การขอคืนภาษีอากร ตอนที่ 1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

การขอคืนภาษีอากร
ตอนที่ 1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

สกาวบุญ คุณสุข
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

ในการเสียภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล อาจมีกรณีที่ผู้เสียภาษีได้เสียภาษีเกินไปกว่าที่ต้องเสีย หรือเสียไปโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ทั้งจากการชำระเอง หรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ดังนั้น กรมสรรพากรจึงมีมาตรการในการคืนภาษีอากรให้แก่ผู้บุคคลดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร โดยผู้เขียนได้สรุปหลักเกณฑ์ในการขอคืนภาษีเงินได้ตามมาตรา 63 และ 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

1. กรณีตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
     1.1 ผู้ที่มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้ตามมาตรา 63 มี 2 กรณี ได้แก่
        กรณี 1 เป็นผู้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี
        กรณี 2 เป็นผู้ที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งไว้แล้ว โดยไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี เช่น เป็นบุคคลธรรมดามีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินทุกประเภท (ตามมาตรา 40(1)-(8)) ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วไม่เกิน 120,000 บาท
     1.2 ระยะเวลาในการขอคืนภาษีเงินได้ของผู้มีสิทธิตามมาตรา 63 เป็นดังนี้
        – สำหรับกรณีที่ 1 ให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เช่น บริษัทจำกัด มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 – 31 ธันวาคม 2558 มีภาษีที่ถูกหักไว้เกิน เมื่อบริษัทจำกัดมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 68 บริษัทจำกัดดังกล่าวต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2562
        – สำหรับกรณีที่ 2 ให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีไว้ เช่น ในปี 2558 นาย ก. ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ นาย ก. ต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในวันที่ 31 มีนาคม 2562

2. กรณีตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
     การขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 27 ตรีนี้ เป็นการขอคืนภาษีอากรตามบททั่วไปแห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น สำหรับการขอคืนภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากมิใช่การขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 63 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีอากรสามารถยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรได้ตามมาตรานี้ เช่น กรณีได้เสียหรือนำส่งภาษีเงินได้ไว้เกิน เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการ หรือจากการประเมินภาษีเงินได้ของเจ้าพนักงานประเมิน หรือกรณีที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
     โดยการขอคืนภาษีอากรตามกรณีนี้ ให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่
     2.1 ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนได้ยื่นรายการ เมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือได้ยื่นรายการภายในเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ
     2.2 ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนได้อุทธรณ์การประเมินภาษี หรือฟ้องเป็นคดีในศาล และเป็นผลให้มีสิทธิขอคืนภาษี ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี

3. วิธีการขอคืนภาษีอากร
     3.1 ยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่อเจ้าพนักงานประเมิน ตามแบบแสดงรายการที่ยื่น เช่น ภ.ง.ด. 90, ภ.ง.ด. 91, ภ.ง.ด. 50, ภ.ง.ด. 52 และภ.ง.ด. 55 หรือ
     3.2 ยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามแบบ ค. 10
     ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีอาจดำเนินการยื่นขอคืนภาษีต่อสรรพากรโดยตรง หรือผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นของกรมสรรพากรก็ได้

     สำหรับการขอคืนภาษีอากรประเภทภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ จะมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ รวมถึงระยะเวลาในการขอคืนอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป