• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • เปิดหลังบ้าน “ธรรมนิติ” 70 ปี กับภารกิจนำองค์กรวิชาชีพ รุ่นที่ 3

เปิดหลังบ้าน “ธรรมนิติ” 70 ปี กับภารกิจนำองค์กรวิชาชีพ รุ่นที่ 3

        จากจุดเริ่มต้นในปีพุทธศักราช 2490 โดยการรวมตัวของนักวิชาชีพกฏหมายกลุ่มเล็กๆ ก่อตั้งสำนักงานทนายความขึ้นเพื่อรับว่าความและให้คำปรึกษาทางกฏหมาย มาจนถึงวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านไป 70 ปี สำนักงานกฏหมายธรรมนิติแห่งนี้ได้เติบโตขึ้นเป็น “เครือธรรมนิติ” ที่ขยายขอบเขตงานไปสู่บริการทางวิชาชีพครบวงจร ทั้งกฎหมาย บัญชี ตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบภายใน อบรมสัมมนา สื่อสิ่งพิมพ์ และบริการด้านสารสนเทศ
       
        ถึงวันนี้ “เครือธรรมนิติ” เตรียมพร้อมที่จะก้าวผ่านปีที่ 70 ไปสู่ 100 ปี ในเส้นทางวิชาชีพและการบริหารในรุ่นที่ 3 ซึ่ง ‘ดุลยทัศน์ พืชมงคล’ หนึ่งในกรรมการจัดการของเครือธรรมนิติ จะเป็นตัวแทนที่จะถ่ายทอดวิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมายขององค์กรแห่งนี้ เพื่อสืบสานอุดมการณ์จากรุ่นสู่รุ่นให้ก้าวรุดหน้าต่อไป

        กำเนิด “สำนักกฎหมายธรรมนิติ”
        จุดกำเนิดของทุกสิ่ง
       
        การเริ่มต้นจากกลุ่มทนายความเล็กๆ ที่รวมกลุ่มเพื่ออุดมการณ์และปณิธานแห่งกฎหมาย จึงเป็นที่มาของ ‘สำนักงานทนายความธรรมนิติ’ กลุ่มเล็กๆในครั้งนั้นจึงเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์แรกที่ได้เริ่มต้นขึ้นและ เติบโตจนถึงวันนี้ โดยผ่านร้อนผ่านหนาวและอุปสรรคต่างๆ มากว่า 70 ปี ได้อย่างมั่นคงและซื่อตรงในหลักวิชาชีพ
       
        “ผมขอแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาแล้วกัน ช่วงแรกคือตั้งแต่ปีที่ก่อตั้ง 2490 จนมาถึง 2520 ช่วงนั้นเป็นช่วงแรกที่เริ่มจาก สำนักงานทนายความ จัดว่าเป็นยุคจากไม่มีไปสู่มี คือจากไม่มีชื่อธรรมนิติ ก็เริ่มมีชื่อธรรมนิติปรากฏขึ้นมาในวงการกฎหมาย โดยผู้ก่อตั้งหรือสถาปนาธรรมนิติคือคุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน นักกฎหมายผู้มากความสามารถ และมีวิสัยทัศน์ ซึ่งการแสดงวิสัยทัศน์ของคุณประดิษฐ์สามารถดูได้ง่ายๆ ตั้งแต่การตั้งชื่อสำนักงานว่า “ธรรมนิติ” ในยุคสมัยนั้นทางยุโรป หลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย เวลาตั้งชื่อสำนักงานทนายความมักจะตั้งชื่อตัวเอง หรือชื่อพาร์ตเนอร์ หรือไม่ก็เป็นครอบครัว แต่ชื่อธรรมนิติที่คุณประดิษฐ์ตั้งขึ้นสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของวิชาชีพและ วิสัยทัศน์ของท่านอย่างชัดเจน ว่าสำนักงานกฏหมายนั้นตั้งอยู่บนธรรม และไม่ยึดติดอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง
       
        “ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ปี 2521-2559 ช่วงเวลานี้เป็นยุคก่อร่างสร้างตัวและลงหลักปักฐานจนมั่นคงเติบโต จากขนาดเล็กไปสู่การขยายงานที่ใหญ่ขึ้นกว้างขึ้น ซึ่งในยุคดังกล่าวมีท่านบุศย์ ขันธวิทย์ อดีตผู้พิพากษา และคุณไพศาล พืชมงคล ทนายความอาวุโส ซึ่งได้สืบทอดกิจการของธรรมนิติ ก็ได้ทำการแปรสภาพจากสำนักงานทนายความจดทะเบียนเป็นบริษัท และตั้งบริษัท ธรรมนิติ และขยายกิจการมาสู่บริการทางด้านบัญชี ซึ่งจัดว่าเป็นงานที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน และยังต่อยอดมาสู่งานตรวจสอบบัญชี การจัดทำสื่อนิตยสารทางด้านภาษีอากร จนมาสู่การแปรสภาพอีกครั้งเป็น บริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน) โดยมีบริษัทในเครือที่ให้บริการวิชาชีพดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเรียกได้ว่าเป็นการบริหารในยุคที่ 2 ต่อจากคุณประดิษฐ์ นับเป็นช่วงที่นำโดยคุณไพศาล สภากรรมการ และกรรมการจัดการ ตลอดจนผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถอีกหลายท่านที่สร้างธรรมนิติร่วมกัน มา จึงเป็นย่างก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ขององค์กรเราจากก้าวแรกที่เริ่มต้นจาก คนเพียง 3 คน อาศัยเช่าสำนักงานอยู่บนชั้น 2 ของตึกแถว ด้วยทุนจดทะเบียน 3 แสนบาท

        “จนมาถึงปัจจุบันเรามีพนักงานเกือบ 600 คน มีออฟฟิศ 3 แห่ง และรายได้ประมาณ 600 ล้านบาท ก็ถือว่าเป็นกิจการวิชาชีพที่เติบโตมาอย่างมั่นคงบนรากฐานธุรกิจโดยคนไทย แท้ๆ และเติบโตเรียกว่าไม่ได้หวือหวานัก แต่ว่ามีเสถียรภาพ จนเมื่อปี 2559 ธรรมนิติก็ได้มีการผลัดใบ เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมที่บริหารงานมาในยุค 2 ก็ถึงเวลาส่งมอบให้กับยุคใหม่ ก็เลยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้น ซึ่งผมเองก็เป็นกรรมการจัดการลำดับที่ 1 ของคณะกรรมการนี้จากที่มีทั้งหมด 5 คน ก็มีภารกิจของยุคที่ 3 ที่จะเป็นการก้าวต่อไปท่ามกลางเทคโนโลยีและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ รวดเร็ว เป็นยุคที่ต้องรักษารากฐานที่สร้างมาให้มั่นคงยั่งยืน แต่แน่นอนว่าภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ๆ นี้ งานวิชาชีพก็จะต้องก้าวไปให้ทันกับเทคโนโลยี ตอนนี้ก็เป็นภารกิจของชุดที่ 3 ซึ่งเราได้มองภาพอีก 30 ปีข้างหน้าว่า ในวันที่ธรรมนิติมีอายุ 100 ปี เราจะไปยืนอยู่ตรงจุดไหนและจะไปด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่ง 30 ปีข้างหน้าดูเผินๆเหมือนว่ามันไกลนะครับ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูข้างหลัง นี่เราก้าวเดินมา 70 ปีแล้ว อีก 30 ปีจึงไม่ถือว่าไกลเท่าไหร่เลย
       
        “เจตนารมณ์ ณ ตอนนั้น ผมคิดว่าเป็นมุมมองของนักวิชาชีพที่รักจะทำงานที่ตัวเองร่ำเรียนสำเร็จมาและ มีความเชี่ยวชาญ และเป็นกลุ่มคนที่ปรารถนาจะก่อร่างสร้างตัวเองและองค์กรขึ้นมาให้เป็นสถาบัน ที่มั่นคง ฉะนั้นจึงต้องย้ำว่าคุณประดิษฐ์ท่านมีความคิดสร้างสรรค์มากจริงๆ ตัวผมแม้ว่าจะเกิดไม่ทันในยุคนั้น แต่ได้รับฟังเรื่องราวความคิดของคุณประดิษฐ์อยู่เสมอๆ เช่นว่าแม้จะเป็นนักกฎหมายแต่ท่านก็มีความคิดและความมุ่งมั่นที่จะตั้ง สำนักงานบัญชีในนามธรรมนิติขึ้นให้ได้ หรือแม้แต่มีความคิดที่จะสร้างธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวขึ้น ซึ่งคนในวิชาชีพด้านกฎหมายทั่วไปอาจจะไม่ค่อยคิดถึงเรื่องพวกนี้กันนัก แต่คุณประดิษฐ์มีทัศนะว่ากฎหมายเป็นเรื่องที่กว้างขวาง ที่สามารถจะเชื่อมโยงงานไปได้หลากหลาย แล้วความคิดสร้างสรรค์ก็ถูกถ่ายทอดมายังผู้นำรุ่นต่อๆ มา อย่างคุณไพศาลเองก็ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ มากมายหลายอย่าง จากความคิดความฝันในอากาศก็สามารถปลุกปั้นให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาได้
       
        “พอมาถึงยุคที่สอง สำนักงานทนายความก็แปรสภาพมาเป็นบริษัท ซึ่งทนายความสมัยนั้นใช่ว่าทุกคนจะมีหลักมีฐานมากนักในทางรายได้ หลายคนทำงานมาถึงวันหนึ่งก็หันไปสอบเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือไปทำงานราชการบ้าง ซึ่งคนธรรมนิติไปสอบอะไรก็มักจะสอบได้เสียด้วย เพราะฉะนั้นคนจึงไม่นิ่งนัก มีผลให้การเติบโตของคนและงานไม่ต่อเนื่องสักเท่าไหร่ แต่พอเป็นรูปบริษัท องค์กรก็มีความมั่นคงมากขึ้น มีการบริหารจัดการที่เป็นหลักเป็นฐานและมีเส้นทางในการเติบโตที่ชัดเจนขึ้น นำไปสู่ความมั่นคงและมั่งคั่งที่มากขึ้น และสามารถผลักดันความคิดสร้างสรรค์ที่มีมาต่อไปได้ เช่นงานบัญชีที่ตั้งขึ้นและมั่นคงได้อย่างที่คุณประดิษฐ์หมายมั่นไว้
       
        “แม้ในระยะแรกงานด้านบัญชีอาจจะยังล้มลุกคลุกคลานอยู่บ้างด้วยเราอาจจะยังขาด ความเจนจัดและประสบการณ์ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง ตลอดจนเมื่อเรามีประสบการณ์มากขึ้นและได้ผู้บริหารงานที่มีความเชี่ยวชาญ อย่างเช่นคุณพิชัย ดัชนาภิรมย์ เข้ามาร่วมงานในเวลาต่อมา ธุรกิจด้านบัญชีของธรรมนิติก็ตั้งหลักมั่นคงได้ และยังต่อยอดไปถึงงานตรวจสอบบัญชี งานตรวจสอบภายใน ที่ค่อยๆ ขยายเติบโตจนเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาชีพในปัจจุบัน อันนี้คือจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวของบุคคลที่จะทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก เชี่ยวชาญ มีวิสัยทัศน์ และทุ่มเท

        ขยับขยายต่อกอไผ่
        เพื่อครอบคลุมทุกวิชาชีพ
       
        ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างหนึ่งของ “ธรรมนิติ” ก็คือทฤษฎีการบริหารในแบบธรรมนิติ อย่างเช่นทฤษฎีการขยายงานที่เราเรียกว่าทฤษฎีกอไผ่ ที่หมายถึงกอไผ่ซึ่งจะขยายตัวออกไปจากหน่อที่เกิดใหม่เล็กๆ ข้างกอเดิม จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเพราะอะไรการขยายตัวภายใต้ทฤษฎีนี้ จึงให้ระดับความมั่นใจในผลลัพธ์ได้ค่อนข้างสูง นั่นเพราะเป็นการขยายไปจากสิ่งที่เรามีและเข้าใจ…
       
        “ผมสามารถกล่าวได้ว่า ธรรมนิติ เป็นองค์กรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของเรา เช่นลักษณะธุรกิจของเราก็มีความเฉพาะ ด้วยกิจการที่อยู่บนเส้นทางวิชาชีพกฎหมายอาจมีอยู่ไม่น้อย แต่หากพูดถึงกลุ่มองค์กรที่มีทั้งบริษัทด้านกฎหมายและบัญชีด้วย ก็อาจหายากขึ้น ยิ่งรวมถึงงานตรวจสอบภายใน งานจัดการอบรมสัมมนา งานสิ่งพิมพ์ และงานสารสนเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ยิ่งหาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการที่ทำคล้ายเราแทบไม่มี
       
        “เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำอยู่ก็คือความแปลกใหม่และมีลักษณะเฉพาะสำหรับงานวิชาชีพในยุค นั้นหรือแม้แต่ในทุกวันนี้ ซึ่งคนที่อยู่ในแวดวงนี้อาจจะมองว่ามีความแปลกนะ บ้างก็ว่ากล้าหาญนะที่ทำสิ่งแบบนี้ แต่แน่นอนว่าตลอดเส้นทางมันมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มลุกคลุกคลาน แต่ว่าเราก็ทดลองเดินและข้ามมันมาได้ เราจึงผ่านความเจนจัดจนมากพอที่จะมองได้ออกว่า ในแต่ละจังหวะเวลาเราควรจะขยับขยายธุรกิจส่วนไหน และต้องระมัดระวังอะไร
       
        “ยกตัวอย่างในการทำงานวิชาชีพตรวจสอบ ซึ่งก็จะมีงานอีกแขนงหนึ่งที่เรียกว่าการตรวจสอบภายใน ที่จะเข้าไปดูแลตรวจสอบกิจการ เรื่องหรือประเด็นที่กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบประเมิน ก็เริ่มจากการเป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่เป็นระดับสายงาน ก็เหมือนเป็นหน่อไผ่เล็กๆ ที่โผล่ขึ้นจากผืนดินข้างกอเดิม เมื่อจังหวะเวลามาถึงและเรามีความพร้อมมากพอ หน่วยงานนี้ก็ถูกยกฐานะและภารกิจขึ้นเป็นฝ่ายงาน และเมื่อปีที่แล้วก็ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัท เป็นกิจการใหม่ขึ้นมา
       
        ตรงนี้ผมขอพูดถึงประเด็นที่ว่า การที่ธรรมนิติดำเนินธุรกิจมายาวนานถึง 70 ปีได้นั้น มันต้องมีเหตุและปัจจัยอะไรบางอย่างที่ทำให้องค์กรแห่งหนึ่งมีอายุยาวนานได้ ขนาดนี้ โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นองค์กรวิชาชีพที่ปกติทั่วไปแล้วไม่ใช่เรื่องที่จะพบ กันได้มากนัก ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ว่านั้นก็คือ การที่องค์กรถูกออกแบบไว้ให้มีเอกลักษณ์และความแตกต่างเฉพาะนั่นเอง
       
        ผมขอสรุปไว้เป็น 5 ประการ
        ประการที่ 1 คือเราตั้งอยู่ในอุตสาหกรรมบริการที่เป็นพื้นฐานสำคัญของธุรกิจ งานบัญชี งานกฎหมาย งานวิชาการความรู้ หรือแม้แต่ปัจจุบันที่มีงานสารสนเทศเพิ่มขึ้นมาด้วยนั้น ล้วนแต่เป็นรากฐานสำคัญ เป็นปัจจัยสี่ของธุรกิจ อย่างคนต้องมีปัจจัยสี่ องค์กรธุรกิจก็มีปัจจัยสำคัญในการดำรงคงอยู่และดำเนินงานไปเช่นกัน แม้ไม่จัดว่าหวือหวาแต่ว่ามีความจำเป็น เหมือนมนุษย์ต้องดื่มน้ำ ธุรกิจก็ขาดไม่ได้ซึ่งเรื่องกฎหมาย บัญชี ภาษีอากร สารสนเทศ หรือการพัฒนาคน
       
        ประการที่ 2 ก็คือปรัชญาของธรรมนิติ เรามีปรัชญาในการบริหารของเราซึ่งก็มีด้วยกันหลายเรื่องหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือเรื่องที่เราตั้งมุมมองต่อคนว่า ‘คนเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของธรรมนิติ’ เพราะว่าเราประกอบธุรกิจทางวิชาชีพ เราไม่มีโรงงาน เราไม่มีเครื่องจักร เราไม่มีสินค้าชิ้นใหญ่โต ทุกสิ่งทุกอย่างของเราคือคน การลงทุนความรู้และพัฒนาคน การใส่ใจดูแลคน การให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ จึงมีศูนย์กลางอยู่ที่คน เราจึงมีคำกล่าวภายในของเราว่า ‘คนคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของเราที่ไม่ปรากฏอยู่ในงบดุล’
       
        ประการที่ 3 คือ เรื่องที่เราใช้ความพยายามในการรักษาคุณภาพและความซื่อสัตย์ในทางวิชาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องประกาศเป็นเจตนารมณ์ บ่มเพาะจิตใจให้ทุกส่วนเกิดความตระหนักสำนึกในความรับผิดชอบต่อวิชาชีพและ ต่อลูกค้าของเรา ซึ่งเป็นเครดิตในวิชาชีพของเรา บางเรื่องคุณอาจเก่งน้อยหน่อยยังไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ซื่อสัตย์ ในระยะยาวก็อยู่ไม่ได้
       
        ประการที่ 4 คือ เรามีบริการที่ครอบคลุมตลอดเส้นทางธุรกิจ คือถ้าเปรียบเส้นทางของผู้ประกอบการเหมือนถนนเส้นหนึ่ง เริ่มต้นจากจุดเอไปยังจุดบี หรือลากต่อไปยังจุดถัดไปเรื่อยๆ เรามีบริการที่รองรับเกือบจะเรียกได้ว่าตลอดเส้นทาง เหมือนเดินทางจากกรุงเทพฯไปพัทยา ที่มีปั๊ม มีจุดพักรถ มีร้านอาหาร มีอู่ซ่อม ฯลฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกไปตลอดรายทาง
       
        “พอเริ่มต้นธุรกิจ เตรียมตัวที่จะออกสู่ถนนสายหลัก เรามีบริการอย่างงานวางระบบโครงสร้างนิติบุคคล งานจดทะเบียน งานจัดทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี เรามีบริการสำหรับกิจการที่ต้องการผู้ที่เชื่อถือไว้วางใจได้จัดการเรื่อง เงินเดือนของบุคลากรให้ หรือเมื่อทำธุรกิจมาถึงช่วงหนึ่งมีปัญหาที่ต้องแก้ไขหรือคลี่คลายที่ต้องมอง หาที่ปรึกษาทางกฏหมาย ก็เป็นงานรากฐานของเรา หรือกิจการมีการขยายตัวเติบโตขึ้น กำหนดเป้าหมายเข้าสู่ตลาดฯ เราก็มีบริการที่เกี่ยวข้องรองรับ
       
        “เพราะฉะนั้น การที่บริษัทมีบริการหลากหลายและเชื่อมโยงกันอยู่ จึงถือว่าเป็นจุดเด่นของเราอย่างหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะเป็นธุรกิจขนาดไหนก็แล้วแต่ เล็กไปจนถึงใหญ่ คุณมีเราเป็นทางเลือกอยู่ใกล้ๆตลอดเส้นทาง จะเรียกว่ามีเพื่อนที่ทำให้ไม่รู้สึกว้าเหว่ก็ได้ (หัวเราะ)
       
        ประการที่ 5 คือเรื่องชื่อเสียงและความเชื่อมั่น เวลาตลอดจนสิ่งที่เราสั่งสมมาใน 5 ข้อแรก มันกลายเป็นแต้มต่อที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่สังคมและผู้ประกอบการรับรู้ และมอบความไว้วางใจให้แก่เรา ก็ทำให้เรามีต้นทุนหรือคะแนนจิตพิสัยที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นเครดิตอย่างหนึ่งครับ”

        เครือธรรมนิติ
        เพื่อการขยายงานที่กว้างไกลขึ้น
       
        ด้วยการเติบโตอย่างเป็นจังหวะจึงทำให้ “เครือธรรมนิติ” เริ่มแสดงศักยภาพของสำนักงานได้อย่างชัดเจนขึ้นโดยลำดับ จากสำนักงานเล็กๆ ก้าวสู่บริษัทที่ใหญ่ขึ้นและมีการบริการครบวงจร จึงทำให้ธรรมนิติกลายเป็นองค์กรทางวิชาชีพชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งของไทยอย่าง เต็มภาคภูมิ
       
        “ก่อนหน้านี้ธรรมนิติยังมีคนน้อยกว่าทุกวันนี้ แต่ก็เริ่มมีธุรกิจหลากหลายแล้ว คนจากหลายหน่วยงานจะทำงานกันอย่างใกล้ชิด ใช้การพูดคุยประสานงานกันอย่างไม่เป็นทางการมากหน่อยแล้วก็สามารถผลักดันงาน ไปได้ แต่เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น คนมากขึ้น เราต้องใช้ระบบที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการบริหาร การสื่อสาร และขับเคลื่อนงาน เข้ามาเสริมเพิ่มเติม
       
        ปัจจุบันเรามีบุคลากรก็เกือบ 600 คน โดยมากเป็นนักวิชาชีพและนักวิชาการ มีบริการหลากหลาย ฉะนั้นมันจึงต้องเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปตามสภาพแวดล้อม คนมากขึ้น งานมากขึ้น ธุรกรรมมากขึ้น เราจึงใช้ระบบในการผลักดันขับเคลื่อนงาน หนึ่งในระบบที่เราจัดขึ้นมาในระยะหลังนี้ คือระบบคณะทำงานที่เรียกว่าฟังก์ชัน กล่าวคือเรามีการจัดเน็ตเวิร์กบุคลากรที่เรียกว่ากรรมการฟังก์ชันซึ่งเป็น ตัวแทนของทุกบริษัทในเครือเข้ามาทำงานร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นจุด เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคน งาน และต่อยอดงานซึ่งกันและกันในลักษณะกึ่งทางการ
       
        “ในสมัยก่อน หากว่ามีลูกค้า 1 รายเดินเข้ามาที่เรา ซ้ายมือก็เป็นกฎหมาย ขวาก็เป็นบัญชี ข้างบนเป็นตรวจสอบบัญชี ข้างๆ ก็วิชาการอบรมสัมมนา เราสามารถแนะนำเชื่อมงานระหว่างกันได้ง่ายๆ เพราะทุกคนรู้จักกัน แต่ตอนนี้คนมากขึ้น องค์กรใหญ่ขึ้น ทั้งมีที่ทำการมากกว่าหนึ่งแห่ง เราจึงใช้ระบบเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงโดยอาศัยทั้งคนและเทคโนโลยี เราใช้สื่อสังคมออนไลน์และระบบสื่อสารภายในในการติดต่อสื่อสาร และมีผู้แทนฟังก์ชันที่ว่าเข้าเป็นกรรมการที่เรากำหนดไว้ 3 กลุ่มงานคือ งานอำนวยการ ตั้งแต่งานบัญชี งานบุคคล งานจัดซื้อ ฯลฯ รวมถึงงานเลขานุการ ก็จะกลายเป็นทีมทีมหนึ่งที่มีเครือข่ายการประสานงาน การประชุมกันเป็นระยะๆ เพื่อมาคิด มาแชร์ และก็หาข้อสรุปเพื่อนำเสนอกรรมการส่วนบริหารกลาง หรือเฉพาะกลุ่มธุรกิจตามสาระของแต่ละเรื่องต่อไป
       
        “ส่วนที่สอง ก็เป็นด้านไอที เพราะธุรกิจวันนี้มันเหมือนเรามีกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้นมาอีกเส้นหนึ่ง คือระบบสารสนเทศ ซึ่งก็มีผู้แทนจากบริษัทในเครือเข้ามาเป็นคณะกรรมการในฟังก์ชันนี้
       
        “ส่วนที่สาม ก็คือส่วนของการตลาดและเครือข่ายพันธมิตร เรามองว่าธุรกิจในปัจจุบัน การสร้างแบรนด์ สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า รวมถึงการสร้างความสุขให้กับพนักงาน เป็นภารกิจที่สำคัญ ที่ผ่านมาเรามีการสำรวจเจเนอเรชันของคนในองค์กร โดยสมมติฐานเดิมบางคนอาจคิดว่าจะมีคนในเจนเอ็กซ์เป็นส่วนมาก แต่พอผลสำรวจออกมาปรากฏว่ากลับเป็นเจนวาย ซ้ำยังมากกว่าเจนเอ็กซ์ถึง 3 เท่า และยิ่งหากมองไปในอนาคตอันใกล้ ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป คนในเจนแซดก็จะเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยแล้ว
       
        “วิถีชีวิตหรือแนวความคิดของคนต่างเจเนอเรชันใหม่ๆ ซึ่งกลายมาเป็นคนส่วนใหญ่ขององค์กรจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา เพราะเจเนอเรชันมีผลต่อมุมมองความคิด ดังนั้นเมื่อไลฟ์สไตล์คนส่วนใหญ่เปลี่ยน องค์กรก็อาจจะต้องมีสไตล์บางเรื่องที่เปลี่ยนไปด้วยไม่มากก็น้อย โจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรให้คนอยู่ร่วมได้อย่างกลมกลืน มีความสุข มีคุณภาพในการทำงาน และส่งเสริมให้ผสมผสานเป็นพลังสร้างสรรค์จากความสดใหม่และประสบการณ์ ซึ่งฟังก์ชันการตลาดฯ ส่วนภารกิจภายในองค์กรกำลังทำเรื่องเหล่านี้อยู่”

        อีกจังหวะก้าวของการขยายงาน
       
        จากการขยายงานทุกภาคส่วนของ “เครือธรรมนิติ” ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นที่ผ่านมา จนทำให้เติบโตอย่างมั่นคงมาในวันนี้ และด้วยศักยภาพที่มีอยู่ จึงทำให้องค์กรแห่งนี้ เตรียมพร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า และขยับฐานงานไปสู่การให้บริการแก่ลูกค้าต่างชาติมากขึ้น เพื่อแสดงศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยได้ภูมิใจกับสถาบันทางวิชาชีพของคนไทย
       
        “เราตั้งเป้าในเชิงท้าทายแบบนั้น และเตรียมความพร้อมด้วยการระดมความคิด ความรู้ เพื่อกำหนดแนวทางเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ทุกวันนี้กิจการวิชาชีพขนาดใหญ่และรองรับงานในระดับสากล โดยมากก็จะเป็นกิจการจากต่างชาติ ส่วนกิจการของคนไทยยังเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง จะมีที่ใหญ่บ้างก็ไม่มากนัก
       
        “เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นหนึ่งในกิจการวิชาการวิชาชีพของคนไทย ที่ตั้งเป้าจะพัฒนาตนเองเทียบเคียงไปกับผู้ให้บริการในระดับสากล เรามีความภูมิใจที่หลายๆ บริการที่เรามีปัจจุบันสามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการขนาดใหญ่ได้ อย่างเช่นงานบริการทางกฎหมาย บริการทางบัญชี และด้านการพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพ หรือในงานอย่างที่ผมพูดถึงการตรวจสอบภายใน ซึ่งผู้ประกอบการชาวไทยอาจมีไม่มากนัก แต่เราสามารถยกธุรกิจตัวนี้ให้ขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการลำดับต้นๆ ของเมืองไทยได้ในชั่วเวลาไม่นานนัก
       
        “เราเป็นบริษัทไทย เราจึงไม่ได้มองว่าการที่มีผู้ประกอบกิจการเช่นเดียวกับเรานั้นเป็นคู่แข่ง เราไปทั้งหมด เรามองว่าทุกคนเป็นพันธมิตรกันได้ ในเรื่องที่สามารถอำนวยประโยชน์และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างเช่นการเป็นกลุ่มสังคมของผู้ประกอบการทางวิชาชีพที่จะสร้างสรรค์พัฒนา อะไรบางอย่างให้แก่วิชาชีพของเราและสังคม หรือการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ในเชิงธุรกิจเราต่างก็ทำงานกันไป แต่ในเรื่องของการรวมตัวเพื่อการพัฒนาวิชาชีพเรามีความพร้อมที่จะร่วมมือและ ส่งเสริม นี่คือสิ่งที่เราปรารถนา
       
        “เรายังมีความดีใจและภูมิใจที่เรามีลูกค้าคนไทยนึกถึงเราเสมอ และเรายังตั้งเป้าไปสู่งานที่มีลักษณะสากลมากขึ้นด้วย ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางวิชาชีพที่กว้างขวางขึ้น ภาษา เทคโนโลยี บุคลิกภาพ วิสัยทัศน์ และทักษะอีกหลายอย่าง
       
        “นักกฎหมายที่เก่งจะต้องครบเครื่อง ทั้งด้วยความรู้ทางวิชาชีพ และนอกเหนือวิชาชีพ บุคลิก การวางตัว ทักษะการสื่อสารการแสดงความคิดเห็น ภาษาต่างประเทศที่ต้องลึกซึ้ง การใช้สำนวนโวหารที่คมคาย และที่สำคัญคือรักที่จะศึกษาเรื่องราวใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะเป็นวิชาชีพที่ต้องพบเจอเคสเจอเรื่องราวมากมาย ยกตัวอย่างเช่นถ้าทำคดีทางการแพทย์ ก็ต้องรักที่จะศึกษาเรื่องราวทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับงานด้วย สิ่งเหล่านี้มันส่งต่อให้เกิดความมั่นใจแก่ลูกค้า ซึ่งจะว่าไปนักกฎหมายก็มีส่วนคล้ายหมอในบางแง่มุม คนมาหาหมอเพราะเจ็บป่วย คนมาหานักกฎหมายส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้อนใจ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความพร้อมที่จะรักษาดูแลได้ คือมาถึงแล้วต้องรักษาที่ใจก่อน นี่คือทักษะที่เราต้องสร้างและพัฒนา ส่วนทางด้านวิชาชีพบัญชี จะต้องอาศัยความรู้ความสามารถของวิชาชีพที่อัปเดตอยู่ตลอดเวลา เพราะมันมีมาตรฐานทางวิชาชีพ กฎระเบียบ เงื่อนไข ข้อยกเว้นต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง แล้วการทำงานก็อยู่ภายในเงื่อนเวลาที่ถูกกำหนดขีดเส้นไว้ชัดเจน จึงต้องอาศัยเรื่องเทคโนโลยีที่จะทำให้การทำงานบัญชีของเรากับลูกค้า หรืองานกับคนทำงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อก่อนงานบัญชีปิดซองเอกสารแล้วส่งกันไปมา ปัจจุบันและอนาคตจะเริ่มเปลี่ยนไป เพราะเปลี่ยนตั้งแต่ระดับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ลดการใช้กระดาษและใช้ ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทน เราก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องเพื่อให้มีความพร้อมอยู่เสมอ
       
        “ฉะนั้น วันหน้าเราอยู่ตรงนี้ เราอาจจะให้บริการลูกค้าที่อยู่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมาส่งเอกสารกันบ่อยๆ มีเวลาที่จะได้มานั่งพูดคุยกันในประเด็นที่สำคัญและเป็นประโยชน์แก่ลูกค้า มากขึ้น หรือว่าเราอาจจะมีนักบัญชีที่ทำงานจากหลากหลายสถานที่มาทำงานให้เราก็ได้
       
        ส่วนกลุ่มงานที่สามคืองานวิชาการและสิ่งพิมพ์ ก็จะมีความเปลี่ยนแปลงที่เยอะเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าปัจจุบันคนค้นหาข้อมูลกันเอง ศึกษากันเองมากขึ้น ทั้งสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบ แสดงความเห็นเองได้ในสื่อสังคมออนไลน์ การเรียนการอ่านก็เหมือนกัน ในอดีตการเรียนคนต้องท่องตำรา ต้องเข้าคลาสเรียน แต่อนาคตยังไม่แน่ว่าวิธีการเช่นเดิมนี้จะยังเป็นวิธีการหาความรู้หลักอยู่ หรือไม่
       
        “แน่นอนว่า เดี๋ยวนี้คนเรียนรู้ผ่านดิจิตอลมากขึ้น จัดเป็นคู่แข่งที่แปลกใหม่ของแทบทุกประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม การปฏิวัติการเรียนรู้เกิดขึ้นทุกวัน ไม่แน่ว่าการเรียนรู้ในอนาคตอาจจะเป็นการดาวน์โหลดข้อมูลดิบตรงมาสมองได้เลย ซึ่งเราจะตีความผลกระทบต่างๆ เหล่านี้อย่างไร ปรับปรุงพัฒนาตัวเองยังไง เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีคู่แข่งที่เรียกว่าของฟรีเข้ามาเป็นทางเลือกในตลาด โดยรวมๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมการให้บริการและการจัดจำหน่ายที่เราต้อง ประเมินสภาพแวดล้อมและตนเองว่าจะต่อสู้แข่งขันยังไง อย่างเรื่องความรู้ มันเป็นการแข่งขันทางธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องแข่งกับนวัตกรรม และการคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อฉีกหนีออกไป
       
        “ในอนาคตอันใกล้ เราจะไม่พูดถึงอะไรที่ไกลตัวจนเกินไปนัก เทรนด์ของธุรกิจทุกวันนี้อาจต้องมองเชิงลึกและมีประสิทธิภาพก่อนเชิงกว้าง แต่ว่าก็ต้องขยายขอบเขตและปริมณฑลออกไปให้มากขึ้นด้วย เรามองว่าถ้าเราทำสิ่งที่เชี่ยวชาญหนึ่งเรื่องที่ให้บริการคนไทยแล้ว และพัฒนาสิ่งนั้นให้รองรับตลาดที่กว้างขึ้นได้ หาจุดแข็งในความเป็นสากลหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงมองหา จาก 60 ล้านคน เราจะไปถึงฐานคน 600 ล้านคนได้
       
        “ในระยะแรกที่เราจะทำ เราจะพัฒนาบริการบางอย่างที่เป็นข้อต่อหรือจุดเชื่อมต่องานให้แก่ธุรกิจ เพราะเรามองถึงลูกค้าเป็นหลักว่าอะไรจะเป็นบริการที่ตอบสนองงานและความ ต้องการของลูกค้าได้บ้าง ซึ่งในกระบวนการทำงานทั้งหลายมันเป็นปกติที่จะมีงานหลายอย่างและหลายส่วนงาน ที่ต่างต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ซึ่งก็มักจะมีรอยต่อที่ต้องใช้คนเข้ามาทำงานและก่อให้เกิดความยุ่งยาก เราจะอาศัยความเชี่ยวชาญในวิชาชีพและอาศัยเครื่องมือที่มี นำมาพัฒนาจุดเชื่อมต่อต่างๆให้มันเรียงร้อยต่อสนิทแน่นขึ้น เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ประกอบการสามารถทำงานได้ง่ายลดเวลาและต้นทุนในการ ทำงานลง และมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งเราได้ริเริ่มในบางโครงการเล็กๆ ขึ้นบ้างแล้วและจะค่อยๆปรากฏชัดเจนขึ้นต่อไป”

        เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
        ภาพ : ปัญจพัฒน์ เข็มราช
        ที่มา : https://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9600000033910