจากบริษัท เอ ไปยังบริษัท บี ซึ่งถือเป็นการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย”

จากข้อเท็จจริงข้างต้นพิจารณาได้ว่าทั้งบริษัทเอ และบริษัทบี มีธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ดังนี้

บัญชีสาม (14) การค้าปลีก และ บัญชีสาม (15) การค้าส่ง

ซึ่งคนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจดังกล่าวได้ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

อนึ่ง การค้าปลีก ได้แก่การขายให้แก่ลูกค้าเพื่อใช้ในการบริโภคโดยตรงของตนเอง ทั้งนี้ไม่รวมถึงการขายให้แก่ผู้ผลิตเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่นและการค้าส่ง ได้แก่การขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อที่นำไปขาย หรือให้บริการต่อแก่ลูกค้าหรือ นำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่น

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทเอ และบริษัทบี ต้องการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ทั้งค้าปลีกและค้าส่งโดยไม่ต้องขออนุญาต บริษัทเอ และบริษัทบี จะต้องนำหรือส่งทุนขั้นต่ำเป็นเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจในประเทศไทยแต่ละธุรกิจไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมทุนขั้นต่ำในธุรกิจอื่นที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ทุนขั้นต่ำ 100 ล้านบาทสำหรับกรณีค้าปลีกสามารถมีร้านค้าปลีกได้จำนวน 5 ร้านค้า หรือกรณีการค้าส่งสามารถมีร้านค้าส่งได้จำนวน 1 ร้านค้าเท่านั้น

การยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
การจัดเตรียมคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ต้องมีหัวข้อและรายละเอียด ดังนี้
1. ลักษณะธุรกิจและขั้นตอนการดำเนินงาน
2. โครงสร้างทุน /ภาพรวมการประกอบธุรกิจ
3. ขนาดของกิจการ /ตารางประมาณการรายจ่ายในการประกอบธุรกิจ จำนวน 3 ปี
4. คำรับรองเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (แผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี)
5. แผนการจ้างงาน

คนต่างด้าวสามารถยื่นคำขออนุญาตตามมาตรา 17 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพิจารณาคำขอ เอกสารประกอบคำขอและการวิเคราะห์ลักษณะธุรกิจที่ขออนุญาต โดยการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ/คณะกรรมการ/คณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี โดยกำหนดเวลาการพิจารณา 60 วัน นับแต่วันชำระค่าคำขอ

หลักเกณฑ์การพิจารณาคำขออนุญาต

มาตรา 5 การอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงผลดีและผลเสียต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของประเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การพลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค ขนาดของกิจการ การจ้างแรงงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา

บทลงโทษ

มาตรา 37 คนต่างด้าวผู้ใดประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนมาตรา 6 มาตรา 7 หรือมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเลิกการประกอบธุรกิจ หรือเลิกกิจการ หรือสั่งเลิกการเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วน แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆ สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ 0-2680-9790
Email: jittimas@dlo.co.th