ด่วน!! หลักเกณฑ์ที่ธนาคารต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

ด่วน!! หลักเกณฑ์ที่ธนาคารต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

 

สกาวบุญ คุณสุข
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

 

ตามที่กรมสรรพากรมีมาตรการในการขยายฐานภาษี โดยการออกกฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชีของบุคคลแก่กรมสรรพากรแล้วนั้น

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 กรมสรรพากรได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 355 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรายงานข้อมูล สรุปได้ดังนี้

1. ลักษณะของธุรกรรม

มี 2 ลักษณะ ได้แก่
1. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อปี
2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง
และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี

2. เกณฑ์การนับ

นับจำนวนครั้งและจำนวนเงินทุกครั้งที่ได้มีการฝากหรือรับโอนผ่านบัญชีของบุคคลผู้เป็นเจ้าของบัญชี กรณีกระทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็นับเช่นเดียวกัน

3. ผู้ที่มีหน้าที่รายงาน

1. สถาบันการเงินของรัฐและเอกชน เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน เป็นต้น
2. ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Money ตามกฎหมายว่าด้วยระบบชำระเงิน เช่น TrueMoney Rabbit Line Pay เป็นต้น
ตัวอย่าง: นาย A มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีของธนาคาร B 5 บัญชีมีการฝากและรับโอนผ่านบัญชีของนาย A ทั้ง 5 บัญชีรวมกัน (1) ตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือ (2) ตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไปและมียอดรวมในการฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ดังนั้น ธนาคาร B มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลของนาย A ให้แก่กรมกสรรพากร

4. ข้อมูลที่จะถูกรายงานต่อกรมสรรพากร

1. เลขประจำตัวประชาชน เลขที่หนังสือเดินทาง เลขทะเบียนนิติบุคคลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรหรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการระบุตัวบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
2. ชื่อและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา ชื่อของห้างหุ้นส่วนสามัญชื่อของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือชื่อนิติบุคคล
3. จำนวนครั้งของการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน
4. จำนวนเงินที่ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน
5. เลขบัญชีทุกบัญชีที่มีการฝากหรือรับโอนเงิน

5. การรายงาน

ผู้มีหน้าที่รายงานต้องจัดทำรายงานภายในเดือนมีนาคมของทุกปี โดยรายงานข้อมูลซึ่งอยู่ในความครอบครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ในปีที่ล่วงมาแล้ว และให้มีการรายงานครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยรายงานข้อมูลเฉพาะธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24-31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สรุป

กฎหมายฉบับนี้เพียงกำหนดให้ผู้มีหน้าที่ เช่น ธนาคาร ต้องส่งข้อมูลของบุคคลที่เข้าตามหลักเกณฑ์ให้แก่กรมสรรพากร ส่วนบุคคลทั่วไปแล้วควรต้องรู้ว่าตนเองอยู่ในเกณฑ์ของบุคคลผู้มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่จะถูกส่งข้อมูลไปยังกรมสรรพากรหรือไม่ เพื่อเตรียมพร้อมและวางแผนในการจัดการเงินที่อยู่ในบัญชีธนาคารหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป และที่สำคัญหากปรากฏว่ามีรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท อาจต้องถูกบังคับให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย