สาระสำคัญพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๕๖

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public-Private Partnership: PPP) เป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นเพื่อให้รัฐสามารถจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนได้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวจะต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาล หากรัฐเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวย่อมจะไม่สามารถการดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้ รัฐจึงจำเป็นต้องมอบหมายให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ โดยแต่เดิมได้มีการตรากฎหมายที่ใช้บังคับกับการดำเนินการดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ. ๒๕๓๕ แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีหลักเกณฑ์บางประการที่ไม่ชัดเจนก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับและการตีความ จึงได้มีการปรับปรุงกฎหมายใหม่ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๖ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๖

โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๕๖ มีดังนี้
๑. ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ. ๒๕๓๕
๒. มีจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้โดยตรง คือ “คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ”ซึ่งกฎหมายฉบับเดิมมิได้มีการไว้อย่างชัดเจน
๓. มีการกำหนดนโยบายของรัฐในการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอน โดยกำหนดให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งมีระยะเวลาครั้งละห้าปี
๔. มีการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐอย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่กระบวนการเสนอโครงการ การดำเนินโครงการ และการกำกับดูแลและติดตามผลโครงการ
๕. การกำหนดมูลค่าโครงการที่เข้าข่ายเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายฉบับนี้ นอกจากโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไปแล้ว อาจมีการกำหนดมูลค่าเพิ่มเติมได้โดยกฎกระทรวง ซึ่งตามกฎหมายฉบับเดิมการกำหนดมูลค่าโครงการจะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา
๖. ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและมีการกำหนดเวลาให้ชัดเจนแน่นอน กล่าวคือ มีการลดขั้นตอนการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเหลือเพียงขั้นตอนเดียว คือ การอนุมัติโครงการขั้นสุดท้าย และมีการกำหนดเวลาในการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน ทำให้สามารถดำเนินโครงการได้เร็วขึ้น
๗. มีการกำหนดขั้นตอนและวิธีการในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขสัญญาและทำสัญญาใหม่ให้ชัดเจน
๘. มีการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ” เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการเสนอโครงการที่สอดคล้องกับแผนที่ยุทธศาสตร์ การจัดทำผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ และการจ้างที่ปรึกษา
๙. มีการกำหนดโทษในกรณีที่คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้ ได้กระทำการอันฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติที่กำหนดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๕๖ ฉบับใหม่นี้ได้มีการแก้ไขปรับปรุงในสาระสำคัญหลายประการ ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาในการตีความและบังคับใช้กฎหมายฉบับเดิม ทำให้ผู้ประกอบการทั้งในภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างพยายามหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินโครงการภายใต้กฎหมายดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในกิจการของรัฐอย่างมาก ดังนั้น การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้มีความชัดเจนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐและสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน จึงน่าจะส่งผลดีต่อการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐต่อไป