จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนเมษายน 2561

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 88 เมษายน 2561

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีกับเงินได้ประเภทอื่น

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับคนพิการซึ่งเป็นคนต่างด้าวและเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการธุรกิจนำเที่ยวและค่าที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวรอง

 

ข่าวภาษี

1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

2. มาตรการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล

3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5552/2560

ระหว่าง             บริษัท ท.                       โจทก์

กรมสรรพากร                 จำเลย

เรื่อง                  ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point)ในการจำหน่ายหนี้สูญ

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีกับเงินได้ประเภทอื่น

            พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ (653) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินรางวัลที่ราชการจ่ายให้ตามโครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติเมื่อคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ไม่มีจำนวนภาษีที่ถูกหัก หรือมีจำนวนภาษีที่ถูกหักน้อยกว่าร้อยละ 5.0 ของจำนวนเงินที่ได้รับ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี เมื่อผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินรางวัลนั้นยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้นั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินรางวัลที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/4bG5zg

 

2. ยกเว้นเงินได้ของคนพิการซึ่งเป็นคนต่างด้าวและเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

            กฎกระทรวง ฉบับที่ 336 (พ.ศ.2561) กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่เป็นคนพิการ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย โดยมีหนังสือรับรองความพิการจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

            ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2EBSCDv

 

3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการธุรกิจนำเที่ยวและค่าที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวรอง

            กฎกระทรวง ฉบับที่ 335 (พ.ศ.2561) กำหนดให้เงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หรือค่าที่พักในโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีประกาศกำหนด  โดยได้รับยกเว้นตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะค่าบริการหรือค่าที่พักที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2561

            ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2JyJzH7

 

ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

          เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ให้แก่ลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท หรือลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเงินได้พึงประเมินซึ่งต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีก่อนไม่เกินกว่า 100,000 บาท สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 1.5 เท่า

            ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2ILDS79

 

2. มาตรการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล

           เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล โดยกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้อันเนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล 2 ประเภท คือ มาตรา 40(4)(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล และมาตรา 40(4)(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน และกำหนดให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 สำหรับเงินได้ดังกล่าว

             ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2qiyBNR

 

3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) สำหรับการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ที่มีรายรับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2HsuR3N

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5552/2560

ระหว่าง             บริษัท ท.                       โจทก์

กรมสรรพากร                 จำเลย

เรื่อง                  ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point) ในการจำหน่ายหนี้สูญ

 

            โจทก์มีรายได้จากการก่อสร้างอาคารให้แก่บริษัท ส. ซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการในราชอาณาจักร เมื่อได้ใช้บริการตามส่วนของการให้บริการนั้นๆ โดยนำมูลค่าทั้งหมดที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับจากการก่อสร้าง แต่ไม่รวมส่วนลด ที่ได้ลดให้ในขณะให้บริการ มาเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม  เมื่อบริษัท ส. มีหนี้ค่าก่อสร้างค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์ได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทางบัญชีสำหรับหนี้ดังกล่าว จากนั้นโจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงลดค่าก่อสร้างให้แก่บริษัท ส. โดยมิได้นำหนี้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากยังไม่ได้รับชำระค่าก่อสร้างนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร พิจารณาแล้วเห็นว่า การตกลงดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นส่วนลดที่โจทก์ลดให้แก่ผู้ว่าจ้างในขณะให้บริการโดยแสดงในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่ออกแล้ว ดังนั้นมูลค่าของฐานภาษีที่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ค่าก่อสร้างทั้งหมดที่โจทก์พึงได้รับจากการให้บริการ

            นอกจากนี้ การที่โจทก์ลงบัญชีค่าหนี้สงสัยจะสูญนั้น โดยคาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้จำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ทำบันทึกข้อตกลงลดค่าบริการ จึงน่าเชื่อว่าหนี้ของผู้ว่าจ้างยังไม่สูญในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ยังไม่ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ และยังไม่ถือว่าโจทก์มีรายรับต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ต่อมาเมื่อโจทก์จำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้และคำนวณส่วนของหนี้สูญเพื่อหักภาษีขาย ดังนั้นต้องถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีของการจำหน่ายหนี้สูญด้วย

             ความเห็น

            ผู้ประกอบการที่ให้บริการในราชอาณาจักร มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อได้รับชำระค่าบริการ หรือได้ออกใบกำกับภาษี หรือได้ให้บริการโดยตนเองหรือบุคคลอื่นแล้วแต่กรณี ซึ่งการใช้บริการโดยตนเองหรือบุคคลอื่นนั้นโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายมีความมุ่งหมายถึงกรณีที่มีการให้บริการ โดยมีเจตนาที่จะไม่เรียกเก็บค่าบริการนั้น จึงต้องกำหนดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการที่พึงได้รับนั้นในทันทีที่มีการใช้บริการโดยตนเองหรือบุคคลอื่น โดยผู้ประกอบการต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการนั้นมารวมคำนวณเป็นฐานสำหรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) มาตรา 78/1(2) และมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจากกรณีดังกล่าว โจทก์ได้ให้บริการบริษัท ส. แล้ว แต่มีข้อพิพาทเรื่องการส่งมอบงานล่าช้าเป็นเหตุให้บริษัท ส.ไม่จ่ายชำระค่าบริการ โจทก์จึงยังไม่มีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการที่ค้างชำระดังกล่าว  แม้ว่าบริษัท ส.เป็นผู้ได้รับบริการไปแล้วก็ตาม เนื่องด้วยเป็นการให้บริการโดยมีความประสงค์จะเรียกเก็บค่าบริการนั้นเต็มจำนวนที่ตกลงกัน

            สำหรับกรณีที่โจทก์ได้ตกลงให้ส่วนลดแก่บริษัท ส. ภายหลังจากการให้บริการนั้นไม่เข้าลักษณะส่วนลดที่แสดงไว้ชัดแจ้งในขณะที่ได้ออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ได้มีการให้บริการ ซึ่งไม่ต้องรวมเป็นฐานภาษีตามมาตรา 79(1)  แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีสิทธินำส่วนลดที่ให้ดังกล่าวมาลดฐานรายได้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนำส่ง

            อย่างไรก็ดี กรณีหนี้ค้างชำระนั้น โจทก์ได้ลงบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้และตัดจำหน่ายหนี้สูญในเวลาต่อมา ซึ่งมีผลให้การชำระค่าบริการตามสัญญาสิ้นสุดลง ก่อให้เกิดภาระในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยถือวันที่ลดหนี้หรือตัดจำหน่ายหนี้สูญเป็นวันที่พึงได้รับชำระค่าบริการ ดังนั้น โจทก์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าทั้งหมดที่โจทก์ได้รับจากการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งต้องนำหนี้สูญนั้นไปคำนวณภาษีขายสำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไป ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นพ้องด้วยกับศาลฎีกาแผนกภาษีอากร ด้วยเหตุผลดังนี้

            1. มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งเรื่องการจำหน่ายหนี้สูญที่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/11 แห่งประมวลรัษฎากรได้ ซึ่งประกาศอธิบดี กรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85) กำหนดไว้ว่า ต้องได้นำภาษีขายจากการขายสินค้าหรือให้บริการไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผู้ประกอบการจึงมีสิทธินำภาษีขายที่คำนวณจากส่วนของหนี้สูญมาหักออกขณะที่ได้มีการจำหน่ายหนี้สูญ กรณีตามคดีพิพาทจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อนี้ เนื่องจากโจทก์ยังมิได้นำภาษีขายไปรวมคำนวณด้วยเหตุที่ยังมิได้รับชำระค่าบริการ กรณีนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้สูญที่จำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ไปหักจากฐานรายได้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนำส่งกรมสรรพากรแต่อย่างใด

              2. จากการนำสืบในคดีพิพาท โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่ามีการบันทึกค่าเสียหายจากการถูกปรับตามสัญญาจนเป็นเหตุให้ต้องมีการตกลงลดราคาค่าบริการดังกล่าวลง ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธินำภาษีขายขณะจำหน่ายหนี้สูญไปหักออก ในทางกลับกันโจทก์กลับลดราคาค่าบริการโดยนำสืบให้เห็นไม่ได้ว่ามีเหตุสมควรที่จะลดให้ กรณีจึงน่าจะถือได้ว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวอีกต่อไป ซึ่งเข้าลักษณะการให้บริการซึ่งมีการใช้บริการโดยบุคคลอื่น การที่เจ้าหน้าที่สรรพากรกำหนดให้ถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในปีที่มีการลดหนี้หรือตัดจำหน่ายหนี้สูญดังกล่าวก็นับเป็นคุณแก่โจทก์ยิ่งแล้ว

3. หากมีการหักกลบลบหนี้ระหว่างค่าปรับและค่าบริการกันจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โดยนำค่าปรับในการส่งมอบงานล่าช้านำมาหักออกจากค่าบริการก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งค่าปรับจากการผิดสัญญานั้นไม่ถือเป็นการให้บริการหรือการขายสินค้าซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 ประกอบกับมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับชำระค่าบริการโดยการหักกลบลบหนี้กับค่าปรับซึ่งโจทก์จึงยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวนตามสัญญาให้บริการก่อนหักค่าปรับ

 

นางสาวพุทธิมา  เกิดศิริ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: kamphols@dlo.co.th

 

 

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th